เปิดรายได้ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (BEM) ในวันที่โควิดรุนแรงกว่าเก่า เมื่อการจัดการโควิดของไทยไม่ดีเท่าที่ควรบวกกับการระบาดของสายพันธ์เดลต้าที่รุนแรงกว่าเก่า ผู้ใช้จึงลดลงต่อเนื่องแถมไม่มีทีท่าฟื้นตัว
เป็นที่ทราบกันดีว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจชะงักงัน พนักงานออฟฟิศต้องทำงานทางไกล กิจการต่างๆ ทั้งรายใหญ่และรายย่อยก็อยู่ภายใต้ข้อจำกัดมากขึ้น เปิดร้านได้ภายใต้เวลาจำกัด บางธุรกิจไม่สามารถให้ลูกค้าเข้ามานั่งในร้านได้ และผลลัพธ์ของเรื่องนี้ก็สะท้อนออกมาในรูปของ “การเดินทางที่ลดลง”
คนใช้ทางด่วนลดลงต่อเนื่อง สะท้อนชัดโควิดทำเศรษฐกิจปิด
ข้อมูลการประกอบการของ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (BEM) สะท้อนชัดว่าการเดินทางลดลงเพราะโควิด ปริมาณจราจรบนทางด่วน และ รายได้ค่าผ่านทาง สัมพันธ์กับการแพร่ระบาดอย่างเห็นได้ขัด ยิ่งโควิดกระทบหนักจนต้องใช้การควบคุมเข้มงวดมากเท่าไหร่ผู้ใช้รถใช้ถนนก็ยิ่งลดลงมากเท่านั้น
ลองประเมินจากปริมาณจราจรย้อนหลังจะเห็นได้ชัด
- ปริมาณการจราจรบนทางด่วนเฉลี่ยต่อวันในปี 2019 อยู่ที่ 1,237,260 เที่ยว/วัน คึกคักสุดในช่วง 10 ปี
- ปริมาณการจราจรบนทางด่วนเฉลี่ยต่อวันในปี 2020 เหลือ 1,049,100 เที่ยว/วัน เพราะการระบาดของโควิด-19 เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2019
- ปริมาณการจราจรบนทางด่วนเฉลี่ยต่อวันในปี 2021 (มกราคม-มิถุนายน) เหลือแค่ 870,050 เที่ยว/วัน เพราะประเทศไทยยังจัดการการระบาดได้ไม่ดีเพียงพอ ในขณะที่ไวรัสสายพันธุ์เดลต้าสร้างความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
รายได้จากค่าผ่านทางลดลงอย่างชัดเจน
ข้อมูลด้านรายได้ก็มีแนวโน้มในทิศทางเดียวกับปริมาณการจราจร คือลดลงตามความหนักของการแพร่ระบาดและความเข้มข้นของนโยบายควบคุมโควิด
- รายได้ค่าผ่านทางเฉลี่ยต่อวัน ปี 2019 อยู่ที่ 28.23 ล้านบาท
- รายได้ค่าผ่านทางเฉลี่ยต่อวัน ปี 2020 อยู่ที่ 23.20 ล้านบาท
- รายได้ค่าผ่านทางเฉลี่ยต่อวัน ปี 2021 (มกราคม-มิถุนายน) อยู่ที่ 18.95 ล้านบาท
โควิดคือปัจจัยหลักของรายได้ที่ลดลง
นอกจากนี้ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด ยังบอกเองว่าผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กระทบกิจการอย่างชัดเจน รายได้จากธุรกิจทางพิเศษในไตรมาส 1 ปี 2021 ลดลงมาเหลือ 1,873 ล้านบาท จากปี 2020 ที่เคยมีรายได้ถึง 2,300 ล้านบาท ลดลง 18.57%
โดยในจำนวนนี้ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด ระบุชัดว่าเป็นความเสียหายจากสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 349 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นสัดส่วนสูงสุดเมื่อเทียบกับสาเหตุหลักอื่นๆ ที่ทำให้รายได้ของบริษัทลดลง คือ
- การรับภาระภาษีมูลค่าเพิ่มของค่าผ่านทางหลังจากขยายสัมปทาน ตั้งแต่ 1 มีนาคม 2563 จำนวน 45 ล้านบาท
- การให้ความร่วมมือในการยกเว้นค่าผ่านทางในวันหยุดราชการในไตรมาส 1 จำนวน 33 ล้านบาท
ที่น่าจับตาดูต่อไปหลังจากนี้คือ สถานการณ์ด้านการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทย ที่กระจายไปทั่ว และยังต้องเผชิญความเสี่ยงของไวรัสสายพันธุ์เดลต้าที่สามารถระบาดได้รุนแรงกว่าเดิม มีผู้ติดเชื้อเกือบ 10,000 คน มาเกิน 1 สัปดาห์ ติดต่อกันจนรัฐบาลต้องยกระดับการควบคุมอีกครั้ง
ตอนนี้ ปริมาณการจราจรบนทางด่วนเฉลี่ยต่อวันอยู่ต่ำกว่าระดับค่าเฉลี่ยของปี 2021 มาตั้งแต่เดือนเมษายน สถานการณ์หลังจากนี้ยังไม่แน่นอนแต่ก็ไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นแต่อย่างใด
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา