ปรับลด GDP จาก 1.9% เหลือ 0.9%
EIC ปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2021 ลงจากเดิม 1.9% มาอยู่ที่ 0.9% เป็นผลจากการระบาดของโควิดในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและขยายตัวในวงกว้าง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการอุปโภคบริโภคค่อนข้างมาก
ทั้งจากมาตรการต่างๆ เช่น
- การควบคุมโรคที่เข้มงวดขึ้น (ล็อกดาวน์)
- ความกังวลของประชาชนในการใช้จ่ายภายใต้ความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น (Fear Factor)
- แผลเป็นเศรษฐกิจที่ลึกขึ้น (Scarring)
ขณะที่เม็ดเงินช่วยเหลือจากภาครัฐที่ออกมายังไม่เพียงพอและทั่วถึง จึงช่วยบรรเทาผลกระทบได้เพียงบางส่วนเท่านั้น
COVID-19 กลับมาระบาดอีกครั้ง
มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการประคับประคองเศรษฐกิจและลดแผลเป็นทางเศรษฐกิจ แม้ภาครัฐจะพยายามออกมาตรการเยียวยาควบคู่ไปกับมาตรการล็อกดาวน์
COVID-19 กลับมาระบาดอีกครั้งจากการระบาดของสายพันธุ์ Delta จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันทั่วโลกกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งหลังจากลดลงในช่วงก่อนหน้า แม้กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศจะมีการฉีดวัคซีนในระดับสูง ทั้งนี้เนื่องจากสายพันธุ์ Delta ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักที่มีการระบาดในช่วงนี้ เป็นสายพันธุ์ที่มีความสามารถในการแพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดิม ทำให้วัคซีนหลายประเภทมีประสิทธิภาพลดลงในการป้องกันการแพร่เชื้อ
จากการระบาดที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่มีการฉีดวัคซีนในระดับที่ไม่สูงนัก ทำให้กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชียกลับมาใช้มาตรการปิดเมืองที่เข้มงวดขึ้น ตัวอย่างเช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน จีน รวมถึงไทย ซึ่งจะส่งผลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป ทั้งนี้ตัวแปรสำคัญที่จะช่วยให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจปรับดีขึ้นในระยะต่อไปคือการฉีดวัคซีน โดย EIC พบว่า ประเทศที่มีสัดส่วนประชากรที่ได้รับวัคซีนสูงจะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจดีขึ้นกว่าประเทศที่มีสัดส่วนประชากรที่ได้รับวัคซีนต่ำ เนื่องจากทำให้ภาครัฐสามารถผ่อนคลายมาตรการ ล็อกดาวน์ได้เร็วขึ้นและเอื้อต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อีกทั้ง ยังช่วยลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ทำให้ความเชื่อมั่นสูงขึ้น
ส่งออกไทยยังพอไปต่อได้
การส่งออกไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ แต่ต้องจับตาความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นจากการระบาดในหลายประเทศ โดยเฉพาะในอาเซียน รวมถึงปัญหา supply disruption ที่อาจเกิดขึ้นแม้สถานการณ์การแพร่ระบาดจะปรับแย่ลงในหลายประเทศ แต่ภาวะการส่งออกโลกยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแม้จะชะลอลงบ้าง สะท้อนจากมูลค่าส่งออกของหลายประเทศส่งออกสำคัญที่ยังมีอัตราเติบโตสูงในช่วงเดือนมิถุนายน
นอกจากนี้ ดัชนี Global PMI: export orders ในเดือนมิถุนายนก็ยังมีระดับเกิน 50 แม้จะชะลอลงจากช่วงก่อนหน้าเล็กน้อย สะท้อนการส่งออกยังมีแนวโน้มปรับดีขึ้นต่อเนื่องอย่างน้อยในระยะสั้น ขณะที่ในช่วงที่เหลือของปี ประชาชนในหลายประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและจีน มีแนวโน้มที่จะมีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นตามความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก จึงทำให้ EIC ยังคงคาดการณ์ส่งออกอยู่ที่ 15.0% ในปี 2021
อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยยังมีความเสี่ยงที่ต้องจับตาใกล้ชิด เริ่มจากปัญหา supply disruption ที่อาจเกิดจากการปิดโรงงาน โดยเท่าที่ EIC ได้ติดตามสถานการณ์ พบว่ามีการปิดโรงงานหลายแห่งในช่วงที่ผ่านมา แต่ส่วนใหญ่เป็นการปิดเพียงชั่วคราวเท่านั้น ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตในภาพรวม แต่หากการระบาดส่งผลทำให้โรงงานต้องปิดตัวมากหรือนานขึ้น ก็จะเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อการผลิตเพื่อส่งออกในระยะข้างหน้า ส่วนความเสี่ยงต่อมา ได้แก่ การระบาดของ COVID-19 ในกลุ่มประเทศอาเซียนที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย โดยเริ่มส่งผลกระทบบ้างแล้ว สะท้อนจาก Manufacturing PMI หลายประเทศที่เริ่มปรับตัวลดลงหรืออยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ซึ่งอาจกระทบต่อภาคส่งออกไทยผ่านอุปสงค์ที่ลดลงหรือปัญหาห่วงโซ่อุปทาน (supply chain disruption) ที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ การส่งออกของไทยยังมีปัจจัยกดดันต่อเนื่อง ได้แก่ ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ส่งผลให้ราคาระวางเรือ (Freight) อยู่ในระดับสูง ส่งผลกระทบต่อต้นทุนในการขนส่งสินค้า รวมถึงปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในหลายอุตสาหกรรม เช่น โทรศัพท์มือถือ เครื่องเกมส์ และอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นต้น
ท่องเที่ยวซบเซาต่อเนื่อง
ภาคท่องเที่ยวยังซบเซาต่อเนื่อง แม้จะมีการเปิด Phuket Sandboxเนื่องจากหลายประเทศยังมีนโยบายรัดกุมในการเดินทางเข้าออกประเทศ รวมถึงสถานการณ์ในไทยที่ปรับแย่ลง
จากสถานการณ์การติดเชื้อของไทยที่ปรับแย่ลง ประกอบกับความเข้มงวดของนโยบายเดินทางเข้าออกในหลายประเทศ ทำให้ EIC ปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2021 เหลือ 3 แสนคน จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 4 แสนคน โดยการเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวในโครงการนำร่องอย่าง Phuket Sandbox และ Samui plus จะมีข้อดีด้านการวางรากฐานโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อรองรับการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในระยะต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในเรื่องของกระบวนการตรวจคัดกรองนักท่องเที่ยว การจัดทำ vaccine passport และการสร้างความพร้อมของภาคธุรกิจในการฟื้นฟูเปิดกิจการรองรับนักท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี การเปิดรับนักท่องเที่ยวอาจจะยังไม่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาได้มากนักในปีนี้ เนื่องจาก
ทั้งนี้ ในภาพรวมมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยในช่วง 5 เดือนแรกเพียง 34,753 คน ขณะที่นักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่าน Phuket Sandbox มีเพียง 7,462 คนในช่วง 17 วันแรกนับจาก 1 กรกฎาคม ส่วน Samui plus มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเพียง 17 คน ในช่วง 4 วันแรกนับจาก 15 กรกฎาคม ทำให้มีโอกาสสูงที่จำนวนนักท่องเที่ยวจะต่ำกว่าประมาณการของภาครัฐที่คาดไว้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวราว 1 แสนคนในช่วง 3 เดือนแรกของการเปิดโครงการนำร่อง (กรกฎาคม-กันยายน) ประกอบกับเหตุผล 2 ข้อตามที่ได้กล่าวข้างต้น จึงทำให้ EIC ปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวเหลือ 3 แสนคนในปีนี้ จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 4 แสนคน
ข้อวิจารณ์จาก EIC
มาตรการล่าสุดของภาครัฐที่ออกมาหลังการระบาดระลอก 3 มีเพียง 2.6 แสนล้านบาท ซึ่งประกอบไปด้วย มาตรการขยายวงเงินเราชนะและเรารักกัน การให้เงินผู้ถือบัตรสวัสดิการ ลดค่าน้ำค่าไฟ คนละครึ่ง ยิ่งใช้ยิ่งได้ และมาตรการล่าสุดในการชดเชยรายได้ของผู้ประกอบการและลูกจ้างในจังหวัดที่โดนมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่ง EIC ประเมินว่ามาตรการดังกล่าวยังไม่เพียงพอใน 3 มิติ ได้แก่
- 1.ไม่พอด้านระยะเวลา: โดยมาตรการที่ชดเชยความเสียหายจากการล็อกดาวน์โดยตรง ได้แก่ การชดเชยรายได้ของผู้ประกอบการและลูกจ้างที่มีระยะเวลาแค่ 1 เดือน (กรกฎาคม) เท่านั้น จึงไม่เพียงพอต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น เพราะผลกระทบมีแนวโน้มลากยาวมากกว่า 1 เดือนตามที่ได้ประเมินไว้ก่อนหน้า
- ไม่พอด้านพื้นที่: ปัจจุบัน ภาครัฐเลือกที่ชดเชยเพียง 10 จังหวัด อย่างไรก็ดี สถานการณ์ระบาดที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบทั่วทั้งประเทศ ดังจะเห็นได้จากดัชนี Facebook Movement Range ที่จังหวัดอื่นนอกจากที่โดนประกาศล็อกดาวน์ก็ปรับตัวลดลงตามกันมา เนื่องจากการแพร่ระบาดทำให้ประชาชนมีความกังวลและต้องลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปโดยปริยาย
- ไม่พอด้านเม็ดเงิน: อย่างที่ได้กล่าวในช่วงก่อนว่าภาครัฐมีมาตรการหลังการระบาดรอบ 3 รวมเพียง 2.6 แสนล้านบาท ซึ่งไม่พอต่อความเสียหายที่ EIC ประเมินไว้กว่า 7.7 แสนล้านบาท และหากเปรียบเทียบกับการระบาดรอบ 2 ในช่วงต้นปี ซึ่งมีเม็ดเงินประคองเศรษฐกิจกว่า 3 แสนล้านบาท ทั้งที่การระบาดมีความรุนแรงน้อยกว่าและสั้นกว่ามาก จึงกล่าวได้ว่ามาตรการที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอด้านเม็ดเงิน นอกจากนี้ หากพิจารณาโดยทำการคำนวณรายได้กรณีได้รับความช่วยเหลือของลูกจ้าง ผู้ประกันตน ม.33 (ได้รับการเยียวยา 50% ของรายได้ และเงินช่วยเหลือ 2,500 บาทต่อราย รวมกันไม่เกิน 10,000 บาทต่อราย) และนำมาเทียบกับข้อมูลรายได้ปกติของแรงงานแต่ละกลุ่มจะพบว่า จำนวนเงินที่ได้รับจากการเยียวยาดังกล่าวน้อยกว่ารายได้ปกติที่ลูกจ้างกลุ่มนี้ได้รับอย่างมีนัยสำคัญถึงราว 40% โดยเฉลี่ย
ข้อเสนอจาก EIC
สำหรับมาตรการที่ภาครัฐควรเร่งรัดจัดทำ ได้แก่
- มาตรการด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะการเร่งจัดหาและฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพอย่างรวดเร็วและทั่วถึง การเพิ่มการเข้าถึงการตรวจหาเชื้อเพื่อแยกผู้ป่วยออกจากคนปกติ ตลอดจนการจัดหายา อุปกรณ์การแพทย์ สถานพยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์เพื่อรองรับความต้องการที่สูงขึ้น ในประเด็นการกระจายวัคซีน นอกเหนือจากกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มเปราะบางต่างๆ แล้ว ภาครัฐควรจัดสรรวัคซีนให้กับกลุ่มแรงงานในคลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรมให้เพียงพอด้วย เพื่อป้องกันปัญหาการระบาดที่จะกลายเป็น supply disruption กระทบต่อห่วงโซ่การผลิตสำคัญทั้งการส่งออกและการอุปโภคในประเทศด้วย
- มาตรการเยียวยาและฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ นอกจากเม็ดเงินเยียวยาที่ตรงจุด เพียงพอ และขยายเวลาออกไปอย่างน้อยในช่วงไตรมาสที่3 ซึ่งการระบาดน่าจะยังอยู่ในระดับสูง เพื่อช่วยประคับประคองการใช้จ่ายของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ภาครัฐควรมีมาตรการสนับสนุนสภาพคล่องและการจ้างงานของภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันการว่างงานและการทำงานที่ต่ำกว่าศักยภาพในภาคนอกระบบที่อาจเพิ่มขึ้นในวงกว้าง ควบคู่กับการปรับทักษะแรงงาน (Up/Re-skill) และการส่งเสริม SMEs ให้สามารถปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทั้งด้านการผลิตและช่องทางการขาย (online platform) ได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการแข่งขันของแรงงานและธุรกิจ
ในโลก New normal อีกด้วย
บทสรุป
โดยสรุป EIC ประเมินเศรษฐกิจปี 2021 จะเติบโตเหลือเพียง 0.9% จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 1.9% ตามผลของสถานการณ์การระบาดในประเทศที่ปรับแย่ลงมากเป็นสำคัญ
จากสถานการณ์การระบาดที่ปรับแย่ลงมากกว่าคาด ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในหลายด้าน ได้แก่ จำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้าไทยลดลง การบริโภคภาคเอกชนที่มีความเสียหายเพิ่มขึ้น และการก่อสร้างภาครัฐ
และภาคเอกชนที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง รวมถึงแผลเป็นเศรษฐกิจที่มีโอกาสปรับแย่ลง โดยแม้คาดว่าภาครัฐจะมีเม็ดเงินพยุงเศรษฐกิจมากกว่าที่เคยคาด แต่ก็ยังจะไม่เพียงพอต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น จึงทำให้ EIC ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจเหลือเพียง 0.9% ในปี 2021
ในระยะต่อไป ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำอีกหลายประการ ประกอบด้วยความล่าช้าในการฉีดวัคซีน, สายพันธุ์ใหม่ของไวรัสที่อาจเกิดขึ้น, ปัญหา supply disruption จากการปิดโรงงานในไทยที่อาจทวีความรุนแรงจนกระทบภาคการผลิตในภาพรวม, การระบาดในประเทศคู่ค้าที่อาจกระทบต่อการส่งออกของไทย และเม็ดเงินจากภาครัฐออกมาน้อยกว่าคาด
หนักสุดคือ GDP ติดลบ 0.4%
ทั้งนี้ EIC ประเมินในกรณีเลวร้าย (Worse case) ว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสหดตัวที่ -0.4% โดยเกิดจากสถานการณ์ระบาดเลวร้ายมากกว่าคาดทั้งในส่วนของการระบาดทั้งโลกและไทย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยผ่านอุปสงค์ที่ลดลง และปัญหา supply disruption จากการปิดโรงงานจำนวนมากที่อาจเกิดขึ้นทั้งในประเทศคู่ค้าและในไทยเอง นอกจากนี้ การระบาดในประเทศที่ปรับแย่ลงจะส่งผลโดยตรงต่อความเสียหายด้านการใช้จ่ายของประชาชน ตามความกังวลประชาชนในการเดินทางจับจ่ายใช้สอย รายได้ที่ลดลง และคนตกงานเพิ่มขึ้น รวมถึงนักท่องเที่ยวก็มีแนวโน้มเดินทางเข้าไทยน้อยลงกว่าคาด เนื่องจากกังวลสถานการณ์ระบาดในไทย ทั้งนี้เมื่อภาวะเศรษฐกิจปรับแย่ลงมาก ก็จะทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุน อีกทั้ง ยังเป็นการซ้ำเติมแผลเป็นเศรษฐกิจให้ลึกกว่าเดิม ซึ่งจะส่งผลทำให้การฟื้นตัวมีอุปสรรคเพิ่มขึ้น
โดยแม้ว่าภาครัฐอาจออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากในกรณีฐาน แต่ก็น่าจะเป็นเพียงการชดเชยความเสียหายส่วนหนึ่งเท่านั้น ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยในกรณีเลวร้าย มีแนวโน้มหดตัวเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันที่ -0.4%
ที่มา – ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
อ่านบทความเต็มๆ ได้ที่ EIC ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2021 เหลือโต 0.9% (เดิมคาด 1.9%) จากภาวะวิกฤติของการระบาด COVID-19 ในประเทศ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา