สบขุ่นโมเดลคือพื้นที่บริเวณบ้านสบขุ่น ตำบลป่าคา อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน อยู่ห่างไกลจากตัวเมืองราว 80 กิโลเมตร เป็นภูเขาสูงที่ชุมชนอาศัยอยู่ในที่ราบลุ่ม ราบสูงหรือบนภูเขามานาน หลายสิบปีมานี้มีการทำเกษตรกรรมแบบพออยู่พอกิน แต่หลังจากกระแสโลกาภิวัตน์เข้ามา โลกเปลี่ยนไป 10 ปีให้หลัง จึงปรากฎภาพดอยหัวโล้น ภูเขาหัวโล้นขึ้น
จอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐ เครือเจริญโภคภัณฑ์เล่าให้เราฟังว่า เมื่อเกิดปรากฎการณ์ภูเขาหัวโล้นขึ้น คนส่วนใหญ่มองว่าเกิดจากการทำพืชเกษตรเชิงเดี่ยว แต่ถ้าศึกษากันจริงจังแล้วพบว่า ข้าวโพดดอยมีมิติที่ซับซ้อนหลากหลาย ทั้งเรื่องสิทธิที่ดินทำกิน รวมทั้งระบบสาธารณูปโภคทั้งน้ำ ไฟฟ้า ตลอดจนปัญหาความยากจน ไร้ที่ทำกิน
จากปัญหาภูเขาหัวโล้น สู่การสร้างระบบตรวจสอบย้อนกลับ
จากนั้นราวปี 2558 ศุภชัย เจียรวนนท์ซึ่งเป็นประธานด้านความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้รับมอบหมายจากท่านประธานอาวุโสธนินท์ เจียรวนนท์ให้มาดูแลเรื่องความยั่งยืน ท่านบอกว่า ปัญหาข้าวโพดดอยมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจเครือซีพีด้วย กล่าวคือธุรกิจการรับซื้อข้าวโพดเพื่อผลิตเป็นอาหารสัตว์ ท่านเลยเห็นว่ากลุ่มรับซื้อธุรกิจข้าวโพดจะต้องตรวจทานดูว่า ข้าวโพดที่เครือซีพีซื้อยังส่งผลหรือละเลยในเรื่องใดบ้าง จึงนำไปสู่การสร้างระบบตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาวัตถุดิบไม่ใช่เฉพาะข้าวโพดแต่ตรวจสอบวัตถุดิบทุกประเภทที่นำมาทำอาหารสัตว์
สิ่งแรกที่ทำคือ การตรวจสอบดูว่าสินค้าที่เครือซีพีรับซื้อปลูกในพื้นที่ที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ต้องมีการลงทะเบียนตั้งแต่แปลงปลูกจนถึงผู้ซื้อลำดับหนึ่งและสองจนมาถึงโรงงานของเครือซีพี รวมถึงระบบโลจิสติกส์ต่างๆ ซึ่งระบบตรวจสอบย้อนกลับของเครือซีพี เริ่มทำมาตั้งแต่ 1 มกราคมปี 2559 และทำตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
ปัญหาเกษตรกรในพื้นที่เขาหัวโล้น ขาดแคลนองค์ความรู้และทุนในการหาอาชีพใหม่
ศุภชัยเดินทางไปจังหวัดน่านครั้งแรกเมื่อสิงหาคม 2558 ปัญหาที่พบนั้น ต้องเร่งเข้ามาช่วยแก้ไข เป็นปัญหาของชาติเนื่องจากว่าปัญหามีหลายมิติซับซ้อน สิ่งที่ชาวบ้านตอบศุภชัยว่าทำไมปลูกข้าวโพด เพราะเขาไม่รู้ว่าจะไม่ปลูกหรือทำอาชีพอะไร ณ วันนั้น ศุภชัยคุยกับชาวบ้านว่าลองร่วมกันทำ ลดพื้นที่ปลูกข้าวโพด หาพืชตัวอื่นที่มีมูลค่าสูงกว่า เพื่อลดการขยายพื้นที่ออกไป ให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นโดยที่ไม่ต้องขยายพื้นที่เพิ่ม นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของสบขุ่นโมเดล
สบขุ่นโมเดลเกิดจากการศึกษาโมเดลต่างๆ ของแต่ละทีมทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคมที่ทำเรื่องการฟื้นฟูป่าหลายภาคส่วน โดยมูลนิธิปิดทองหลังพระแก้ไขปัญหานี้อยู่ก่อนหน้าแล้ว จากนั้นได้ให้คำแนะนำให้มาดูที่หมู่บ้านนี้เพิ่ม
การเลือกสบขุ่นเพื่อทำเป็นสบขุ่นโมเดลนี้ ปัจจัยหลักคือการฟื้นฟูทรัพยากร ทำอย่างไรให้พื้นที่ป่าไม่ถูกบุกรุกเพิ่มและฟื้นฟูพื้นที่ป่ากลับมา โดยที่เกษตรกรก็มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย แนวคิดดังกล่าวจึงมาลงตัวที่โมเดลสร้างป่า สร้างรายได้ เป็นโครงการของสมเด็จพระเทพฯ ซึ่งอยู่ที่อำเภอบ่อเกลือและอำเภอเฉลิมพระเกียรติ เครือซีพีจึงนำโมเดลนี้มาใช้กับหมู่บ้านสบขุ่น
โมเดลการฟื้นฟูป่าและทำให้มีอาชีพ สร้างรายได้ จำเป็นต้องมีพืชเศรษฐกิจหลัก ในที่นี้คือกาแฟ ทางเครือซีพีต้องศึกษาพื้นที่หมู่บ้านสบขุ่นว่าเหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกหรือไม่ ก็พบว่าพอมีความเหมาะสมอยู่บ้าง จากนั้นก็ศึกษาว่าควรนำกาแฟพันธุ์ใดมาปลูก ก็สรุปที่พันธุ์อราบิก้าเชียงใหม่ 80 เมื่อสำรวจดูตลาดว่าใครจะเป็นผู้รับซื้อได้บ้างก็พบว่า บริษัทภายในเครือฯ ของเรามีกลุ่มธุรกิจที่ทำกาแฟอยู่ จึงค่อยๆ พัฒนาแผนในการเลือกพันธุ์ การบริหารจัดการส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จากนั้นก็ศึกษาว่าครัวเรือนหนึ่งไม่ควรปลูกเกิน 12 ไร่ ใช้การพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป
ช่วงแรกจอมกิตติ ยอมรับว่าลำบากมาก การปลูกกาแฟชนิดนี้ในพื้นที่นี้ต้องมีไม้พี่เลี้ยง ทางกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตร ได้ให้คำแนะนำว่าเขามีต้นถั่วมะแฮะ อีกสามเดือนจะขึ้นสูงเป็นไม้พี่เลี้ยงให้ต้นกาแฟ อยู่ได้ยาวนาน 3 ปี ระหว่างนั้นเกษตรกรก็ปลูกกาแฟ ปลูกไม้ป่าอย่างอื่นเสริมเพื่อให้ระดับการโตเท่าๆ กัน เมื่อถั่วมะแฮะล้มก็ยังมีไม้อื่นๆ ได้
ปีนี้ปีที่ 5-6 แล้วหลายแปลงเป็นตามโมเดลสร้างป่า สร้างรายได้ ต้นกาแฟเก็บผลผลิตได้แล้ว ไม้พี่เลี้ยงก็มีอยู่เต็มพื้นที่ เมื่อเก็บผลผลิตกาแฟในปีที่สามได้ ก็สามารถเก็บได้อีกยาวนาน 20 ปี ปัจจุบันมีคนเข้าโครงการ 12 ไร่เพียงรายเดียว นอกนั้นก็ปลูกรายละ 5-6 ไร่
ทางเครือซีพีได้เข้ามาแบกรับความเสี่ยงช่วงระหว่างรอผลผลิตอีกราว 3 ปีด้วยการสนับสนุนทุนให้แก่กลุ่มวิสาหกิจจากการปลูกกาแฟให้ ทั้งต้นกล้า ปุ๋ยและระบบน้ำ โดยปีที่ 2-3 จะมีการดูแลรักษายาต่างๆ ช่วง 3-4 ปีแรก เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว ทางกลุ่มวิสาหกิจก็เรียนรู้การบริหารได้เอง ปัจจุบันนี้มีเกษตรกรบ้านสบขุ่นเข้าร่วมโครงการราว 1 ใน 3 ของหมู่บ้าน มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเนื่องจากในหมู่บ้านได้เห็นตัวอย่างจากเพื่อนข้างบ้านปลูกแล้วขึ้น ทำแล้วขายได้ก็มีแรงจูงใจในการทำ
แค่ปลูกและเก็บผลผลิตได้ยังไม่พอ ต้องบริหารได้ด้วยตัวเอง: เรียนรู้ผ่านการตั้งโรงแปรรูปของชุมชน
จอมกิตติเล่าว่า การที่ชาวบ้านเก็บเมล็ดเชอร์รี่หรือเมล็ดกาแฟขายให้พ่อค้าคนกลางก็ไม่ต่างอะไรกับพืชเศรษฐกิจเดิม ไม่มีทักษะในการเพิ่มมูลค่า เครือซีพีจึงศึกษาการตั้งโรงแปรรูปของชุมชนที่ตั้งในหมู่บ้านเลย ให้ชุมชนบริหารโดยสมาชิกกลุ่มของชุมชนเอง ให้ได้เรียนรู้การจัดการน้ำเสีย การจัดการ การค้าขายด้วยตัวเอง
นับตั้งแต่ปี 2559 เริ่มมีสมาชิกเพิ่มขึ้น ปัจจุบัน ตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนแปรรูปกาแฟบ้านสบขุ่น จดเป็นนิติบุคคล มีประธาน หัวหน้าฝ่าย ฯลฯ มีการบริหารงานชัดเจน เครือซีพีสอนเขาค้าขาย ปัจจุบันทีมงานของเครือซีพีก็ยังอยู่ในพื้นที่สบขุ่น ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ชาวบ้านได้เกิดการเรียนรู้
ตลาดที่รับซื้อผลผลิตตอนนี้เป็นบริษัทในเครือซีพี ถ้ารับแค่เพียงเมล็ดกาแฟของสบขุ่นตามปกติก็จะมีมูลค่าไม่สูง จึงตั้งเป็นแบรนด์กาแฟสบขุ่น ปัจจุบันมีสองร้าน ตั้งอยู่บริเวณสำนักงานความยั่งยืนจังหวัดน่านและพื้นที่บนหมู่บ้านของสบขุ่น มีชื่อร้านว่า “กาแฟบ้านสบขุ่น” การสร้างร้านนี้ก็เพื่อสร้างรายได้นอกภาคเกษตรเพิ่ม ในอนาคตก็จะพัฒนาให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยว
ต่อยอดความสำเร็จสบขุ่นโมเดล ขยายพื้นที่สู่ต้นแม่น้ำสายสำคัญของประเทศ
หลังจากที่พัฒนาพื้นที่สบขุ่นโมเดลให้พออยู่เติบโตต่อไปได้ จอมกิตติเล่าว่าคุณศุภชัยจึงให้พิจารณาพื้นที่ในเขตภาคเหนือเพิ่ม ทางเครือซีพีจึงขยายโมเดลต่อยอดไปยังต้นน้ำปิง อ. แม่แจ่ม จ. เชียงใหม่ ต้นน้ำวัง อ. แจ้ห่ม จ. ลำปาง และต้นน้ำยม อ.ปง จ.พะเยา โมเดลการพัฒนาพื้นที่เหล่านี้ได้ทำอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำสำคัญของประเทศไทย ปิง วัง ยม น่าน สี่ต้นน้ำนี้รวมตัวเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา
สบขุ่นโมเดลสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตเกษตรกร ไม่ใช่แค่เปลี่ยนความเชื่อและวิธีคิดที่เคยมีอยู่เดิมตั้งแต่ก่อนร่วมโครงการ แต่โมเดลดังกล่าวยังทำให้เห็นว่า มีความเป็นไปได้ หลายคนเริ่มลดละการทำเกษตรเชิงเดี่ยวเดิมเพราะพบข้อพิสูจน์แล้วว่า กลไกการค้าอยู่ในมือของพวกเขาเอง ทั้งโรงแปรรูป โรงกาแฟ สามารถผลิตกาแฟที่เป็นพืชเศรษฐกิจได้ตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ทำให้เขาเห็นตัวแบบและบอกต่อ พลิกฟื้นผืนป่าจากเขาหัวโล้นให้กลายเป็นแหล่งรายได้ที่สร้างโอกาสแก่ชีวิตเกษตรกรมากยิ่งขึ้น
สรุป
สบขุ่นโมเดลคือพื้นที่ตัวอย่างในการพลิกฟื้นพื้นที่เขาหัวโล้นให้กลายเป็นผืนป่าได้ ไม่เพียงช่วยแก้ปัญหาขยายพื้นที่รุกป่าให้ลดลง แต่ยังช่วยเพิ่มโอกาส เพิ่มทางเลือกในการสร้างรายได้ให้ประชาชนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมในพื้นที่เพิ่มขึ้นด้วย เราจึงได้เห็นความสำเร็จผ่านการฟื้นคืนผืนป่าผ่านโมเดลจากแหล่งต้นน้ำปิง วัง ยม น่าน และการพัฒนาคุณภาพชีวิตผ่านการทำงานรูปแบบใหม่ของเกษตรกรให้สามารถมีอยู่ มีกิน อยู่รอดได้ไปพร้อมๆ กับชีวิตป่าที่ฟื้นคืนมา
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา