LINE เปิดเผยกลยุทธ์ LINE for Business ประจำปี 2021-2022 ต้องการเป็นแพลตฟอร์มที่ส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลให้คนไทย ทั้งการดำเนินชีวิต และการดำเนินธุรกิจ
แบรนด์เครื่องสำอาง-แฟชันหรู ใช้ LINE OA เพิ่ม 60% ช่วงโควิดระบาด
ที่ผ่านมา LINE ให้บริการลูกค้ากลุ่มธุรกิจ และ SME ภายใต้แบรนด์ LINE for Business ผ่าน LINE Official Acount (LINE OA) เป็นหลัก โดย LINE ได้เปิดเผยสถิติของ LINE OA หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาด กลุ่มธุรกิจสินค้าหรู หันมาเปิดใช้งาน LINE OA เพิ่มขึ้นถึง 60% โดยธุรกิจกลุ่มนี้มีทั้งกลุ่มเครื่องสำอางหรู คิดเป็นสัดส่วน 54% ตามมาด้วยกลุ่มแฟชันหรู 35% และยานยนต์หรูอีก 11%
การหันมาใช้งาน LINE OA ของแบรนด์หรู โดยเฉพาะกลุ่มแฟชัน แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในการให้บริการจากเดิมเป็นแบบตัวต่อตัวที่ห้างสรรพสินค้า เป็นการบริการตัวต่อตัวผ่านการสนทนาออนไลน์แทน ซึ่งทาง LINE ระบุว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจของแบรนด์ทางฝั่งตะวันตก เปลี่ยนเป็นการทำธุรกิจออนไลน์แบบโลกตะวันออก
นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า ในสถานการณ์โควิด-19 ระบาด กลุ่มธุรกิจร้านอาหารมีอัตราการเปิดใช้งาน LINE OA เพิ่มขึ้น 212% เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนธุรกิจค้าปลีกมีการเปิดใช้งาน LINE OA เพิ่มขึ้นมากเช่นกันที่ 191%
นรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์ LINE ประเทศไทย กล่าวว่า ใน 10 ปีที่ผ่านมา LINE ได้มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงคนและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน ภายใต้ภารกิจ Closing the distance และพัฒนากลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานการใช้ชีวิตดิจิทัลให้คนไทย ที่ไม่เพียงตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ระดับบุคคลเท่านั้น LINE เป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่ขับเคลื่อนธุรกิจสู่ดิจิทัลได้ด้วยความง่ายและการเข้าถึงของการใช้งานด้วยคนไทยในทุกเพศ ทุกวัย และเมื่อเกิดวิกฤตโควิด 19 ขึ้น เรายิ่งได้เห็นการปรับตัวของคนไทยเข้าสู่ดิจิทัลอย่างเต็มตัวผ่านการเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์ม LINE เพิ่มมากขึ้นในหลากหลายกลุ่มธุรกิจ ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของ LINE ในการเป็นเครื่องมือทรงพลังที่จะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน
กลยุทธ์ LINE for Business ช่วยเหลือ SME ขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบองค์รวม
ในปี 2021-2022 นี้ LINE ประเทศไทย ได้เปิดเผยกลยุทธ์ของ LINE for Business โดยต้องการที่จะเป็นแพลตฟอร์มในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจองค์รวมของไทย โดยเน้นความสำคัญไปที่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) ซึ่งเป็นรากฐานของเศรษฐกิจไทย ด้วยสัดส่วน 45% ของ GDP ทั้งประเทศ จากธุรกิจ SME มากกว่า 3 ล้านราย
LINE ประเทศไทย จึงต้องการพัฒนาแพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับธุรกิจ SME โดยเฉพาะ ซึ่ง LINE จะไม่ใช่แค่เครื่องมือสื่อสาร แต่จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ โดย LINE ได้แบ่งกลยุทธ์นี้ออกเป็น 3 กลุ่มธุรกิจด้วยกัน ได้แก่
- กลุ่มธุรกิจอาหาร LINE ได้ออกแบบเครื่องมือ MyRestuarant ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของ LINE OA ให้กับธุรกิจร้านอาหาร สามารถจัดการหน้าร้าน วิเคราะห์ข้อมูลจากอาหารที่ลูกค้าสั่ง และเชื่อมต่อกับ LINE MAN ได้โดยตรง
- กลุ่มธุรกิจค้าปลีก มีเครื่องมือ MyShop ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขายของ LINE OA สามารถจัดการหน้าร้าน สินค้าคงคลัง รองรับระบบ Chat Commerce และสามารถเชื่อต่อกับระบบ Rabbit LINE Pay ได้
- กลุ่มบริการสาธารณะ LINE OA เป็นตัวกลางระหว่างกลุ่มบริการสาธารณะ และองค์กรรัฐต่างๆ ในการอัพเดทข้อมูลกับประชาชน เช่น โรงพยาบาล สาธารณูปโภค น้ำ ไฟ การบริหารส่วนจังหวัด อำเภอ ชุมชนต่างๆ รวมถึงหน่วยงานราชการ
สำหรับกลุ่มธุรกิจค้าปลีก มีร้านค้าเปิดใช้งาน MyShop เพิ่มขึ้นกว่า 7 เท่า มีร้านค้าที่แอคทีฟเพิ่มขึ้นถึง 257% เมื่อเทียบกับปี 2563 ในขณะที่ LINE OA ของกลุ่มบริการสาธารณะมีอัตราการเติบโตที่ 30%
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา