ส่องผลประกอบการครึ่งปีแรก ปี 2564 ของปั๊มน้ำมัน 3 เจ้าใหญ่ ปตท. พีที และบางจาก ได้กำไรมากน้อยแค่ไหน ในปีที่โควิด-19 ระบาดหนัก และการเดินทางของคนลดลง
สถานการณ์โควิด-19 ในปี 2564 มีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา คนบางส่วนจำเป็นต้องลดการเดินทางไปทำงาน Brand Inside ชวนส่องงบการเงินของ 3 ปั๊มน้ำมันเจ้าใหญ่ ได้แก่ ปตท. พีที และบางจาก ว่ามีรายได้ และกำไรมากน้อยแค่ไหน ในปีที่โควิด-19 ระบาดหนักอีกครั้ง
PTTOR กวาดรายได้ 2.37 แสนล้าน กำไร 7.2 พันล้านบาท
เริ่มกันที่เจ้าแรก คือ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ PTTOR ผู้ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นปั๊มน้ำมันเบอร์ 1 ของไทย ที่สามารถสร้างรายได้จากการขาย และการบริการ 237,168 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.6% เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก ของปี 2563 ที่สร้างรายได้ 214,454 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิทำได้ 7,228 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 2,418 ล้านบาท เมื่อช่วงครึ่งปีแรก ของปี 2563
สัดส่วนรายได้ 237,168 ล้านบาท ของ PTTOR นี้ แบ่งเป็น รายได้จากกลุ่มธุรกิจน้ำมันมากที่สุด ในสัดส่วน 91% กลุ่มธุรกิจ Non-oil 3.4% กลุ่มธุรกิจต่างประเทศ 5.4% และอื่นๆ อีก 0.2%
สำหรับกลุ่มธุรกิจน้ำมัน ซึ่งเป็นรายได้หลัก PTTOR มีจำนวนสถานีบริการน้ำมันทั้งสิ้น 2,027 แห่ง เพิ่มขึ้น 84 แห่ง เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (รวมสถานีบริการน้ำมันทั้งในไทย และเมียนมา) ส่วนสถานีบริการ LPG มีทั้งสิ้น 214 แห่ง (ไม่รวมสถานีบริการ LPG ที่ตั้งอยู่ที่เดียวกับสถานีบริการน้ำมัน) ลดลง 23 แห่ง เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
น้ำมันอากาศยาน สัดส่วนการขายลดลงมากที่สุด
ในช่วงครึ่งปีแรก 2564 PTTOR ขายน้ำมันไปได้ทั้งสิ้น 11,452 ล้านลิตร ลดลง 5% เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยสัดส่วนการขายหากแยกเป็นผลิตภัณฑ์จะพบว่า น้ำมันอากาศยาน มีสัดส่วนการขายที่ลดลงมากที่ที่สุด จากเดิม 15.8% ในปีที่แล้ว เหลือเพียง 7.2% ในปีนี้
ส่วนน้ำมันดีเซลมีสัดส่วนการขายที่เพิ่มขึ้นจาก 40.2% เป็น 46.3% และน้ำมันเบนซินมีสัดส่วนการขายที่เพิ่มขึ้นจาก 21.4% เป็น 24.7%
กำไรสุทธิของ PTTOR ที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ภาครัฐมีการบังคับใช้มาตรการผ่อนคลายมากกว่าเมื่อเทียบกับเมื่อปี 2563 ทำให้ภาพรวมผลการดำเนินงานกลุ่มธุรกิจน้ำมันและ กลุ่มธุรกิจ Non-Oil ดีขึ้น
อย่างไรก็ตามหากพิจารณาเฉพาะไตรมาส 2 ปี 2564 จะพบว่า PTTOR มีรายได้จากการขายและบริการ 118,708 ล้านบาท ใกล้เคียงกับไตรมาส 1 ปี 2564 ส่วนกำไรสุทธิ ทำได้ 3,225 ล้านบาท ลดลงจาก 4,003 ล้านบาทในไตรมาส 1 ปี 2563 หรือคิดเป็นสัดส่วนที่ลดลงกว่า 19.4%
มาตรการควบคุมโควิด-19 กระทบธุรกิจน้ำมัน
ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2564 กลุ่มธุรกิจน้ำมันได้รับผลกระทบจาก มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งจำกัดเฉพาะในบางจังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด เป็นปัจจัยกดดัน ให้ปริมาณขายรวมลดลง 6.2% ในเกือบทุกผลิตภัณฑ์ เช่น น้ำมันเบนซิน ดีเซล LPG เป็นต้น เช่นเดียวกับกลุ่มธุรกิจ Non-Oil ที่รายได้ปรับตัว ลดลงตามความต้องการของผู้บริโภคที่ลดลง
PTG รายได้ 6.5 หมื่นล้าน กำไร 1,032 ล้านบาท
ต่อกันที่เจ้าที่ 2 ซึ่งนับว่าเป็นเบอร์ 2 ของปั๊มน้ำมันในประเทศไทย อย่าง บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG ที่ช่วงครึ่งปีแรก ของปี 2564 ทำรายได้ 65,573 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2563 ที่สร้างรายได้ 51,378 ล้านบาท หรือคิดเป็น 27.6%
ส่วนกำไรสุทธิทำได้ 1,032 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ซึ่งทำกำไรสุทธิได้ราว 717 ล้านบาท
ด้านสถานีบริการน้ำมันของ PTG ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 1,902 แห่ง และสถานีบริการ LPG อีก 212 แห่ง และในช่วงครึ่งปีแรกนี้ PTG ขายน้ำมันไปได้แล้ว 2,626 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 8.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้จากธุรกิจน้ำมันคิดเป็นสัดส่วน 96.2% ของรายได้จากการขายและบริการทั้งหมด
ตัวเลขรายได้ 65,573 ล้านบาท ในช่วงครึ่งปีแรก ของปี 2564 ที่เพิ่มขึ้น 27.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว เป็นเพราะรายได้ธุรกิจน้ำมันเพิ่มขึ้น 24.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า จากราคาขายของน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 17.5% รวมถึงปริมาณการขายน้ำมันในช่วงครึ่งปีแรก ของปี 2564 ที่เพิ่มขึ้น 8.4% ตามจำนวนของสถานีบริการนำ้มันที่เพิ่มขึ้น
ส่วนธุรกิจ Non-oil คือธุรกิจ LPG ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ธุรกิจการให้บริการพื้นที่เชิงพาณิชย์ และธุรกิจอื่นๆ เพิ่มขึ้น 33.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จากการขยายสาขาของธุรกิจในกลุ่มนี้ที่มีอยู่ทั้งสิ้น 1,008 สาขา
อย่างไรก็ตามหากพิจารณาเฉพาะไตรมาส 2 ปี 2564 จะพบว่า รายได้จากการขายและการให้บริการ อยู่ที่ 33,310 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่อย่างไรก็ตาม เป็นการเติบโตที่ต่ำกว่าเป้าหมายราว 8-12% โดยมีสาเหตุหลักจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มกลับมามีความรุนแรงนับตั้งแต่เดือนเมษายน
บางจาก รายได้ 8.5 หมื่นล้าน กำไร 4,048 ล้านบาท
ด้าน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีรายได้รวมในช่วงครึ่งปีแรก ของปี 2564 ที่ 85,006 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีรายได้ 69,665 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น 22% ด้านกำไรทำสุทธิ ในช่วงครึ่งปีแรก ของปี 2564 อยู่ที่ 4,048 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 162% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ซึ่งขาดทุนไป 6,571 ล้านบาท
ร้านกาแฟ Inthanin เติบโตรับ Food Delivery
ด้านสถานีบริการน้ำมันของบางจาก ปัจจุบันมีอยู่ทั้งสิ้น 1,247 แห่ง เช่นเดียวกันกับกลุ่มธุรกิจ Non-oil ที่ปัจจุบันบางจากมีร้านกาแฟ Inthanin รวมทั้งสิ้น 711 สาขา ซึ่งในช่วงไตรมาส 2 ปี 2564 ที่ผ่านมา ยอดขายผ่าน Food Delivery เพิ่มขึ้น 90% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เช่นเดียวกับจำนวนแก้วที่ขายต่อวันก็เพิ่มขึ้นด้วยที่ 7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
สำหรับปริมาณการจำหน่ายน้ำมันของบางจาก ในช่วงครึ่งปีแรก ของปี 2564 อยู่ที่ 2,422 ล้านลิตร ลดลง 6% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรก ของปี 2563 ที่จำหน่ายน้ำมันได้ 2,569 ล้านลิตร
น้ำมันอากาศยานลดลงมากที่สุด
โดยสัดส่วนการจำหน่ายน้ำมัน แยกตามประเภท จะพบว่าน้ำมันแก๊สโซฮอล์ จำหน่ายได้ในปริมาณใกล้เคียงเดิม อยู่ที่ 736 ล้านลิตร ลดลง 0.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ในขณะที่น้ำมันเครื่องบิน เป็นประเภทน้ำมันที่มีปริมาณการจำหน่ายลดลงมากที่สุดถึง 69% จาก 223 ล้านลิตรในช่วงครึ่งปีแรก ของปี 2563 เป็น 70 ล้านลิตร ในช่วงครึ่งปีแรก ของปี 2564
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา