Toyota หนึ่งในสปอนเซอร์รายใหญ่ของโตเกียวโอลิมปิก ประกาศถอดโฆษณาทีวีในญี่ปุ่นที่เกี่ยวกับโอลิมปิกออกทั้งหมด เหตุเพราะความเห็นของประชาชนในประเทศต่อโอลิมปิกที่แย่ลงเรื่อยๆ ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดมากขึ้น และอาจจะสร้างความเสียหายต่อแบรนด์ได้
โฆษณาไม่คุ้มค่ากับความเสียหายที่แบรนด์ต้องเจอ
Toyota เซ็นสัญญาเพื่อเป็นสปอนเซอร์ให้กับกิจกรรมต่างๆ ของโอลิมปิกเป็นเวลา 10 ปี ถึงปี 2024 กับคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ในปี 2015 โดยหวังว่าสัญญานี้จะช่วยโปรโมทแบรนด์ตัวเองในระดับโลกได้ แต่ครั้งนี้ แหล่งข่าวภายในโตโยต้ากล่าวว่า “ภาพลักษณ์ของบริษัทเราอาจจะเสียหายได้”
ลูกค้าของโตโยต้าบางส่วนเริ่มไม่พอใจกับโตเกียวโอลิมปิกมากขึ้นเรื่อยๆ โดยทวิตเกี่ยวกับ “โอลิมปิก” และ “โตโยต้า” ที่มีเนื้อหาเชิงลบมีมากกว่าทวิตเชิงบวกแล้ว อ้างอิงจากวิจัยของ Nikkei
ทาง Toyota ได้วางแผนที่จะฉายโฆษณาทีวีเกี่ยวกับนักกีฬาโอลิมปิกที่ทางบริษัทเป็นสปอนเซอร์อยู่ แต่เมื่อเวลาผ่านไป สังคมบางส่วนก็หันมาตำหนินักกีฬาที่ไม่ออกมาเรียกร้องให้เลื่อนหรือยกเลิกโอลิมปิก จึงยกเลิกการฉายโฆษณาชุดนี้ แต่จะโฆษณาเกี่ยวกับสินค้าของตัวเองในการแข่งขันต่อไป
Jun Nagata ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสาร (CCO) ของ Toyota กล่าวว่า “ในฐานะสปอนเซอร์ พวกเรารู้สึกเจ็บปวดเวลาบางคนนำความความวิตกกังวลของตัวเองมาลงกับเหล่านักกีฬา เราอยากให้นักกีฬาทุกคนสามารถเตรียมตัวต้อนรับโตเกียวโอลิมปิกได้อย่างสบายใจ”
Toyota ยังสนับสนุนต่อในทางที่ทำได้
ทางโตโยต้ายังจะมอบยานพาหนะจำนวน 3,340 คัน รวมรถยนต์พลังงานไฟฟ้าและไฮโดรเจน (fuel cell) เพื่อรับ-ส่งนักกีฬาและบุคลากร รวมถึงติดตั้งหุ่นยนต์ไว้ตามสถานที่แข่งขันอีกด้วย
ถึงแม้ว่าโตโยต้าจะถอดโฆษณาทีวีออกแล้ว แต่ทางบริษัทจะยังโปรโมนักกีฬาในเว็บไซต์อยู่ รวมถึงแผนโฆษณาในประเทศอื่นๆ ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ
ค่าเสียหายของญี่ปุ่น
โดยเฉลี่ยแล้ว ค่าจัดงานโอลิมปิกฤดูร้อนไม่รวมพาราลิมปิกอยู่ที่ 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.97 แสนล้านบาท) แต่โตเกียวโอลืมปิกจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่านั้นมาก ด้วยการเลื่อนงานถึงหนึ่งปี และการรับมือกับสถานการณ์โควิดที่ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่ไม่เคยมีมาก่อนในอดีต
หลังจากเลื่อนไปหนึ่งปี ค่าใช้จ่ายรวมของโตเกียวโอลิมปิกมีการประมาณมูลค่าอยู่ที่ 1.644 ล้านล้านเยน (ประมาณ 4.92 แสนล้านบาท) ซึ่งสูงกว่าค่าใช้จ่ายปกติในการจัดโอลิมปิกถึง 158%
ก่อนที่สถานการณ์โควิดจะเกิดขึ้น ทาง IOC วางแผนไว้ว่าจะจำหน่ายตั๋วประมาณ 630,000 ใบให้แก่ผู้ชมที่จะบินเข้ามาดูการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิกจากทั่วโลก ทว่า ด้วยสถานการณ์ฉุกเฉิกในโตเกียวที่ไม่อนุญาตให้มีคนดู ทางผู้จัดจะเสียรายได้ประมาณ 9 หมื่นล้านเยน (ประมาณ 2.69 หมื่นล้านบาท) ไปโดยปริยาย ซึ่งทาง IOC และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะประชุมเรื่องการแบ่งค่าใช้จ่ายกันในภายหลัง
Takahide Kiuchi นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัย Nomura อธิบายว่า ถึงความเสียหายจะดูมาก แต่รวมๆ แล้วก็ไม่ถึง 1% ของขนาดเศรษฐกิจของญี่ปุ่นด้วยซ้ำ ยังมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดรายได้จากคนดูต่างประเทศ และคนที่ตัดสินใจเดินทางมาที่ประเทศญี่ปุ่นหลังโอลิมปิกจบลง
“ร้านอาหารและโรงแรมที่ลงทุนเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวไปแล้ว จะไม่ถือเป็นการเสียเงินเปล่าแน่นอน” Takahide กล่าวเสริม
สรุป
ในสถานการณ์ปัจจุบัน ความเสี่ยงต่อญี่ปุ่นที่ใหญ่ที่สุดคือการเกิดเหตุการณ์ Super Spreader ขึ้น ซึ่งจะทำให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจช้าลง รวมถึงเพิ่มค่าใช้จ่ายของรัฐบาล และทำให้ประชาชนเดือดร้อนมากกว่าแน่นอน
ที่มา – CNN, Asia Nikkei 1 2, WSJ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา