ธุรกิจบัตรเครดิตได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตโควิด-19 เพราะผู้คนต่างต้องลดการใช้จ่ายลงในภาวะแบบนี้ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ในช่วงครึ่งปีแรกก็โดนกระทบไม่น้อยเช่นกัน รายได้รวมลดลงแม้จะยังสามารถทำกำไรได้เพิ่มขึ้น ที่สำคัญสมาชิกบัตรเครดิตก็ลดลงต้องหันไปจัดกลยุทธ์ดึงดูดผู้ถือบัตรเพิ่มเติม
KTC กำไร 3 พันล้าน แต่รายได้ลดลง
ปี 2564 ผ่านไปครึ่งทาง KTC สามารถทำกำไรได้กว่า 3,352 ล้านบาท เติบโตถึง 20.1% เทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน โดยมีรายรับสุทธิ 10,798 ล้านบาท โดยมีบัตรเครดิตเป็นที่ธุรกิจที่มีสัดส่วนในรายรับสูงที่สุด
- บัตรเครดิต 58.1%
- สินเชื่อส่วนบุคคล 40.5%
- สินเชื่อลีสซิ่ง 1.4%
สิ่งที่น่าสังเกตคือแม้จะสามารถทำกำไรได้เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 แต่รายรับสุทธิกลับลดลง -2.5% และเมื่อเจาะดูในรายธุรกิจจะพบว่าธุรกิจบัตรเครดิตมีรายได้ลดลงพอสมควร คือสามารถรายได้น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่ -3.8% ส่วนธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลก็ลดลง -9.2%
สาเหตุของเรื่องนี้คือ ค่าใช้จ่ายรวมที่ลดลง KTC สามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายโดยรวมให้สามารถต่ำลงเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2563 ในหลายด้าน เช่น
- ค่าใช้จ่ายด้านการตลาดลดลง -19%
- ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากบัตรเครดิตลดลง -34%
- ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากสินเชื่อส่วนบุคคลลดลง -28%
เห็นได้ชัด ธุรกิจบัตรเครดิตซึ่งเป็นธุรกิจหลักของ KTC ยังมีข้อจำกัดในการทำกำไร สิ่งที่ช่วยหนุนเสริม KTC ให้เติบโตอีกแรง คือการที่ KTC สามารถจำกัดค่าใช้จ่ายรวมๆ ลงมาได้ถึง -12.9% เหลือ 6,612 ล้านบาท
ทางวิบากของธุรกิจบัตรเครดิต KTC
จำนวนบัตรเครดิต KTC เติบโตลดลงตั้งแต่โควิด-19 เริ่มระบาด ในปี 2562 ยอดสมาชิกบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นถึง 5.2% เทียบกับปีที่ผ่านมา แต่หลังจากนั้นยอดดังกล่าวก็ลดลงครึ่งหนึ่งในปี 2563 เหลือโต 2.6% และในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ก็ยังมีปัญหา จำนวนบัตรเครดิตลดลงถึง -2.3% (เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว)
- ครึ่งปีแรกของปี 2563 ฐานสมาชิกบัตรเครดิต KTC มีจำนวน 2.61 ล้านใบ
- ครึ่งปีแรกของปี 2564 ฐานสมาชิกบัตรเครดิต KTC มีจำนวน 2.54 ล้านใบ
ที่สำคัญจำนวนสมาชิกบัตรเครดิตในช่วง 5 เดือนแรกของ KTC ลดลง -2.1% เทียบกับตัวเลขของอุตสาหกรรมนี้ในภาพรวมที่ยังเติบโตได้ที่ 2.3%
ตรงข้ามกับจำนวนบัตรเครดิตที่ลดลง ยอดรวมการใช้จ่ายผ่านบัตรยังเติบโตอยู่แต่ก็อยู่ในเกณฑ์ต้องจับตาดู เพราะยอดรวมใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 เพิ่มขึ้นจากปี 2563 เพียงเล็กน้อย คือ จาก 90,613 ล้านบาท เป็น 94,160 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 3.9% แต่นี่คือการเพิ่มจากยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรในปี 2563 ลดลงจากปี 2562 ไปเยอะมากถึง -7.7% จึงไม่แปลกใจที่ยอดในปี 2564 จะฟื้นตัวกลับมาได้บ้าง
ในการประกาศผลประกอบการช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ทาง KTC จึงมีการลดเป้ายอดใช้จ่ายผ่านบัตรของทั้งปี 2564 ลงมาเหลือ 5% จากเดิมที่เคยตั้งเป้าไว้ถึง 8%
กลยุทธ์สู้กลับของ KTC ในช่วงครึ่งหลัง
หลังจากนี้ KTC จะพุ่งเป้าทำการตลาดกับธุรกิจพันธมิตรที่มียอดใช้จ่ายผ่านบัตรสูงในช่วงโควิด-19 เพื่อสามารถมอบสิทธิประโยชน์ที่ตรงใจสมาชิกบัตรเครดิต KTC มากขึ้น ตัวอย่างร้านค้าในหมวดนี้ เช่น ประกันภัย ชอปปิ้งออนไลน์ ซูเปอร์มาร์เก็ต โรงพยาบาล และเฟอร์นิเจอร์
นางพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “สำหรับในปี 2564 ด้วยภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศชะลอตัว KTC จึงมุ่งเน้นการพัฒนาระบบ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีของสมาชิก ประสานงานกับพันธมิตรธุรกิจอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมเมื่อเศรษฐกิจกลับมาแข็งแรงขึ้น โดยคาดว่าสิ้นปียอดรวมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต KTC ยังมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง”
- KTC กางแผนเข้มรุกสินเชื่อบุคคล เปิดตัวสินเชื่อมีวัตถุประสงค์
- กรุงไทยผนึกกำลังบริษัทในเครือดึง KTC เข้าถือหุ้นใหญ่ ต่อยอดธุรกิจลีสซิ่ง
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา