ตลาดหุ้นฮ่องกงชนะ บริษัทจีนไม่มีทางเลือกที่ดีกว่า หลังทางการทุบบริษัทจีนในตลาดหุ้นสหรัฐ

ตลาดหุ้นฮ่องกงกลายเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์มากที่สุด โดยหลายบริษัทกำลังเปลี่ยนแผนมา IPO ที่ฮ่องกงแทน หลังรัฐบาลจีนตามทุบบริษัทจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐ

ฮ่องกงได้เปรียบเพราะอยู่ใกล้

ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า ในขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐได้เปรียบด้านจำนวนและความหลากหลายของนักลงทุน แต่ฮ่องกงเองก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เหตุเพราะตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงเสนอให้บริษัทจดทะเบียนได้ง่ายขึ้น ในทั้งการ IPO และ Secondary Listing (จดทะเบียนอีกครั้ง หลังจากมีหุ้นอยู่ในตลาดหุ้นอื่นๆ อยู่แล้ว) รวมถึงเงินทุนมหาศาลจากนักลงทุนในฮ่องกงเอง และแรงกดดันจากทางการจีนอีกด้วย

นายธนาคารในฮ่องกงที่ทำงานด้าน IPO อธิบายว่า “การตรวจสอบจากจีนเกิดขึ้นเพราะรัฐต้องการควบคุมสถานที่ที่บริษัทจะจดทะเบียน รัฐบาลไม่ได้ต้องการขัดขวางช่องทางระดมทุนของบริษัท แต่แค่อยากให้จดใกล้ๆ บ้านเท่านั้น ซึ่งนี่ถือเป็นข้อได้เปรียบของฮ่องกง”

กฎระเบียบที่เอื้อต่อบริษัท

รัฐบาลจีนประกาศว่ากฎระเบียบด้านการจดทะเบียนในต่างประเทศกำลังถูกร่างใหม่ และจะตรวจสอบบริษัทที่ทำธุรกิจในตลาดหุ้นต่างประเทศมากขึ้น

ในขณะเดียวกัน ส่วนมากบริษัทจีนที่จดทะเบียนต่างประเทศใช้โครงสร้างบริษัทที่เรียกว่า Variable Interest Entity (VIE) ซึ่งทำให้ส่งกำไรออกนอกประเทศนั้นได้ง่ายขึ้น ซึ่งตลาดหุ้นในจีนไม่รองรับโครงสร้างบริษัทแบบนี้ แต่ตลาดหุ้นฮ่องกงรับได้ในบางกรณีในไม่กี่ปีมานี้ โดยเฉพาะการจดทะเบียนให้บริษัทที่มีหุ้นสองประเภท (dual class share) หรือยังไม่มีกำไร ซึ่งครอบคลุมบริษัทเทคโนโลยีหลายรายในตลาด

Ke Yan นักวิเคราะห์ IPO ที่ DZT Research กล่าวว่า “ในด้านของการทำตามกฎระเบียบด้านการปกป้องและใช้งานข้อมูลส่วนตัวลูกค้า บริษัทจีนน่าจะเสี่ยงน้อยกว่าถ้าเลือก IPO ที่ตลาดหุ้นฮ่องกง ถ้าอยากจะ IPO ที่ต่างประเทศ บริษัทควรผ่านการตรวจสอบจากรัฐก่อน แต่อย่างไรก็ตาม การจดทะเบียนที่ฮ่องกงน่าจะง่ายกว่าแน่นอน”

ในตลาดหุ้นฮ่องกงปี 2021 มีบริษัทจีนจำนวน 41 บริษัทที่ระดมทุนไปแล้ว 2.94 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 9.54 แสนล้านบาท) ซึ่งมากกว่าของปี 2020 ที่ 1.49 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.84 แสนล้านบาท)

ความขัดแย้งกับสหรัฐ

ด้วยความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีนท่ีมากขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา บริษัทจีนที่อยู่ในตลาดหุ้นสหรัฐหลายรายเช่น Alibaba, JD.com และ Baidu เลือกที่จะจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกงด้วย และระดมทุนไปกว่า 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท)

ในขณะเดียวกัน ทางสหรัฐเองก็ปรับเปลี่ยนกฎหลายข้อที่ขัดขวางการ IPO ใหม่ๆ รวมถึงกำลังเตรียมเพิกถอนการจดทะเบียนของบริษัทที่ไม่ยอมให้ผู้ตรวจสอบบัญชีของสหรัฐดูด้วย ซึ่งจะครอบคลุมบริษัทจีนทั้งหมดตามกฎระเบียบของประเทศจีนที่ไม่ให้ข้อมูลรั่วไหลนอกประเทศ

อย่างไรก็ตามบริษัทสหรัฐที่ทำธุรกิจในฮ่องกงเองก็ไม่พอใจในอิทธิพลของจีนในฮ่องกงเช่นเดียวกัน

สรุป

ทางการจีนกำลังเริ่มยกระดับการควบคุมบริษัทของตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจจะเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนของตัวเองก็เป็นได้ ในการควบคุมข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญให้มิดชิด

ที่มา – Asia Nikkei

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา