ไม่มีตลาด-เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน 2 ปัญหาใหญ่ของผู้ประกอบการไทยในยุคโควิด-19 ระบาด

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยสถิติปัญหาที่ผู้ประกอบการ SME เจอในยุคโควิด-19 ระบาด พร้อมมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ กระตุ้นอุตสาหกรรม 8 พันล้านบาท

ในปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างหนักหน่วง GDP ในปี 2563 ติดลบ 6.1% และคาดการณ์ GPD ในปี 2564 ว่าจะเติบโตเพียง 1% น้อยกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ในไตรมาส 1 ว่าจะเติบโตได้ราว 2.6%

อย่างไรก็ตามธุรกิจขนาดกลาง และขนาดเล็ก (SME) ที่มีอยู่ 3.1 ล้านรายทั่วประเทศ เป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดย GDP ในส่วนของ SME ติดลบถึง 9.1% ในปี 2563 ส่วนในปีนี้คาดการณ์ว่าจะติดลบที่ 4.8%

ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยสถิติปัญหาในการทำธุรกิจที่ผู้ประกอบการต้องเจอในสถานการณ์โควิด-19 ระบาด พบว่าปัญหาหลักๆ จะเป็นการไม่มีตลาด ในสัดส่วน 66.82% และไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน 21.92% ส่วนปัญหาด้านอื่นๆ ได้แก่

    • ปัญหาด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม 13.74%
    • ปัญหาด้านวัตถุดิบและปัจจัยเอื้อในการประกอบธุรกิจ 11.40%
    • ปัญหาด้านการเพิ่มผลิตภาพการผลิต 11.28%
    • ปัญหาด้านการจัดการ เช่นการขนส่ง บุคลากร 9.50%
    • ปัญหาด้านต้นทุน 8.16%
    • ปัญหาด้านการพัฒนาอัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ 8.16%

5 แนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

ส่วนแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการระยะเร่งด่วนใน 60 วัน จะทำภายใต้นโยบาย โควิด 2.0 “พร้อมสู้อยู่ได้ไปรอด” ซึ่งประกอบด้วย

การจัดการโควิดภายในองค์กร

สร้างสถานประกอบการปลอดเชื้อ แนะนำความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้ผู้ประกอบการบริหารจัดการสถานประกอบการในสถานการณ์โควิด-19 ระบาด เน้นในการสร้างองค์ความรู้ในการบริหารจัดการองค์กร เพื่อป้องกันและรับมือกับการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นแบบองค์รวม โดยแบ่งออกเป็นด้านอาชีวอนามัย สุขอนามัย การใช้เครื่องมือดิจิทัลเพื่อลดความแออัด และการประยุกต์ใช้มาตรฐานอุตสาหกรรมในการบริหารจัดการให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด

การตลาดภายใต้โควิด

เน้นการดำเนินการด้านการตลาด และขยายตลาดในรูปแบบต่างๆ เช่น การส่งเสริมการทำการตลาดออนไลน์ ฝึกอบรมการตลาดออนไลน์ ช่วยขยายตลาดให้กับผู้ประกอบการ ช่วยเหลือด้านบรรจุภัณฑ์ พัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ต่อการดำเนินชีวิต ช่วยลดต้นทุน และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ รวมถึงการร่วมเป็นคู่ค้ากับภาครัฐ โดยจะเน้นไปที่สินค้า Made in Thailand (MiT) สนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศมากขึ้น

เปลี่ยนค่าใช้จ่ายให้เป็นเงินทุน

นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับเปลี่ยนค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจให้กลายเป็นเงินทุนในการประกอบกิจการให้แก่ผู้ประกอบการ โดยการใช้ระบบคลังสินค้าออนไลน์ เพื่อเปลี่ยนเงินทุนด้วยเทคโนโลยี สามารถลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ให้แก่ผู้ประกอบการผ่านระบบ Google Sheet และ Line OA ซึ่งเป็นมาตรการช่วย SMEs แบบดีพร้อม ด้วยการให้คำปรึกษาและพัฒนาระบบการบริหารสินค้าคงคลัง เพื่อลดต้นทุนต้นทุนด้านโลจิสติกส์ 3 ด้านหลัก ได้แก่ ต้นทุนการเก็บรักษาสินค้าคงคลัง  ต้นทุนการขนส่งสินค้า ต้นทุนการบริหารจัดการ

สำหรับการเปลี่ยนค่าใช้จ่ายให้เป็นเงินทุนนี้ ณัฐพล ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผู้ประกอบการหลายรายที่มีปัญหาการขาดแคลนเงินทุน ความจริงแล้วหลายเกิดจากการบริหารจัดการภายใน และสามารถเปลี่ยนค่าใช้จ่ายบางส่วนให้กลายเป็นเงินทุนได้

สร้างเครือข่ายพันธมิตร

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นผู้จัดสรรและเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรให้แก่ผู้ประกอบการผ่านโครงการสำคัญ ๆ ดังนี้ โครงการเชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรกรและผู้แปรรูปโครงการเชื่อมโยงเทคโนโลยีเพื่อปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่โครงการเชื่อมโยงเครื่องจักรเพื่อแปรรูป (i-Aid) โครงการช่างชุมชนโดยการมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะวิชาชีพให้แก่ช่างในชุมชน

ปรับโมเดลธุรกิจ

มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการมีความพร้อมในการดำเนินการปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์เศรษฐกิจ และการสร้างและพัฒนาผู้ให้บริการธุรกิจอุตสาหกรรม (SP) และยังได้ช่วยเสริมทักษะทางการเงิน (Financial Literacy)  ให้แก่ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจและให้ตระหนักถึงความสำคัญ เพื่อการตัดสินใจทางการเงินที่ดี นอกจากนี้ดีพร้อมยังได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการในการจัดทำแผนบริหารความเสี่ยง (Business Continuity Plan) ในการดำเนินธุรกิจใหแก่ผู้ประกอบ โดยเน้นการรับมือและสร้างแนวทางการดำเนินธุรกิจกับสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน เพื่อสร้างความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจของสถานประกอบ

ณัฐพล ยังได้พูดถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการทำธุรกิจทั่วโลก ด้วยว่าเริ่มมีการพูดถึงการฟื้นตัวในรูปแบบ W Shape คือ มีการฟื้นตัว และทรุดตัวหลายๆ รอบ ตามการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในแต่ละรอบ รวมถึง K Shape ที่จะมีธุรกิจบางประเภทที่สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์โควิด-19 ก็จะฟื้นตัวได้ ในขณะที่ธุรกิจบางประเภทที่ไม่สามารถปรับตัวได้ก็จะไม่สามารถอยู่รอดได้ ทำให้ช่องว่างระหว่างธุรกิจ 2 ประเภทนี้ห่างขึ้นเรื่อยๆ โดย

นอกจากนี้ ณัฐพล ยังได้พูดถึงการปรับตัวต่อสถานการณ์โควิด-19 ในหลายประเทศด้วยว่า หลายประเทศเริ่มมองไปถึงอนาคตในวันที่ต้องอยู่ร่วมกับโควิด-19 แล้ว โดยไม่ได้ปรับตัวรอวันที่โควิด-19 จะหายไป

ส่วนผลการดำเนินงานในครึ่งปีแรกของปี 2564 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ส่งเสริมธุรกิจไปแล้วรวมทั้งสิ้น 3,061 กิจการ 6,929 คน ใน 21 กลุ่มอุตสาหกรรม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา