จากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี ขณะที่ 2 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี มาฟังเสียงจากนักวิเคราะห์กันว่า การคงอัตราดอกเบี้ยไว้ มีผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจไทยที่กำลังชะลอตัวอยู่ในเวลานี้
คงอัตราดอกเบี้ยตามคาด ถึงลดก็ช่วยไม่มาก
ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center หรือ EIC บอกว่า การคงอัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามที่ EIC คาดการณ์ไว้ เพราะสถานการณ์ตอนนี้มาตรการทางการเงินไม่ใช่เครื่องมือหลักที่จะช่วยได้ เนื่องจากปัญหาเกิดจากการระบาดของโควิด และการล็อกดาวน์ รายได้ลดลง ความเชื่อมั่นตกต่ำ ทางออกคือต้องเสริมความเชื่อมั่นและชดเชยรายได้
ต่อให้ลดดอกเบี้ย ผลดีส่วนใหญ่ออกมาในรูปลดภาระหนี้ของลูกหนี้ปัจจุบัน ช่วยการปรับโครงสร้างหนี้ ให้เบาลงได้บ้าง แต่ก็ช่วยได้ไม่เยอะ เพราะดอกเบี้ย 0.5% ก็ถือว่าต่ำอยู่แล้ว
แนวทางทางที่ EIC มองต้องใช้นโยบายการคลัง คือ อัดฉีดเม็ดเงินเพื่อชดเชยรายได้ กระจายสภาพคล่องให้ทั่วถึงมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีการให้สินเชื่อกับ SME ไปกว่า 27,000 รายเป็นเงินกว่า 8 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับจำนวน SME กว่า 3 ล้านราย หรือที่จดทะเบียนบริษัทกว่า 7 แสนราย ก็ถือว่าน้อยมาก
ภาครัฐต้องช่วยลดความเสี่ยง หนุนการปล่อยสินเชื่อ กระจายสภาพคล่อง
ยรรยง บอกว่า ปัจจุบันมีกลไกของ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. แต่วงเงินค้ำประกัน 40% ถือว่ายังน้อยไป และค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 1.75% ก็ยังสูงไปในสถานการณ์นี้ ซึ่งใช้กลไกปกติไม่ได้ โดยอาจพิจารณาเพิ่มเป็น 50-60% เพื่อให้เม็ดเงินกระจายออกไปเร็วที่สุด ตอนนี้สภาพคล่องของ SME น้อยลงเรื่อยๆ ถ้าไม่รีบทำ จะมีการปลดคนงานเพิ่มขึ้น มีการปิดกิจการมากขึ้น และจะฟื้นตัวในอนาคตได้ช้าและยาก
สำหรับโอกาสในการลดดอกเบี้ย EIC คาดว่ามีโอกาส 30% ที่จะเห็นการลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปีนี้ เหลือ 0.25% แต่จะไม่ลดลงไปเหลือ 0% แน่นอน เพราะมีผลกระทบเชิงจิตวิทยาที่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น แต่มีโอกาสมากกว่าที่จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 0.5%
อีกส่วนหนึ่งที่อาจช่วยได้คือ การคงอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟู FIDF ไว้ที่ 0.23% จากเดิม 0.46% ซึ่งจะครบกำหนดที่มีการปรับลดแล้ว เชื่อว่าน่าจะขยายเวลาการปรับลดต่อไปหรืออาจลดลงได้อีก เพื่อลดต้นทุนและธนาคารก็สามารถลดดอกเบี้ยให้ลูกค้าได้อีกทางหนึ่ง
KKP มองควรลด เพราะเศรษฐกิจไปต่อลำบาก
พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บมจ.หลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า การที่กนง. ออกประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ต่อปี ไม่ลดลงไปกว่านี้ เพราะหากลดอาจไม่กระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก ผ่านการที่ปัญหาปัจจุบันมาจากการเกิดโรคระบาด ไม่ได้เกิดจากการไม่บริโภค
และอาจใช้มาตรการที่ตรงจุดกว่า เช่นการพยายามกระจายสภาพคล่องที่ผู้บริโภค หรือบางธุรกิจเข้าไม่ถึง เช่นซอฟต์โลนรูปแบบต่าง ๆ เพราะปัญหาไม่ใช่เรื่องดอกเบี้ย รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทยอาจกังวลเรื่องเสถียรภาพระบบการเงิน เพราะถ้ามันต่ำไปมากกว่านี้ จะเกิดเหตุการณ์ Search for Yield ซึ่งกลายเป็นตลาดการเงินได้ประโยชน์แทน
“แบงค์ชาติพยายามคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาตลอดในแต่เวฟที่โรค COVID-19 แต่ปัจจุบันมติกนง. เริ่มเสียงแตกแล้ว แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์มันอาจรุนแรงกว่าเดิม ดังนั้นคณะกรรมการก็ต้องถกเถียงกันว่า หากลดลง ต้นทุน และประโยชน์ที่ได้มาอะไรมันมีค่าใช้จ่ายเยอะกว่ากัน ซึ่งผมเองมองว่าควรลดลงมาได้แล้ว”
ทั้งนี้ KKP มองว่าหากดอกเบี้ยนโยบายลดลงจริง ๆ น่าจะเหลือ 0.25% ต่อปี ไม่ไปถึงขนาด 0% หรือติดลบเหมือนกับประเทศในกลุ่มยุโรป และญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจทำให้ดอกเบี้ยเงินฝาก, เงินกู้ และอื่น ๆ ลดลงมาด้วย ซึ่งตัวเงินกู้เองอาจช่วยคนกู้เดิมได้ แต่คนกู้ใหม่บางกลุ่มอาจลำบากกว่าเดิม เช่น เมื่อปรับลดอัตราดอกเบี้ย ธนาคารอาจลดเพดานความเสี่ยงลงมาด้วย กล่าวคือ หากผู้กู้มีความเสี่ยง 15 จุดในดอกเบี้ยเดิมแล้วยังกู้ได้ แต่เมื่อปรับอัตราดอกเบี้ย ทำให้เพดานความเสี่ยงลดลงมา และบุคคลนั้นจะกู้ไม่ได้ทันที
คงดอกเบี้ยตามสถานการณ์ เอกชนอาจมองว่าช้า
ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด บอกว่า โอกาสลดดอกเบี้ยของ ธปท.เพิ่มขึ้นตามเหตุการณ์ที่ยืดเยื้อ โดยแม้ว่าที่ผ่านมา ธปท.จะมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ตามลักษณะปัญหาเป็นการเฉพาะหลากหลายมาตรการ แต่เป็นไปได้ว่าในสายตาของภาคเอกชนที่เผชิญกับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหนัก ก็อาจจะมองว่า ธปท ดำเนินการช้าเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงสถานการณ์ที่แย่กว่าคาดและประมาณการเศรษฐกิจที่ปรับลดลงมาหลายรอบ
อย่างไรก็ตาม มีโอกาสที่ในปีนี้จะเห็น ธปท. ประกาศลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งที่เหลือของปีนี้ โดยลงมาที่ 0.25% ทั้งนี้ถ้าสถานการณ์ผู้ติดเชื้อยังสูง และการกระจายวัคซีนยังใช้เวลา แต่หากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อเริ่มทรงตัวถึงลดลงภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า ธปท.ก็น่าจะเลือกคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เท่าเดิมที่ 0.5%
หากมีการปรับลดดอกเบี้ย จะมีผลกับดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ทั่วไปลดลงในอัตราประมาณ 0.125-0.25% ขึ้นกับประเภทดอกเบี้ย โดยจะลดลงตามในทันทีหรือไม่ ขึ้นกับการตัดสินใจของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา