เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ชื่อเรียก “เสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย” ย่อมหมายถึงไทย และแม้วันนี้ไทยจะทำไม่สำเร็จ แต่โลกก็ไม่ได้หยุดหมุนไปไหน เพราะเสือตัวใหม่แห่งเอเชียดูเหมือนจะเป็น “บังคลาเทศ” เนื่องจากเศรษฐกิจมีอัตราการเติบโตสูงเฉลี่ยมากกว่า 6% ทุกปีในรอบ 1 ทศวรรษที่ผ่านมา
บังคลาเทศ เศรษฐกิจโต เพราะการส่งออก
เสือแห่งเอเชียในปัจจุบันมีทั้งหมด 4 ประเทศคือ ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน แต่ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมานี้ เศรษฐกิจของบังคลาเทศมีการเติบโตที่น่าจับตามอง ดูได้จากอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีหรือ Annual Growth Rate ที่สูงกว่า 6% ในโดยตลอด การขยายตัวทางเศรษฐกิจนี้มาจากการส่งออกของอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มหรือเสื้อผ้า โดยสถิติจาก CIA World Factbook ระบุว่ามีสัดส่วนการส่งออกมากกว่า 80% ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ในเอเชียอย่าง Gareth Leather และ Krystal Tan จาก Capital Economics ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า บังคลาเทศยังได้เข้าไปมีสัดส่วนถึง 2 ใน 3 ของส่วนแบ่งตลาด (market share) ระดับล่างร่วมกับจีนในยุโรปอีกด้วย
แต่ถ้าบังคลาเทศอยากที่จะขยับเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจให้แตะไปถึง 8% ในปี 2020 น่าจะต้องมองหาตลาดใหม่ๆ ที่นอกเหนือไปจากอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มหรือเสื้อผ้า เป็นต้นว่า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือสินค้าอื่นๆ ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้ได้
ไปดูในตลาดหุ้นของบังคลาเทศพบว่า หุ้น DSE 30 พุ่งขึ้น 15.5% ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ และยังเพิ่มขึ้นอีก 2.3% ในสัปดาห์แรกของไตรมาสที่สองของปีนี้ด้วย
ปัญหาที่ต้องเร่งแก้ หากจะก้าวขึ้นเป็นเสือตัวใหม่
แม้ว่าตลาดในบังคลาเทศจะขับเคลื่อนด้วยการเติบโตในภาคส่วนต่างๆ รวมถึงในตลาดหุ้นและการลงทุนของชาวต่างชาติ แต่สิ่งที่ต้องทำอันดับแรกคือปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เพราะประชาชนกว่า 20% หรือราวๆ 3.1 ล้านคนไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าเพื่อใช้งานได้ (บังคลาเทศมีประชากรทั้งหมดประมาณ 156 ล้านคน) หากทำให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานที่ดีได้ จะเอื้อต่อการลงทุนทางธุรกิจอย่างมหาศาล
อันดับต่อมาคือ การทุจริตคอร์รัปชั่น ถ้าใครเคยทำธุรกิจในบังคลาเทศจะทราบดีว่าเป็นปัญหาอย่างมากต่อการดำเนินธุรกิจ นักเศรษฐศาสตร์จาก Capital Economics บอกว่า ต้องสร้างกลไกที่ลดขั้นตอนการทุจริตให้ได้ อย่างเช่นลดขั้นตอนทางศุลกากร และทำให้ภาคเอกชนเข้าถึงเครดิตทางการเงินที่ดีขึ้นก็จะทำให้ตลาดมีความมั่นคงที่มากขึ้นตามไปด้วย
วิเคราะห์ปัจจัยอะไรที่ทำให้สำเร็จ
Hasnain Malik หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและนักวิจัยจาก MENA and South Asia วิเคราะห์ว่า ปัจจัยที่หนุนเสริมต่อความสำเร็จของบังคลาเทศ ได้แก่
- ความมั่นคงทางการเมืองภายในประเทศของบังคลาเทศเอง
- ความได้เปรียบเชิงพื้นที่ หรือเรียกว่าภูมิรัฐศาสตร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากชาติมหาอำนาจแห่งภูมิภาคนี้คือ จีนและอินเดีย
- การเติบโตของเศรษฐกิจมหภาคและสกุลเงินที่มั่นคง
- การเติบโตอย่างรวดเร็วของเมืองและประชากร
- บริษัทมหาชนใหญ่ๆ กว่า 20 แห่งทั่วโลกที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ให้โอกาสทางธุรกิจกับบังคลาเทศโดยตรง
แน่นอนว่าด้วยปัจจัยหนุนเสริมเหล่านี้ทำให้บังคลาเทศมีศักยภาพที่จะก้าวขึ้นมาเป็นเสือตัวต่อไปแห่งเอเชีย แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเราเชื่อว่าในป่าแห่งเอเชียอันกว้างขวางนี้ ยังสามารถมี “เสือ” ได้อีกหลายตัว ประเทศไทยในฐานะที่เคยเป็นผู้ที่ถูกจับตามองในอดีต น่าจะต้องทบทวนบทเรียน และมองสถานการณ์เหล่านี้อย่างเรียนรู้เสียที
ที่มา – Business Insider
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา