ตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ทำให้คนต้องอยู่บ้านมากขึ้นจึงมองการซื้อขายหุ้นเป็นช่องทางหารายได้ ทำให้แต่ละวันมีนักลงทุนที่ “Active” คือ เข้ามาทำการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เป็นจำนวนสูงกว่าปีที่แล้วมากขึ้นเป็นอย่างมาก และปรากฏการณ์ตื่นตัวของนักลงทุนรายย่อยนี้ก็เป็นกันในตลาดทุนทั่วโลก ซึ่งผลก็คือเราจะเห็นเหตุการณ์ที่ระบบการซื้อขายหุ้นของตลาดหลักทรัพย์หลายๆ แห่งในโลกมีอาการสะดุดกันไปบ้าง แล้วสิ่งที่ผู้สนใจลงทุน หรือนักลงทุนทั่วไป ควรจะต้องเตรียมตัวอย่างไร
การที่ระบบการซื้อขายหุ้นสะดุดมักเกิดจากการที่นักลงทุนแห่เข้ามาซื้อขายกันในบางวันพร้อมๆ กันเกินกว่าขีดความสามารถที่ระบบมีไว้รองรับการซื้อขายในยามปกติได้ หรือแม้แต่มีสำรองไว้เผื่อแล้วก็ตาม ทั้งนี้เพราะไม่ว่าระบบใดๆ เมื่อคนแห่กันไปในเวลาเดียวกัน โดยไม่บอกล่วงหน้ามันก็ติดขัดทั้งนั้น เช่น หากเราแห่ไปร้านอาหารที่คนฮิตไปกันในเวลาเดียวกัน เราก็ต้องต่อคิวรอ ดังนั้นประสาอะไรกับระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ทุกระบบก็ต้องใช้เวลาในการประมวลผลด้วยแล้วเมื่อมีความสนใจของคนที่มาเข้าระบบพร้อมๆ กันก็มักเจออาการติดขัดบ้าง
ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนในต่างประเทศ เช่น การซื้อขายหุ้นในตลาดเวียดนามที่มีความคึกคัก มูลค่าการซื้อขายหุ้นต่อวันเพิ่มขึ้น จากเมื่อก่อน 2-3 เท่าตัว จากฐานนักลงทุนรายย่อยที่เพิ่มขึ้นได้ส่งผลให้ระบบการซื้อขายหุ้นติดขัดเป็นช่วงๆ ถึงขนาดที่ตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ได้มีการปรับจำนวนขั้นต่ำของการซื้อขายหุ้น จากเดิม 10 หุ้น เป็น 100 หุ้น ในเดือนมกราคม 2564 เพื่อที่จะลดจำนวนรายการซื้อขายให้น้อยลง เพื่อทำให้ระบบสามารถยังรองรับการซื้อขายต่อไปได้ ในระหว่างที่มีการปรับปรุงระบบการซื้อขาย ซึ่งต้องใช้เวลาในการแก้ไข ปัจจุบันการซื้อขายก็ยังมีการขัดข้องบ้างเป็นบางวัน หรือในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาในบางช่วงที่ตลาดผันผวนมากระบบซื้อขายของบริษัทหลักทรัพย์ ที่ให้บริการกับนักลงทุนรายย่อยก็มีติดขัดกันบ้างเช่นกัน ซึ่งกับตลาดหลักทรัพย์ไทยเราเองก็จะเจอเหตุการณ์เช่นนี้บ้าง ดังนั้นสิ่งที่นักลงทุนรายย่อยควรเตรียมตัวไว้มีอะไรบ้าง
ข้อแรก หากนักลงทุนที่มีบัญชีซื้อขายอยู่แล้ว แต่ลืม Username, Password, รหัส PIN ที่ต้องใช้ในการซื้อขาย หรือไม่ได้ซื้อขายนาน และไม่ได้อัปเดตข้อมูลกับบริษัทหลักทรัพย์ที่ใช้บริการให้ถูกต้องให้รีบติดต่อกับผู้แนะนำการลงทุนเพื่อจัดการให้เสร็จให้พร้อมสำหรับการเข้าใช้ระบบ เพราะบางทีบัญชีท่านอาจถูกล็อกไม่ให้ทำธุรกรรม เพราะท่านไม่ได้มาให้ข้อมูลอัปเดตสถานะกันตามที่หน่วยงานกำกับฯ ต้องการก็มีด้วย สำหรับผู้ที่ยังไม่มีบัญชีซื้อขายก็ควรรีบ ๆ เปิดให้มีไว้เถอะครับ เพราะถึงเวลาที่คุณอยากลงทุนแล้วหลายๆ คนแห่เข้ามาเปิดบัญชีพร้อมกันทุกอย่างมันก็ช้าลงอีกนั่นแหละ ดังนั้นเวลาบริษัทหลักทรัพย์มีเตือนให้คุณเข้าระบบมาทำโน่นทำนี่ก็ช่วยกันเข้ามาทำ เพื่อเตรียมความพร้อมไว้นะครับ
ข้อที่สอง จะซื้อหุ้นได้เราต้องมีเงินพร้อมก่อนซื้อ ดังนั้นควรโอนเงินให้พร้อมใส่ไว้ในบัญชีหลักทรัพย์ของท่านไว้เลยแต่เนิ่นๆ อย่าไปรอโอนกันในวันที่ท่านอยากจะซื้อ เพราะวันนั้นไม่ได้มีท่านที่อยากซื้อคนเดียว แต่ยังมีนักลงทุนอีกหลายคนที่อาจทำแบบเดียวกัน และเมื่อทุกคนแห่ทำรายการโอนเงินระบบก็มีความล่าช้าต้องรอคิวเป็นธรรมดา และที่สำคัญการลงทุนที่ดีควรเป็นการจัดสรรเงินมาไว้แยกต่างหาก จากเงินที่ท่านจำเป็นต้องใช้เลย เพื่อเป็นเงินออมจริงๆ และที่สำคัญการทิ้งเงินไว้ในบัญชีซื้อขายหุ้นกับบริษัทหลักทรัพย์ท่านยังก็ได้รับดอกเบี้ยเช่นกัน
ล่าสุดเมื่อ 1 กรกฎาคม 2564 นี้ สำนักงาน ก.ล.ต. ได้กำหนดให้ลูกค้าที่เข้าระบบซื้อขายหุ้นทางออนไลน์จะต้องมีการยืนยันตัวตนแบบ 2 ขั้นตอน (2 Factor Authentication หรือ 2FA) คือ นอกจากจะจำรหัสผู้ใช้, รหัสผ่าน และรหัสประจำตัว (PIN) เพื่อใช้ทำธุรกรรมแล้ว ท่านจะต้องสามารถกรอกข้อมูลรหัสที่ส่งไปในเครื่องมือสื่อสารส่วนตัวของท่าน เพื่อใช้ในการเข้าระบบอีก ซึ่งสำหรับท่านที่เข้าระบบผ่านคอมพิวเตอร์ท่านจะต้องพกมือถือไว้ใช้รอรับรหัส SMS OTP เพื่อนำมากรอกในการเข้าระบบทุกครั้ง แต่หากท่านใช้อุปกรณ์สื่อสารอื่น ๆ เช่น โทรศัพท์มือถือหรือไอแพด ก็ทำเพียงครั้งแรกครั้งเดียว แต่ถ้าเปลี่ยนหรือเพิ่มเครื่องอีกก็ต้องทำเพิ่ม ดังนั้นมือถือจะยิ่งกลายเป็นอีกอวัยวะที่สำคัญของเราที่ต้องติดตัวกันตลอด ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อเป็นการเพิ่มความมั่นใจในการใช้บริการทางการเงินผ่านระบบอินเทอร์เน็ตให้มีความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าอาจไม่สะดวกในช่วงแรกๆ ที่ต้องมีการปรับตัว หวังว่าสักพักก็ค่อยๆ ปรับกันไปให้ดีขึ้นครับ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา