เปิดแนวคิดเรื่อง ESG กับ Makro แนวคิดนี้คืออะไร สำคัญอย่างไร ทำไมตอนนี้ธุรกิจต้องคำนึงถึงสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาลมากขึ้นกว่าครั้งไหนๆ
แนวคิดเรื่อง ESG หรือการประกอบธุรกิจโดยคำนึงถึง สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล จะเป็นที่พูดถึงมากขึ้นในระยะหลังๆ โดยเฉพาะในหมู่นักลงทุนที่จะนำกรอบเหล่านี้เข้ามาประเมินความสามารถของบริษัทต่างๆ
แต่ที่จริงแล้ว ESG โดยแก่นคือการที่บริษัทดำเนินธุรกิจแบบใส่ใจผู้อื่นซึ่งหลายๆ บริษัทก็ทำมาอย่างยาวนานตั้งแต่นิยามเรื่อง ESG ยังไม่เกิดขึ้น เหมือนกับที่ Makro ก็ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะเป็นที่รักของลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่คือผู้ประกอบการรายย่อย เช่น ร้านโชห่วย กิจการร้านอาหารไปจนถึงชุมชนต่างๆ ที่สาขาของ Makro เข้าไปตั้งอยู่
วันนี้ Brand Inside จะพามาเปิดแนวคิดเรื่อง ESG ของ Makro กับ คุณศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) มาลองถอดบทเรียนดูว่า แก่นสารของ ESG คืออะไร การลงทุนระยะสั้นไปกับการสร้างประโยชน์ให้สังคมของธุรกิจสำคัญอย่างไร และจะสร้างความมั่นคงในระยะยาวให้กับบริษัทได้มากแค่ไหน
ESG เพิ่งถูกนิยามขึ้น แต่หลายบริษัทดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนมานานแล้ว
คุณศิริพรพูดถึงแนวคิด ESG (Environmental, Social, Governance) ว่าประกอบไปด้วย 3 ด้าน ก็คือการใส่ใจสิ่งแวดล้อม การสนใจสังคม และการมีธรรมาภิบาล แต่เรื่องนี้เพิ่งจะถูกนิยามขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเร็วๆ นี้ สมัยก่อนเราอาจพูดถึงแนวคิดนี้รวมๆ ว่าการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน คือ ต้องเป็นที่รักของลูกค้าและชุมชน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ทำผิดกฎหมาย เพราะกำไรเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้ธุรกิจยืนยาวได้
อย่างในกรณีของ Makro เอง ตั้งแต่ดำเนินกิจการมา 32 ปี แนวคิดเรื่อง ESG ก็ถูกสะท้อนอยู่ในแนวคิดในการทำงานอยู่แล้วผ่านการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนภายใต้ 6 Goals คือ
- การเป็นแหล่งอ้างอิงด้านอาหารปลอดภัย
- ส่งเสริมการคัดสรรผลิตภัณฑ์อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน
- ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
- เป็นที่รักในท้องถิ่น
- สร้างความเจริญเติบโตทางธุรกิจให้กับลูกค้า
- เป็นองค์กรที่คนทุกรุ่นอยากเข้ามาร่วมงาน
เห็นได้ชัดเจนว่าเป้าหมายในแต่ละด้านของ Makro สะท้อนหลักการเรื่อง ESG อย่างน้อยๆ 1 ข้อ เช่น การคัดสรรผลิตภัณฑ์อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน ก็สะท้อนเรื่องธรรมาภิบาลหรือความโปร่งใสในการดำเนินกิจการของบริษัท คือ ทำให้ผู้บริโภคแน่ใจได้ว่าสินค้าแต่ละชิ้นถูกผลิตโดยไม่ได้เอารัดเอาเปรียบใคร ในขณะเดียวกันก็ยังสอดคล้องกับเรื่องการใส่ใจสิ่งแวดล้อมเพราะเป้าหมายนี้จะเป็นกรอบในการดำเนินธุรกิจของ Makro ไม่ให้คัดเลือกสินค้าที่ผลิตอย่างไม่ใส่ใจผลกระทบต่อธรรมชาติ
ลงทุนระยะสั้น มั่นคงในระยะยาว
คำถามก็คือ เมื่อธุรกิจหันมาสนใจ ESG แล้วธุรกิจจะได้อะไรจากต้นทุนตรงนี้? เพราะต้องยอมรับว่าในสายตาของบริษัท การลงทุนเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมคืออีก 1 ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ร่วมถึงเป็นค่าเสียโอกาสในการทำกำไรระยะสั้น
คุณศิริพรให้คำตอบในเรื่องนี้ว่าในมุมหนึ่งการสร้างธุรกิจที่ยั่งยืนเป็นต้นทุนในระยะสั้น แต่ Makro มองว่านี่คือการลงทุนเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจในระยะยาวมากกว่า เพราะหากธุรกิจอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี มีชุมชนที่อุ้มชูธุรกิจอย่างเต็มใจ และมีโครงสร้างองค์กรที่โปร่งใสไร้เรื่องอื้อฉาว ก็รับประกันได้ว่าบริษัทจะเข้มแข็งเพียงพอในการแสวงหาผลประโยชน์ในระยะยาว
ในเรื่องนี้ คุณศิริพรยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ ว่า Makro มีลูกค้าหลักคือผู้ค้าปลีกรายย่อย เช่น ธุรกิจร้านอาหารและร้านโชห่วย หาก Makro สามารถรับประกันได้ว่าลูกค้าในชุมชนเหล่านี้สามารถอยู่รอดไม่ว่าจะด้วยการที่ Makro สามารถส่งมอบสินค้าให้ในราคายุติธรรมหรือการสร้างโครงการอบรมอาชีพ ลูกค้าก็จะเติบโตและกลับมาอุดหนุน Makro ต่อไปเรื่อยๆ
หากมองในภาพใหญ่กว่านั้น คุณศิริพรยกข้อมูลมาอธิบายให้เห็นภาพว่าตอนนี้ เม็ดเงินจากธุรกิจ SME คิดเป็น 37-40% ของ GDP ประเทศแปรผันไปในแต่ละปี และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การประกอบธุรกิจโดยคำนึงถึงสังคมภาพรวม (ซึ่งส่วนใหญ่คือรายย่อยจำนวนมาก) ก็จะยิ่งทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นไปอีก
ESG = การทำธุรกิจโดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มากกว่าลูกค้า
ในการทำธุรกิจดั้งเดิม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะประกอบไปด้วย 2 ฝ่าย คือ ธุรกิจ กับ ลูกค้า และมีความคาดหวังระหว่างกันแบบง่ายๆ คือธุรกิจหวังที่จะได้กำไรที่สูงที่สุด ส่วนลูกค้าก็อยากได้สินค้ามีคุณภาพราคาสมเหตุสมผล
แต่ในปัจจุบันที่สังคมวงกว้างเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากยิ่งขึ้น ผู้คนรับรู้ว่าบริษัทไม่ได้แค่เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าเท่านั้น แต่ในทุกฝีก้าวของธุรกิจสัมพันธ์กับสังคมวงกว้างอย่างซับซ้อน (ไม่ใช่แค่บริษัทกับลูกค้าเหมือนแต่ก่อน) ตั้งแต่การจ้างงาน การให้สวัสดิการพนักงาน การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ การผลิตทางอุตสาหกรรม
ด้วยความตระหนักรู้ทางสังคมของผู้บริโภคที่กว้างไกลขึ้นจากสื่อต่างๆ ที่เปิดกว้าง ผู้บริโภคจึงมองไกลกว่าสินค้าราคาถูก แต่ยังทวงถามถึงความรับผิดชอบจากบริษัทในประเด็นหลากหลายตั้งแต่สิทธิแรงงานไปจนถึงสิ่งแวดล้อม ส่วนธุรกิจต้องก็พยายามดำเนินการโดยกระทบสังคมให้น้อยที่สุด
ตัวอย่างที่สะท้อนเรื่องนี้อย่างชัดเจนคือการผลักดันแฮชแท็กแบนธุรกิจต่างๆ โดยคนหมู่มากบนโซเชียลมีเดียเมื่อธุรกิจไม่ตอบโจทย์สังคม
ในปัจจุบันยังต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มอื่นๆ ด้วย เช่น รัฐ ที่ต้องทำตามคำเรียกร้องของประชาชน หรือถูกกดดันโดยการจับตาของประชาชนและประชาคมโลก สื่อมวลชน ที่พร้อมจะตีแผ่เรื่องราวด้านลบของบริษัทเมื่อบริษัทสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมหรือสังคม ขณะเดียวกันก็ช่วยประชาสัมพันธ์บริษัทที่มีภาพลักษณ์ที่ดี นอกจากนี้ยังมีนักลงทุนที่หลังๆ มานี้นำ ESG เข้ามาเป็นปัจจัยในการตัดสินใจในการเข้าลงทุน
ชัดเจนว่าบรรยากาศการทำธุรกิจในยุคนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง
ตัวอย่างการประกอบธุรกิจอย่างยั่งยืนของ Makro
หากลองดูตัวอย่างโครงการที่ Makro ทำ ก็จะเข้าใจภาพการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนได้ดีขึ้น
- Makro HORECA ACADEMY คอร์สอบรมให้ธุรกิจบริการ ร้านอาหาร และผู้จัดเลี้ยงรายย่อยเข้ามาฝึกอาชีพ ในปัจจุบันจะเน้นไปที่การเสริมทักษะด้านดิจิทัลมากขึ้น
- Makro มิตรแท้โชห่วย โครงการอบรม สร้างอาชีพ ผู้ประกอบการร้านโชห่วย
- Say Hi to Bio, Say No to Foam เป้าหมายที่จะหยุดจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากโฟมภายในสิ้นปีนี้
- งดแจกถุงพลาสติก นี่คือโครงการที่ Makro ทำมาตั้งแต่วันแรกที่เปิดดำเนินกิจการในเมืองไทยมากว่า 32 ปี ช่วยลดการทิ้งถุงพลาสติกลงสู่สิ่งแวดล้อมไปแล้วมากกว่า 4,400 ล้านชิ้น
- Solar Rooftop ติดโซลาร์เซลล์ (ตอนนี้ติดตั้งทั้งสิ้น 52 สาขา) เพื่อเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งในปีหนึ่งประมาณการกันว่าสามารถช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 2 หมื่นตัน เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 1.3 ล้านตัน
- ตั้งศูนย์ร้องเรียนการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม สร้างความโปร่งใส่ให้กับองค์กร
เห็นได้ชัดว่าหลังจากนี้ความใส่ใจสิ่งแวดล้อม สังคม และการมีธรรมาภิบาล กลายเป็นอีกเรื่องที่ต้องคิดนอกเหนือไปจากผลลัพธ์กำไร เพราะสังคมคาดหวังจากไปไกลกว่านั้นนานแล้ว
อ่านความคิดด้านความยั่งยืนของ Makro เพิ่มเติมได้ ที่นี่
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา