เปิดรายได้ครึ่งปีแรก 6 ธนาคารใหญ่ของไทย กำไรรวมระดับหมื่นล้านบาทท่ามกลางสถานการณ์โควิด

bank 2h2021

ผ่านครึ่งปี 2021 ไปเรียบร้อย ธนาคารใหญ่ของไทยส่งผลประกอบการกันเรียบร้อยหมดแล้ว ต้องบอกว่าส่วนใหญ่กำไรเพิ่มขึ้นกันถ้วนหน้า ด้วยสาเหตุที่แตกต่างกัน มาดูกันว่า ธนาคารแต่ละแห่งทำรายได้และกำไรไปเท่าไรจากปัจจัยอะไรบ้าง

Bangkok Bank ธนาคารกรุงเทพ
ภาพจาก Shutterstock

BBL ครึ่งปีแรกกำไร 13,280 ล้านบาท

ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยรายงานกำไรสุทธิครึ่งแรกของปี 2564 จำนวน 13,280 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 10,765 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.4% ทั้งนี้มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 หลักๆ จากผลของการรวมธนาคารเพอร์มาตาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 และมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ร้อยละ 2.12 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งในครึ่งแรกของปีก่อน รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.8 จากค่าธรรมเนียมบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวม และค่าธรรมเนียมธุรกิจหลักทรัพย์ รวมถึงการรวมรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารเพอร์มาตา สำหรับอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ร้อยละ 49.5 ทั้งนี้ ธนาคารมีการตั้งสำรองตามหลักความระมัดระวังโดยคาดการณ์ปัจจัยผลกระทบสำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า

KBank ครึ่งปีแรกกำไร 19,521 ล้านบาท

ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย บอกว่า ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิสำหรับงวดครึ่งปีแรกปี 2564 จำนวน 19,521 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 104.40% โดยในงวดครึ่งปีแรกปี 2564 ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss: ECL) ลดลง 39.32% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยงวดครึ่งปีแรกของปีก่อนธนาคารและบริษัทย่อยได้ตั้งสำรองฯ ในระดับที่สูงเป็นจำนวนถึง 32,064 ล้านบาท ภายใต้หลักความระมัดระวัง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยงวดนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยจึงได้พิจารณาตั้งสำรองฯ จำนวน 19,457 ล้านบาท ซึ่งยังคงเป็นระดับสำรองฯ ภายใต้หลักความระมัดระวัง ทั้งนี้หากเปรียบเทียบไตรมาส 2 ปี 2564 กับไตรมาสก่อน ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้น 24.93%

SCB ครึ่งปีแรกกำไร 18,902 ล้านบาท

ธนาคารไทยพาณิชย์และบริษัทย่อย ครึ่งปีแรกของปี 2564 ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 18,902 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ธนาคารได้ตั้งเงินสำรองจำนวน 20,036 ล้านบาท สำหรับครึ่งปีแรก อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 ทรงตัวจากไตรมาสที่ผ่านมา ที่ 3.79% สะท้อนถึงการบริหารจัดการสินเชื่อด้อยคุณภาพเชิงรุกของธนาคาร อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารยังอยู่ในระดับสูงที่ 142.3% ในขณะที่เงินกองทุนตามกฎหมายของธนาคารยังอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 17.9%

BAY กำไรครึ่งปีแรก 21,048 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นจากการขายหุ้นเงินติดล้อ

กรุงศรี เผยผลประกอบการครึ่งแรกปี 2564 มีกำไรสุทธิจำนวน 21,048 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 55.5% สำหรับครึ่งแรกของปี 2564 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย จากการบันทึกกำไรจากเงินลงทุนจากการขายหุ้นในบริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) (เงินติดล้อ) ในไตรมาสสองของปี 2564
หากไม่รวมการบันทึกกำไรพิเศษ กำไรสุทธิจากการดำเนินธุรกิจปกติสำหรับครึ่งแรกของปี 2564 ลดลง 5.0% หรือจำนวน 678 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหลักมาจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ

ttb กำไรครึ่งปีแรก 5,316 ล้านบาท หลังรวมกิจการ TMB-TBank

ทีเอ็มบีธนชาต และบริษัทย่อย แจ้งผลกำไรครึ่งปีแรก 5,316 ล้านบาท ลดลงจากปีที่ผ่านมา -27% เนื่องจากปีที่ผ่านมารายได้และกำไรได้รวมของธนาคารธนชาตเข้ามาแล้ว อย่างไรก็ตามภารกิจสำคัญของทีเอ็มบีธนชาต คือการรวมธนาคาร ซึ่งเสร็จสมบูรณ์ได้เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา เป็นไปตามกรอบระยะเวลา 18 เดือนที่วางไว้ ส่วนกลยุทธ์ของธนาคารเน้นการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง ไม่เร่งการเติบโตสวนทางแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้วยอดหนี้เสียและสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวม (NPL ratio) จะยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 2 ธนาคารมียอดหนี้เสียอยู่ที่ 43,543 ล้านบาท ใกล้เคียงกับ 43,400 ล้านบาท ในไตรมาสก่อน แต่เนื่องจากสินเชื่อชะลอลง สัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมจึงขยับจาก 2.75% มาอยู่ที่ 2.89%

ktb

KTB กำไรครึ่งปีแรก 11,589 ล้านบาท

ธนาคารกรุงไทย แจ้งผลกำไรครึ่งปีแรก 11,589 ล้านบาท เติบโตขึ้น 13.38% จากสินเชื่อเติบโตอย่างต่อเนื่อง การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว ติดตามคุณภาพหนี้ใกล้ชิด รักษาระดับสำรองต่อ NPLs เพื่อรองรับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา