รอแค่อากาศร้อนไม่ได้ Saijo Denki ชูนวัตกรรม-รุกตปท. ขึ้นเบอร์หนึ่งตลาดเครื่องปรับอากาศใน 5 ปี

ตลาดเครื่องปรับอากาศจะเติบโต หรือลดลง ตัวแปรหลักๆ ก็คงไม่พ้นสภาพอากาศ เพราะยิ่งร้อน สินค้าตัวนี้ก็ยิ่งขายดี แต่ปีนี้ฝนในประเทศไทยยังตกต่อเนื่อง และไม่ร้อนสุดๆ ซักที Saijo Denki จึงมองมุมใหม่ด้วยการสร้างจุดขายให้มากกว่าแค่คลายร้อน

อากาศไม่ร้อนคือปัญหาของตลาด

ภาพรวมตลาดเครื่องปรับอากาศ หรือ Air Condition ในประเทศไทยปี 2559 คิดเป็นมูลค่าทั้งหมด 25,000 ล้านบาท ผ่านผู้เล่นนับสิบแบรนด์ทั้งญี่ปุ่น, จีน และไทยที่จำหน่ายสินค้าตัวนี้กว่า 1.3 ล้านชุด แต่ด้วยสภาพอากาศที่ยังไม่ร้อนถึงที่สุด และยังมีมรสุมต่างๆ เข้ามาตลอด ทำให้ภาพรวมยอดขายไตรมาสแรกของตลาดนี้หดตัว 10-20% เมื่อเทียบกับเวลาเดียวกันในปีก่อน ดังนั้นคงต้องลุ้นกันว่าอากาศจะร้อนไปมากกว่านี้หรือไม่ เพราะฤดูกาลคึกคักของเครื่องปรับอากาศจะสิ้นสุดลงในเดือนพ.ค. ของทุกปี เพราะหลังจากนั้นก็จะเข้าหน้าฝน และหน้าหนาวตามลำดับ

ธันยวัฒน์ จิตติพลังศรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เล่าให้ฟังว่า ปกติแล้วผู้บริโภคจะลงทุนซื้อเครื่องปรับอากาศซักเครื่อง ตัวแปรหลักคืออากาศที่ร้อน เพราะต้องการสินค้าตัวนี้มาปรับอากาศตามชื่อ แต่ด้วยปีนี้ตัวแปรดังกล่าวไม่ทำงาน ผู้บริโภคก็ไม่ซื้อ ประกอบกับปัญหาสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ จนแบรนด์ต่างๆ ก็ต้องทำแคมเปญออกมากระตุ้นยอดขาย ทั้งการลดราคา หรือลดแลกแจกแถม เพื่อดึงกำลังซื้อออกมาจากผู้บริโภค และสุดท้ายตลาดเครื่องปรับอากาศคงไม่เติบโตอย่างหวือหวา และอย่างมาคงเพิ่มแค่ 5-10% เท่านั้น

ธันยวัฒน์ จิตติพลังศรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

“การแข่งขันช่วงนี้ค่อนข้างสูง แบรนด์ญี่ปุ่นที่เป็นเจ้าตลาดก็โหมอย่างหนัก และยังมีแบรนด์จีนหน้าใหม่ที่พร้อมเข้ามาเปิดตลาดไทยอยู่ตลอด เพราะจากปัจจัยที่ Donald Trump ประธานาธิบดีคนล่าสุดของสหรัฐอเมริกา ออกนโยบายให้สินค้าต่างๆ ที่จำหน่ายในสหรัฐฯ ต้องผลิตในสหรัฐฯ ซึ่งแบรนด์คู่แข่งของ Saijo Denki มองว่าคงไม่คุ้มที่จะรุกฝั่งนั้นต่อ ดังนั้นเป้าหมายของพวกเขาก็คือทวีปเอเชียที่ยังมีกำลังซื้อ โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีโอกาสสูงที่จะเห็นการทุ่มตลาด ซึ่งไม่เป็นผลดีกับทุกแบรนด์”

นวัตกรรมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม Saijo Denki เริ่มเห็นโอกาสในตลาดด้วยการนำนวัตกรรมต่างๆ มาช่วยสร้างความแตกต่างในตลาดเครื่องปรับอากาศ เช่นการนำเรื่องสุขภาพ และการประหยัดค่าไฟฟ้า มาเป็นตัวช่วยเพื่อทำให้บริษัทสามารถมียอดขาย และเติบโตอย่างยั่งยืนได้ เช่นล่าสุดเตรียมทำตลาดเครื่องปรับอากาศตระกูล Inverter Sure ทั้งหมด 21 รุ่น ตั้งแต่ใช้งานภายในบ้านที่ 9,000 BTU ถึงใช้งานภายในอาคารที่ 60,000 BTU ผ่านจุดเด่นเรื่องประหยัดไฟ 50% และระบบฟอกอากาศเทคโนโลยีเดียวกับห้องผ่าตัด ตามกระแสของผู้บริโภคที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น

เครื่องปรับอากาศตระกูล Inventer Sure

ขณะเดียวกันเครื่องปรับอากาศแบรนด์ไทยรายนี้ยังบุกตลาดต่างประเทศเต็มตัว โดยเฉพาะในญี่ปุ่น และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นได้แต่งตั้ง NLKL บริษัทเช่าวัสดุก่อสร้างเบอร์หนึ่งของญี่ปุ่น เป็นตัวแทนจำหน่าย (Distributor) ในญี่ปุ่นที่ให้เช่าเครื่องปรับอากาศตามอาคารต่างๆ รวมถึงการขายในพื้นที่อื่นๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ยังเตรียมทำตลาดในประเทศเยอรมัน และอิตาลีในปีนี้เช่นกัน เพื่อสร้างยอดขายในต่างประเทศให้มากกว่าสัดส่วน 30% ของรายได้รวม 2,100 ล้านบาทในปี 2559 และยังเตรียมสร้างโรงงานให้เพื่อขยายกำลังผลิตให้มากกว่า 3.6 แสนชุด/ปี อีกด้วย

เบอร์หนึ่งตลาดแอร์ไทยภายใน 5 ปี

สำหรับตลาดในประเทศไทยของ Saijo Denki ปัจจุบันมีส่วนแบ่งประมาณ 7% และติด 5 อันดับแรกของตลาดนี้ แต่หลังจากการนำนวัตกรรม และใช้ความเป็นแบรนด์ไทยที่ทำราคา รวมถึงเข้าใจผู้บริโภคได้ดีกว่า ทำให้ปีนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโต 10-20% และขึ้นเป็น 3 อันดับแรกของตลาดภายใน 3 ปีจากนี้ เนื่องจากโอกาสในตลาดไทยยังมีอีกมาก ผ่านครัวเรือนไทยเพียง 30% ที่มีเครื่องปรับอากาศ ต่างกับประเทศญี่ปุ่นที่ครอบครองถึง 99% ของครัวเรือน ที่สำคัญหากแผนการนำนวัตกรรมเข้ามาช่วย และทำราคาได้ตรงกับผู้บริโภคในไทย โอกาสที่บริษัทจะขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดภายใน 5 ปีก็มีสูง

สรุป

ตอนนี้เบอร์หนึ่ง และสองของตลาดเครื่องปรับอากาศต่างมีส่วนแบ่งในตลาดนี้ราว 20% เท่าๆ กัน ดังนั้นการจะก้าวขึ้นไปเป็นเบอร์หนึ่งของ Saijo Denki นั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบแน่นอน แต่การชูเรื่องนวัตกรรม และการทำราคาออกมาให้ตรงกับผู้บริโภคในไทย โอกาสนี้ก็คงไม่ยากเกินไปสำหรับแบรนด์ไทยที่มีอายุเกือบ 30 ปีจะขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของตลาดไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา