ปตท. เดินหน้าลุยธุรกิจรักโลก: รถยนต์ไฟฟ้า รีไซเคิลพลาสติก และพลังงานหมุนเวียน

ปี 2021 ปตท. ประกาศลงทุนเงินกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.33 แสนล้านบาท) ในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) รวมถึงการซื้อธุรกิจปิโตรเคมีในยุโรปเพิ่ม และลงทุนในโปรเจคพลังงานหมุนเวียนต่างๆ ในเอเชีย พร้อมวางแผนลงทุนอีกมากมายในอนาคต

ปรับเปลี่ยนทิศทางการลงทุน

อรวดี โพธิสาโร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กรของปตท. กล่าวว่า “เครือปตท. จำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และวิสัยทัศน์สำหรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคตให้สอดคล้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น” โดยเสริมว่า “ภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (climate change) จะบังคับให้ภาครัฐต้องออกนโยบายในการลดก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจเชื้อเพลิงฟอสซิล”

นอกจากการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ทำธุรกิจอยู่แล้วถึง 7.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.57 แสนล้านบาท) เครือปตท. ก็เริ่มลงทุนในต่างประเทศเพิ่ม เช่น ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในอินเดียและเวียดนาม รวมถึงการลงทุนด้านการผลิตไฟฟ้าในยุโรป

อีกทั้ง ยังลงทุนเงินกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6.7 หมื่นล้านบาท) ในการเป็นหุ้นส่วนบริษัทพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติไทยอีกด้วย ซึ่งถือเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ครั้งแรกของปตท. ในอุตสาหกรรมนี้

โดยรวมแล้ว ปริมาณการลงทุนในต่างประเทศของปตท. ในปี 2021 ถึงเดือนก.ค. ที่ผ่านมา ถือว่ามากที่สุดในประวัติการณ์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ปตท. หันมาลงทุนครั้งใหญ่ในธุรกิจอื่นๆ ในต่างประเทศนอกจากธุรกิจหลักที่เป็นการผลิตเชื้อเพลิง

ก่อนหน้านี้ ปตท. มักจะลงทุนในธุรกิจต่างประเทศผ่าน บริษัท PTTEP หรือ ปตท.สผ. ในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตของประเทศแคนาดา ไปจนถึงโมซัมบิก และออสเตรเลีย

สัดส่วนการลงทุนในอนาคต

อรวดี อธิบายว่าทางปตท. จะมีการลงทุนด้าน “พลังงานสะอาดแห่งอนาคต” อีกมากในอนาคต ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ รวมถึงการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน การจัดเก็บพลังงาน การค้าขายพลังงาน และรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

เครือปตท. เป็นอีกหนึ่งผู้ผลิตเชื้อเพลิงรายใหญ่ระดับโลก เช่นเดียวกันกับ Royal Dutch Shell, Total SA และ Eni SpA ที่ไล่ลงทุนในธุรกิจ “สีเขียว” กัน หลังจากผู้ถือหุ้นและนักลงทุนเพิ่มความกดดันให้เลิกพัฒนาธุรกิจเชื้อเพลิงฟอสซิล

ทั้งสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาได้ตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutral) ให้ได้ภายในปี 2050 โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดนตั้งเป้าว่าภายในปี 2030 รถยนต์ที่จำหน่ายในสหรัฐจำนวน 50% ต้องเป็นรถประเภทไฟฟ้า ไฮบริด หรือ เซลล์ไฮโดรเจน ให้ได้

อนาคตของพลาสติก

พลาสติกที่รีไซเคิลได้เป็นหนึ่งในช่องทางการหารายได้ของผู้ผลิตน้ำมัน ซึ่ง PTT Global ได้จัดตั้งบริษัทค้าร่วมกับผู้ผลิตเรซิ่นพลาสติกไทยไปในปี 2019 ซึ่งมีรายได้เติบโตกว่า 56%ใน Q2 ของปี 2021 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งมาจากราคาของสารปิโตรเคมีที่สูงขึ้น

ในฐานะรัฐวิสาหกิจรายหนึ่ง ปตท. ต้องทำตามนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG (bio-circular-green economic model) ของรัฐบาลไทย ซึ่งกล่าวถึงการรีไซเคิลและรียูส การผลิตทรัพยากรชีวภาพที่หมุนเวียนได้ เช่น เชื้อเพลิงชีวภาพ รวมไปถึงการหาสมดุลระหว่างเป้าหมายทางเศรษฐกิจและการรักษาสภาพแวดล้อม

ณภัทร จันทรเสรีกุล นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) อธิบายว่า “การลงทุนในพลังงานสะอาดคาดว่าจะได้กำไรไม่สูงนัก แต่ปตท. จำเป็นต้องทำตามเทรนด์โลกนี้ แต่นักลงทุนเองก็กังวลเพราะปตท. ก็ไม่เคยได้กำไรสูงจากการลงทุนในต่างประเทศ”

ถึงแม้ว่าทางเครือปตท. จะเริ่มลงทุนในอุตสาหกรรมอื่นๆ นอกจากธุรกิจน้ำมัน แต่งบประมาณการลงทุนสำหรับปี 2021-25 ที่มีมูลค่าที่ 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 9.34 แสนล้านบาท) ก็ยังแสดงให้เห็นว่ากว่า 50% จะลงทุนในการขุดเจาะและสำรวจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอยู่ โดยอีก 30% จะนำไปพัฒนาธุรกิจพลังงานสะอาดและอุตสาหกรรมอื่นๆ ต่อไป อีก 14% จะเป็นการลงทุนในเครือข่ายปตท. ที่มีอยู่แล้ว เช่น การตรวจสอบท่อส่งน้ำมัน และอีก 6% ที่เหลือจะเป็นการลงทุนในพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และลม เป็นต้น

สรุป

ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะอากาศของโลก การลดผลกระทบจากก๊าซเรือนกระจกจึงสำคัญมากขึ้นทุกวัน โดยธุรกิจเชื้อเพลิงฟอสซิลจะต้องลดความสำคัญลงในที่สุด น่าจับตามองว่าปตท. และผู้ผลิตน้ำมันรายอื่นๆ จะลงทุนในธุรกิจใดบ้างในอนาคต

ที่มา – Bloomberg

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา