วิเคราะห์การถอยทัพของ GoJek กับการบุกตลาดของ AirAsia ลุยบริการ Delivery

มีข่าวลือมาก่อนหน้านี้ว่า GoJek จะถอยทัพออกจากประเทศไทย หลังการควบรวมกับ Tokopedia บริษัทอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของอินโดนีเซีย เพื่อกลับไปผนึกกำลังรักษาตลาดใหญ่อย่างอินโดนีเซีย ข่าวนี้ได้รับการคอนเฟิร์มด้วยประกาศจาก แอร์เอเชีย ดิจิทัล หน่วยธุรกิจด้านดิจิทัลภายใต้กลุ่มแอร์เอเชีย เข้าซื้อกิจการของ Gojek ส่วนที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทย

gojek

GoJek ยุติบริการในไทย 31 ก.ค. 64

GoJek ประกาศถอยทัพอย่างเป็นทางการ โดยจะสิ้นสุดบริการภายใต้ชื่อ GoJek วันที่ 31 .. 64 หลังจากเริ่มให้บริการมาตั้งแต่ปี 2562 ภายใต้ชื่อ GET ก่อนจะเปลี่ยนเป็น GoJek มีบริการที่หลายคนเคยใช้อยู่ เช่น GoRide บริการรถรับส่ง, GoFood บริการ Food Delivery, GoSend บริการส่งพัสดุเอกสาร และ GoPay บริการชำระเงิน

ถือว่าครบถ้วนในบริการหลักๆ ที่กลุ่ม Delivery Service มีอยู่ในเวลานี้ โดยระหว่างนี้ AirAsia ได้เข้ามาเตรียมการสำหรับเปิดตัว “Super App” ใหม่ ซึ่งคาดว่าจะให้เริ่มให้บริการหลังจากวันที่ 31 ก.ค.​ เป็นต้นไป แต่จะมีการเปลี่ยนชื่อในทันทีหรือไม่ ต้องรอติดตาม

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้ใช้งานต้องรีบดำเนินการคือ ถอนเงินจาก GoPay ภายในวันที่ 31 ก.ค. 64 ทาง GoJek ประกาศว่าจะมีการปิดระบบการเติมเงินเข้าอีวอลเลตตั้งแต่วันที่ 7 ก.ค. แต่เงินที่อยู่ในอีวอลเลตยังใช้เพื่อชำระค่าบริการต่างๆ ได้ แต่เงินจะต้องถูกใช้ให้หมดหรือถอนออกก่อนวันที่ 31 ก.ค. 64

อีกหนึ่งวัตถุประสงค์ คือ การขายกิจการ GoJek ในประเทศไทย จะทำให้ GoJek มีเงินสำหรับลงทุนในสิงคโปร์และเวียดนามเพิ่มมากขึ้นด้วย

airasia
ภาพจากเว็บไซต์​ GoJek

AirAsia กับการก้าวสู่ Super App และ Food Delivery

Super App หรือ ซูเปอร์แอพ เป็นแนวคิดที่ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

แนวคิดของ Super App คือ แอพที่รวมบริการหลากหลายไว้ภายในแอพเดียว ผู้ใช้มีแอพนี้เพียงแอพเดียว สามารถใช้บริการได้แทบทุกอย่างโดยไม่ต้องพึ่งพาแอพอื่นๆ เรียกว่ามี Ecosystem ที่สมบูรณ์ในตัวเอง ตัวอย่างที่เริ่มเห็นในประเทศไทย เช่น LINE ที่เร่ิมจากแชทและต่อยอดไปสู่บริการอื่นๆ แม้แต่ GoJek เองในอินโดนีเซีย ก็มีความเป็น Super App เช่นเดียวกัน

สำหรับ AirAsia Digital เป็นธุรกิจด้านดิจิทัลและธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่ใช่สายการบิน รวมถึงเรื่องของ อาหารและอาหารสด และช่องทางการชำระเงิน (Payment) เป็นสิ่งที่ AirAsia มีอยู่แล้ว แต่ยังขาดบริการเรียกรถเมื่อเปรียบเทียบกับผู้เล่นรายใหญ่อื่นๆ ในตลาด

และต้องบอกว่า Food Delivery ไม่ใช่บริการใหม่ เพราะมีบริการ AirAsia food ที่มาเลเซียมาสักระยะหนึ่งแล้ว เพื่อสร้าง Super App ให้เกิดขึ้น ดังนั้นการซื้อ GoJek ในไทยจึงเป็นแผนการเสริมแกร่งในธุรกิจนี้

airasia food

มองตลาด Delivery การแข่งขันที่ไม่ธรรมดา

เมื่อเทียบกับผู้ให้บริการรายอื่นๆ เช่น Tokopedia ที่ควบรวมกับ GoJek นั้น มีบริการในอินโดนีเซียเป็นหลัก ส่วน GoJek อยู่ในอินโดนีเซีย, เวียดนาม, สิงคโปร์ และไทย (ซึ่งกำลังขายให้ AirAsia) เป็นไปได้ว่า กลุ่มบริษัทนี้จะถอยออกไปจากประเทศไทย ซึ่งมีการแข่งขันที่รุนแรง

ขณะที่คู่แข่งอย่าง Grab ให้บริการใน 8 ประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในไทยมีการลงทุนจากกลุ่มเซ็นทรัลไปก่อนหน้านี้ รวมถึง Sea Group ที่ให้บริการภายใต้แบรนด์ Shopee ให้บริการ 6 ประเทศในภูมิภาคนี้ ซึ่งล่าสุดเตรียมเข้าสู่ตลาด Food Delivery ในไทยด้วย Shopee Food

นอกจากนี้ยังมีผู้ให้บริการรายหลักอย่าง Foodpanda ที่แข็งแกร่งในหัวเมืองต่างๆ ทั่วประเทศไทย Robinhood บริษัทในเครือของ SCB ก็มาแรงและเตรียมขยายไปธุรกิจด้านท่องเที่ยวในต้นปี 2565 และต้องไม่ลืม TrueFood ซึ่งเป็นของกลุ่ม True บริษัทในเครือ CP เจ้าสัวใหญ่ของไทยอีกราย

Gojek Indonesia
ภาพจาก Shutterstock

ข้อมูลจาก Momentum Works บริษัทวิจัยการตลาดจากสิงคโปร์ระบุว่า GrabFood ครองส่วนแบ่งตลาด 50% ของตลาดส่งอาหารของประเทศไทยที่มีมูลค่า 2.8 พันล้านดอลลาร์ในปี 2020 ในแง่ของมูลค่าสินค้ารวม ในขณะที่ Foodpanda ของ Delivery Hero Group ที่จดทะเบียนในแฟรงก์เฟิร์ตและ LINE MAN มีส่วนแบ่งตลาด 23% และ 20% ตามลำดับส่วน GoFood ของ Gojek มีส่วนแบ่งตลาด 7%

airasia

ทางแอร์เอเชีย ก็เตรียมพร้อมให้ดาวน์โหลดโมบายแอพ แพลตฟอร์มไลฟ์สไตล์ ที่มากกว่าแค่จองตั๋วเครื่องบิน สามารถเข้าไปดูได้ที่ www.airasia.com/aa/appdownload/

Source

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา