เกาหลีใต้ ประกาศขยายวงเงินนโยบายกระตุ้นขนานใหญ่ Korean New Deal ขึ้น 30% เน้นสร้างสวัสดิการสังคมและการจ้างงานเพิ่ม สร้างความมั่นคงให้กับประชาชนในสังคม
มุน แจ-อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ประกาศขยายวงเงินงบประมาณสำหรับ Korean New Deal หรือ แผนกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ เป็น 220 ล้านล้านวอน หรือ 6.25 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณเดิมที่เคยตั้งงบเอาไว้ที่ 160 ล้านล้านวอน หรือ 4.55 ล้านล้านบาท เกือบ 30%
Korean New Deal คือนโยบายกระตุ้นที่ประกาศใช้เมื่อวันนี้ในปีที่แล้วเพื่อต่อสู้กับภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19 เมื่อปีที่ผ่านมาเกาหลีระบุว่า ภายใน Korean New Deal จะมีนโยบายที่เป็นเสาหลัก 2 ด้าน คือ Digital New Deal กับ Green New Deal แต่ก็มีการพูดถึงนโยบายที่เสริมสร้างการจ้างงานและนโยบายสวัสดิการสังคม
ด้วยจำนวนวงเงินที่มหาศาลและเป้าหมายที่ระบุไว้ในแผน Korean New Deal จึงไม่ใช่แค่นโยบายเพื่อผลักเกาหลีออกจากภาวะชะงักงันเท่านั้น แต่เป็นแผนเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจแบบใหม่ มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล และมีการเตรียมความพร้อมในการผลักดันอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ไม่ใช่แค่เพิ่มงบประมาณ แต่ตั้งเสาหลักนโยบายต้นที่ 3 เพิ่ม
ก่อนหน้านี้ เกาหลีเคยระบุไว้กว้างๆ ว่าจะพัฒนาด้านการจ้างงานและสวัสดิการสังคม แต่ล่าสุด รัฐบาลระบุว่าจะมีการทุ่มเงินกว่า 1 แสนล้านวอน หรือ 2.84 พันล้านบาท ไปกับนโยบายเสาหลักอีก 1 เสา คือ Human New Deal หรือนโยบายเพื่อขยายและพัฒนาความสนับสนุนในนโยบายการจ้างงานและสวัสดิการสังคมเพิ่มเติม
ตอนนี้ Korean New Deal ในปี 2021 จึงประกอบด้วยนโยบาย 3 ด้าน คือ
- Digital New Deal: นโยบายเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
- Green New Deal: นโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- Human New Deal: นโยบายการจ้างงานและสวัสดิการสังคมเพื่อความมั่นคงมนุษย์
รัฐบาลเตรียมมอบความช่วยเหลือสูงสุดให้กับบริษัทในการสร้างแรงงานที่มีทักษะในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ซอฟต์แวร์ เซมิคอนดัคเตอร์ ชีวการแพทย์ และยานยนต์แห่งอนาคต เป็นต้น
[Opinion] หากจะมีบทเรียนอะไรในเรื่องนี้ให้กับประเทศไทย ก็คงต้องพูดถึงนโยบายเยียวยาให้กับผู้คนทั่วไปในสังคม อย่างเกาลีใต้ ก็มีความจริงจังตั้งแต่การระบาดเริ่มส่อเค้ารุนแรงในช่วงแรกๆ ในการดูแลเรื่องสวัสดิการที่คอยรองรับผู้คนในสังคมให้มีความมั่นคงเพียงพอแม้ในยามยากลำบากในช่วงโควิด
ในทางกลับกันประเทศไทยเพิ่งจะขยายนโยบายเยียวยาแรงงานและผู้ประกอบการ ม.33-ม.39-ม.40 และเพิ่มประเภทกิจการที่เข้าข่ายได้รับสิทธิเยียวยาเป็น 9 ประเภท แม้ไทยจะมีประสบการณ์จากการระบาดหลายครั้งว่าผู้ประกอบการรายย่อยและประชาชนคนทั่วไปคือผู้ที่ได้รับความยากลำบากมากที่สุดในการดำรงชีวิตในยุคนี้ก็ตาม
ที่มา – YNA, The Diplomat, Ministry of Economy and Finance
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา