ประเมินคลัสเตอร์โรงงาน: ใช้แรงงานเยอะ แต่ฉีดวัคซีนช้า กระทบส่งออกไทย หันไปพึ่งประเทศอื่นแทน

หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในไทยในระลอก 4 ทำเอาโรงงานหลายแห่ง หลายอุตสากรรมได้รับผลกระทบ มีตั้งแต่การสั่งปิดโรงงานของ Toyota ในประเทศไทย เนื่องได้จากรับผลกระทบจากคลัสเตอร์ชิ้นส่วน รวมถึงกรณีสหฟาร์มที่มีรายงานผู้ติดโควิดมากกว่า 3,000 ราย

ก่อนหน้านี้ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) ประเมินว่าการปิดคลัสเตอร์โรงงานในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมข้างต้นเป็นเวลา 2 สัปดาห์เพื่อควบคุมการระบาด จะก่อให้เกิดการสูญเสียมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท

ล่าสุด บทวิเคราะห์ของบล.ไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ประเมินผลกระทบต่อการส่งออกในไตรมาส 3 ของปีนี้จะเริ่มชัดเจนขึ้น โดยกลุ่มสินค้าที่จะได้รับผลกระทบในด้านการส่งออก ได้แก่

  • ไก่
  • กลุ่มรถยนต์และชิ้นส่วน
  • กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์
  • กลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

ส่วนเหตุผลที่จะทำให้กระทบการส่งออกเป็นเพราะอุตสาหกรรมโรงงานใช้แรงงานจำนวนมาก แต่ภาครัฐจัดหาและฉีดวัคซีนอย่างล่าช้า สิ่งที่จะกระทบตามมาอย่างแน่นอนคือ “ความเชื่อมั่น” ของผู้นำเข้าที่เห็นว่าสินค้าจากไทยส่งมอบล่าช้า ทางออกคือ ผู้นำเข้าเหล่านั้นจะหันไปสั่งจากประเทศอื่นแทน

บวกปัจจัย lockdown เศรษฐกิจทรุดหนักทะลุ 3 แสนล้านต่อเดือน

นอกจากประเด็นคลัสเตอร์โรงงานที่กระทบเศรษฐกิจ การขยายเวลาในการล็อคดาวน์เพิ่มขึ้นตั้งแต่ 3-18 ส.ค. (หรืออาจจะขยายเวลาถึง 31 ส.ค.) พร้อมทั้งคงมาตรการเคอร์ฟิวห้ามออกจากบ้าน 3 ทุ่ม-ตี 4 งดบริการขนส่งข้ามจังหวัด ส่วนร้านอาหารในห้างผ่อนปรนให้กลับมาขายแบบ delivery ได้อีกครั้ง

ปัจจัยเหล่านี้จะกระทบต่อความเสียหายอีกมากทางเศรษฐกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย ได้ออกมาประเมินว่า การยกระดับและขยายพื้นที่ล็อกดาวน์ 29 จังหวัดอีก 14 วันครั้งนี้ จะกระทบเศรษฐกิจเดือนละ 3-4 แสนล้านบาท จากเดิมที่เคยคาดการณ์ว่ากระทบประมาณ 1 แสนล้านบาทเท่านั้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา