สมาคมธนาคารไทยออกมาตรการหลากหลายเพื่อช่วยเหลือธุรกิจทุกขนาด เยียวยาและประคับประครองบริษัทให้รอดพ้นวิกฤตโควิด-19 และช่วยรับมือไวรัสโควิดผ่านการกระจายวัคซีนอีกด้วย
มาตรการช่วยปรับโครงสร้างหนี้
ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 ธนาคารสมาชิกได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การอนุมัติการปรับโครงสร้างหนี้ตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยทางธนาคารได้มีการพักชำระเงินต้น ดอกเบี้ย และขยายระยะเวลาชำระหนี้ เพื่อลดภาระทางการเงินให้กับลูกค้าอีกด้วย
ในเดือนกรกฏาคม 2563 มีลูกค้าขอรับความช่วยเหลือสูงสุดจำนวน 6 ล้านบัญชี วงเงินสินเชื่อรวม 4.25 ล้านล้านบาท
-
- ธุรกิจขนาดใหญ่ 8 แสนล้านบาท
- SME 1.8 ล้านล้านบาท
- ลูกค้ารายย่อย 1.6 ล้านล้านบาท
ที่ผ่านมา เมื่อลูกค้ากลับมาชำระหนี้ได้ในตอนที่สถานการณ์ดีขึ้น ทำให้ไม่จำเป็นต้องได้รับความข่วยเหลือตามมาตรการอีกต่อไป ทำให้เหลือลูกค้าเพียง 1.89 ล้านบัญชีใต้โครงการ ถือว่าลดลงไปกว่า 68% และวงเงินเหลือประมาณ 2 ล้านล้านบาท โดยมีภาพรวมวงเงินสินเชื่อดังนี้
-
- ลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ 5.6 แสนล้านบาท (ลดลง 30%)
- ลูกค้า SME 8.2 แสนล้านบาท (ลดลง 54%)
- ลูกค้ารายย่อย 6.2 แสนล้านบาท (ลดลง 61.25%)
มาตรการเสริมสภาพคล่อง
ในอีกด้านหนึ่ง สำหรับธุรกิจที่ต้องการประคองสภาพคล่องต่อไป ทางธนาคารสมาชิกก็ได้อนุมัติวงเงินกว่า 2.16 แสนล้านบาทเพื่อการนี้
-
- วงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ประมาณ 1.38 แสนล้านบาท
- อนุมัติวงเงินสินเชื่อฟื้นฟูธุรกิจกว่า 7.8 หมื่นล้านบาท (จาก 2.5 แสนล้านบาทที่เตรียมไว้)
- วางแผนวงเงินพักทรัพย์พักหนี้ 1 แสนล้านบาท
มาตรการเหล่านี้มีการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมเรื่อยๆ และมีการเพิ่มวงเงินช่วยเหลือมากขึ้นเมื่อสถานการณ์โควิดย่ำแย่ลงในการระบาดระยะที่ 3 นี้
ผยง ศรีวณิช กล่าวว่า “ธนาคารสมาชิกได้บริหารจัดการธุรกิจด้วยความระมัดระวัง เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19 และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แม้ว่าภาพรวมผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในช่วงครึ่งปี 2564 แสดงผลการดำเนินงานที่ยังเติบโตต่อเนื่อง แต่บางส่วนเป็นการบันทึกรายได้ดอกเบี้ยค้างรับของมาตรการช่วยเหลือลูกค้า ซึ่งยังไม่ได้มีการชำระจริงและอาจกลายเป็นหนี้เสียได้ อย่างไรก็ตาม ภาพรวม NPL ในระบบแทบจะไม่เพิ่มขึ้นเลย” เพิ่มเติมว่ามาตรการช่วยเหลือได้ผลจริง ไม่ได้เพิ่มหนี้เสียในระบบแต่อย่างใด และไม่กระทบต่อเสาหลักของระบบธนาคารซึ่งเกื้อหนุนเศรษฐกิจไทย
ความช่วยเหลือด้านการป้องกันโควิด
สมาคมธนาคารไทยสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในปี 2020 โดยบริจาคให้แก่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลราชวิถี สถาบันบำราศนราดูร และสภากาชาดไทย ด้วยเงินจำนวน 50 ล้านบาท
สำหรับในปี 2021 ธนาคารสมาชิกยังคงสนับสนุนผ่านทุนทรัพย์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง
อีกทั้ง เข้าร่วมโครงการ “ไทยร่วมใจ กรุงเทพฯ ปลอดภัย” ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการเร่งกระจายวัคซีนให้กับประชาชน โดยสนับสนุนและจัดตั้ง
- ศูนย์ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล 25 แห่ง
- ศูนย์ฉีดวัคซีนสำนักงานประกันสังคมเพื่อผู้ประกันตน ม.33 อีก 69 แห่ง
- จุดบริการฉีดวัคซีนของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ทั่วกรุงเทพฯ
โดยธนาคารสมาชิกสนับสนุนทั้งด้านสถานที่ บุคลากร และจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือในการดำเนินงานอีกด้วย
สรุป
ภาคธนาคารช่วยเหลือประชาชนไทยผ่านการเยียวยาการชำระหนี้และการกู้เพื่อเพิ่มสภาพคล่องตลอดช่วงวิกฤตโควิด รวมถึงช่วยเหลือสังคมผ่านการสนับสนุนการแพทย์และการกระจายวัคซีนอีกด้วย
ที่มา – ข่าวประชาสัมพันธ์
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา