Huawei ในครึ่งปีแรกของปี 2021 รายได้ลดลงสูงสุดเป็นประวัติการณ์ รายได้หดหาย 29% เทียบกับปีที่ผ่านมา แล้วอะไรคือสาเหตุทำให้ Huawei มาถึงจุดนี้?
ครึ่งแรกของปี 2021: Huawei สูญรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์
สิ่งที่น่าสนใจจากรายงานผลประกอบการช่วงครึ่งปีแรกของปี 2021 ของ Huawei คือ บริษัทมีรายได้ในช่วงครึ่งปีแรกลดลงสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ลดลงกว่า 29% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยบริษัทมีรายได้ประมาณ 4.95 หมื่นล้านดอลลาร์ (1.65 ล้านล้านบาท)
แต่บริษัทยังมีกำไรสุทธิในช่วงครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้น 9.8% ดีกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีรายได้เพิ่มขึ้น 9.2%
ธุรกิจอุปกรณ์สื่อสารของ Huawei ถูกกระทบมากสุด
หากลองพิจารณาลงไปดูในรายละเอียด ธุรกิจเครื่องมือสื่อสารและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ถูกกระทบหนักที่สุด รายได้ในช่วงครึ่งปีแรกลดลงถึง 47% คิดเป็นความเสียหายกว่า 1.85 หมื่นล้านดอลลาร์ (6.18 แสนล้านบาท) ทั้งนี้เป็นเพราะยอดขายสมาร์ทโฟนซึ่งเดิมทีคิดเป็นครึ่งหนึ่งของรายได้บริษัททั้งหมดลดลงอย่างมาก
ธุรกิจอุปกรณ์โทรคมนาคม ซึ่งเป็นอีกเสาหลักหนึ่งของ Huawei ก็มีรายได้ลดลงกว่า 14% เพราะการพัฒนาและนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ในประเทศจีนเติบโตช้าลง
ธุรกิจให้บริการโซลูชันสำหรับกิจการ เช่น ให้บริการดิจิทัลสำหรับเมืองอัจฉริยะ บริการทางการเงิน การขนส่ง พลังงาน การผลิต และการศึกษา เป็นธุรกิจหนึ่งเดียวของ Huawei ที่มีรายได้เติบโตเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
Huawei ระบุชัดว่าการที่รายได้ลดลงในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2021 มีสาเหตุจาก “ปัจจัยภายนอก” ที่ทำให้ธุรกิจเครื่องมือสื่อสารและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของตนต้องหยุดชะงัก จากที่ครั้งหนึ่ง Huawei เคยมีฐานะผู้ผลิตสมาร์ทโฟนที่ใหญ่ที่สุดในโลก มาวันนี้ Huawei ไม่ได้ติดแม้แต่ Top 5
โฆษกของ Huawei ระบุกับทาง Nikkei Asia ชัดเจนว่า “การกดขี่ที่ไม่เป็นธรรมของสหรัฐสร้างผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะในส่วนของสมาร์ทโฟน”
สงครามการค้าคือคำตอบของสมการ
นโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐต่อจีนคือสิ่งที่ทำให้ Huawei มีรายได้ลดลงมหาศาล เพราะทำให้เกิดการระงับการส่งออกของสหรัฐฯ และตัดขาด Huawei จากสายพานการผลิต
Huawei ไม่สามารถซื้อสินค้าจากซัพพลายเออร์หลักๆ ที่คอยป้อนส่วนประกอบสำคัญสำหรับโทรศัพท์ 5G เช่น AMD, MediaTek, Microsoft, Qualcomm, Samsung, SK Hynix และ Sony ได้ ซึ่งแน่นอนว่าทำให้การผลิตสินค้ามีข้อจำกัดมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและสินค้าใหม่ๆ เป็นไปได้ยากขึ้นอีกด้วย
ที่สำคัญ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ยังโอบรับนโยบายแบบแข็งกร้าวต่อจีนต่อจากโดนัลด์ ทรัมป์ มีการผ่านนโยบายและร่างกฎหมายสำคัญหลายฉบับเพื่อกีดกันและแข่งขันกับจีน เช่น
- บัญชีดำกระทรวงพาณิชย์ กีดกันการนำเข้า-ส่งออก สินค้าเทคโนโลยีกับกลุ่มประเทศเป้าหมาย
- รายชื่อ NS-CMIC กีดกันการระดมทุนของบริษัทจีนในสหรัฐ
- กฎหมายนวัตกรรมและการแข่งขัน เพิ่มบทบาทสนับสนุนของภาครัฐในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์สำคัญ ผลักดันบริษัทสหรัฐสู้ศึกในเวทีโลก
ที่มา – Nikkei Asia
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา