“ความสุขทุกสิ่งเป็นจริงที่ Singer” คือสโลแกนที่หลายคนคงคุ้นชิน และถ้าเป็นคนยุคเก่าๆ คงรู้จักกับแบรนด์นี้ผ่านจักรเย็บผ้าที่มีความทนทาน แต่รู้หรือไม่ว่า Singer ไม่ได้มีแค่นั้น เพราะมากไปด้วยสินค้า และระบบเช่าซื้อที่ทำให้ซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น
ทุกบ้านต้องมีสินค้าของ Singer
หากไม่นับจักรเย็บผ้าที่หลายบ้านคงวางไว้เฉยๆ Singer ในปัจจุบันมีการจำหน่ายสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านตั้งแต่หม้อหุงข้าว ไปจนถึงตู้เย็น และเครื่องปรับอากาศที่ปะแบรนด์ Singer ไว้ทุกตัว แถมคุณภาพ และราคาก็ไม่ได้แตกต่างกับแบรนด์ในท้องตลาดมากนัก พร้อมกับคงจุดเด่นเรื่องความทนทานของสินค้าไว้เช่นเดิม นอกจากนี้ยังมีสินค้ากลุ่ม Smartphone และกล้องถ่ายรูปที่ได้มาหลังจากการควบรวมกิจการกับ Jaymart รวมถึงกลุ่มสินค้าเพื่อการลงทุนค้าขาย หรือ Commercial เช่นตู้น้ำมัน, ตู้เติมเงิน และตู้แช่เย็น โดยทั้งหมดจำหน่ายด้วยวิธีขายตรง และใช้ระบบเช่าซื้อเป็นหลัก
กิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ กรรมการและผู้อำนวยการสายงานการขาย และการตลาด บมจ.ซิงเกอร์ ประเทศไทย เล่าให้ฟังว่า การทำตลาดของ Singer ในปีนี้ยังคงเน้นที่การเพิ่มสินค้าใหม่ๆ เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน และรถจักรยานยนต์ เพื่อต่อยอดเป้าหมายของบริษัทที่ต้องการให้ทุกบ้านใช้สินค้าของ Singer หรือที่จำหน่ายโดยพนักงานขาย จุดขายหลักของ Singer ที่สำคัญคือทนทาน เพราะขายแบบเช่าซื้อ จึงต้องใช้ได้นานมากกว่าระยะเวลาผ่อน แต่ที่แตกต่างในปีนี้คือการลงทุนระบบไอทีหลังบ้านกว่า 100 ล้านบาท เพื่อยกระดับบริการเช่าซื้อให้สะดวก, ปลอดภัย และสามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทอย่างยั่งยืน
“Singer เดินหน้าระบบเช่าซื้อมานานแล้ว เพราะเราวางตัวเป็นเพื่อนบ้านที่มีทุกอย่างหากคนที่อยู่ใกล้เคียงอยากซื้อสินค้า รวมถึงดูแลกันแบบถึงตัวด้วยพนักงานขายกว่า 13,000 คน แต่ด้วยก่อนหน้านี้ปัญหาเรื่องการทุจริตของการทำตลาดเช่าซื้อ เช่นผู้ซื้อไม่ยอมจ่าย หรือพนักงานขายเบิกของลอย รวมถึงไม่นำเงินโอนเข้าบริษัท ทำให้รายได้ของ Singer ค่อนข้าง Swing แต่จากนี้จะไม่มีอีกต่อไป เพราะระบบใหม่จะทำให้ผู้ขายก็มีหน้าที่ขาย ส่งข้อมูลผู้ซื้อด้วย Tablet เข้ามาที่สำนักงานเพื่อพิจารณาการปล่อยสินเชื่อ ส่วนผู้ซื้อก็สามารถชำระค่าสินค้าได้ที่ Counter Service และตามร้าน Singer 180 แห่งทั่วประเทศ”
เพิ่มทีม-จริงจังตามกระแส-ลด NPL
ขณะเดียวกัน Singer ยังเตรียมเพิ่มหน้าร้านให้เป็น 200 แห่ง และเพิ่มทีมพนักงานขายเป็น 20,000 คน พร้อมกับวางแผนการตลาดตามกระแสต่างๆ เช่นตอนนี้จะเข้าฤดูร้อน ก็ทำแคมเปญซื้อเครื่องปรับอากาศที่ผ่อนเพียงวันละ 33 บาท และตู้เย็นที่ผ่อนวันละ 22 บาท รวมถึงการเน้นหนักตามภูมิภาคที่ชาวบ้านเริ่มมีรายได้จากการท่องเที่ยว หรือผลผลิตทางการเกษตรที่ดี เช่นหากราคายางเริ่มกลับมาสูง ก็จะลงไปทำตลาดภาคใต้เพิ่มเติม ซึ่งจากแผนข้างต้น และการลงระบบใหม่ จะทำให้อัตราหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ของบริษัทจะลดลงต่ำกว่า 10% หรือดีที่สุดอยู่ที่ 7% ของการขายทั้งหมด
“ผมว่าตลาดเมืองไทยมันยังมีโอกาสอีกเยอะ เพราะถ้านับคนไทย 60 กว่าล้านคน ราว 37 ล้านคนอยู่ในวัยทำงาน แต่ถ้าเทียบกับจำนวนบัตรเครดิตในไทยที่มีเพียง 2 ล้านใบถือว่าน้อยมาก ดังนั้นการเช่าซื้อ หรือเรียกง่ายๆ ว่าซื้อแบบผ่อนชำระอย่างที่เราทำมันยังโตได้ ผ่านการที่ 30 กว่าล้านคนก็อยากซื้อสินค้าดีๆ แต่ไม่มีบัตรเครดิต ก็ไม่รู้จะผ่อนอย่างไร และกลุ่มชาวบ้านตามต่างจังหวัดก็มีรายได้ไม่เยอะ และไม่มีเงินก้อน อย่างล่าสุด Singer วางจำหน่ายเครื่องสีข้าวราคา 30,000 บาท ชาวนาก็เพียงวางเงินดาวน์ และผ่อนหลักพันก็สามารถเป็นเจ้าของ และนำไปต่อยอดอาชีพได้”
เศรษฐกิจแย่คือโอกาสของ Singer
อย่างไรก็ตามถึงจะยกระดับระบบเช่าซื้อ แต่ Singer ก็ยังเพิ่มทีมงานติดตามหนี้เป็น 200 คน จากเดิม 100 คน พร้อมกับร่วมมือกับ JMT บริษัทติดตามหนี้ในเครือของ Jaymart เพื่อช่วยแก้ปัญหากลุ่มผู้ซื้อที่ขาดชำระเป็นเวลานาน พร้อมกับยืนยันว่า ไม่มีการทำตลาดออนไลน์แน่นอน เพราะจุดเด่นของ Singer คือพนักงานขาย นอกจากนี้หากภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว หรือมีภัยธรรมชาติต่างๆ เข้ามา ตัวบริษัทก็สามารถทำตลาดได้ เพราะไม่ต้องมีเงินก้อน ขอแค่เดินมาหาพนักงานขายที่ข้างบ้าน วางเงินดาวน์ 15% และผ่อนแบบยาวๆ แค่ 1% ก็สามารถเป็นเจ้าของสินค้าของบริษัทได้แล้ว
สรุป
ชาวบ้าน และเกษตรกรถือเป็นกลุ่มแรกที่ทุกรัฐบาลจะสร้างนโยบายต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือ เช่นล่าสุดก็มีการเปิดลงทะเบียนคนจน และยิ่งกลุ่มนี้เป็นเป้าหมายหลักของ Singer ที่มียอดขายในต่างจังหวัดมากถึง 90% ก็ทำให้บริษัทสามารถเติบโตไปได้อีกไกล และกลายเป็นแพลตฟอร์มเช่าซื้อที่หลายๆ สินค้าคงอยากวิ่งเข้าไปให้ช่วยขายสินค้าให้
สำหรับรายได้ของ Singer ปี 2559 ปิดที่ 2,546 ล้านบาท มาจากการขายสินค้า 66% หรือ 1,680 ล้านบาท จากดอกเบี้ย 24% และอื่นๆ 10% ส่วนปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มยอดจากการขายสินค้าอีก 35% ของที่ทำได้ในปีก่อน ผ่านการจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน, Smartphone และกลุ่ม Commercial ในสัดส่วนราว 30% เท่าๆ กัน
ส่วนใครที่คิดถึงจักรเย็บผ้า ก็ยังหาซื้อได้ แต่ในพอร์ทของ Singer มีรายได้จากสินค้านี้เพียง 3% เท่านั้น
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา