ญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในประเทศที่สูบบุหรี่มากที่สุดในโลก แต่หลัง COVID-19 ระบาด ยอดขายบุหรี่ลดลงถึง 16.3% เพราะผู้บริโภคใส่ใจสุขภาพ ต่างกับ บุหรี่ไฟฟ้า ที่ยอดขายโตต่อเนื่องจนคิดเป็น 40% ของยอดขายบุหรี่ปกติ
บุหรี่ไฟฟ้า ยอดขายเติบโตในญี่ปุ่น
รายงานข่าวแจ้งว่า Tobacco Institute of Japan เปิดเผยผลสำรวจการสูบบุหรี่ในประเทศญี่ปุ่น โดยในปีปฏิทิน 2020 (สิ้นสุดเดือนมี.ค. 2020) ยอดขายบุหรี่ในญี่ปุ่นลดลง 16.3% เมื่อเทียบกับปี 2019 เหลือ 98,800 ล้านเยน ต่ำกว่า 1 แสนล้านเยนเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี
เหตุผลหลักที่ยอดขายบุหรี่ในญี่ปุ่นลดลงมีทั้งการใส่ใจสุขภาพของผู้บริโภค โดยปี 2020 ประชากรที่สูบบุหรี่ประจำแบ่งเป็นผู้ชาย 27.1% และผู้หญิง 7.6% ลดลงจาก 29% และ 8.1% ของปีก่อนหน้านี้ตามลำดับ รวมถึงการออกมาตรการห้ามสูบบุหรี่ในอาคารทั้งหน่วยงานราชการ, สำนักงาน และร้านอาหาร ทำให้การสูบบุหรี่ทำได้ยากขึ้น
นอกจากนี้กระแส Work from Home ทำให้ยอดขายบุหรี่ดั้งเดิมลดลงเช่นกัน เพราะการสูบบุหรี่ในบ้านทำได้ยาก และบุหรี่ไฟฟ้าบางตัวไม่มีกลิ่น ไม่มีควัน และไม่มีความเสี่ยงให้เกิดไฟไหม้ ผู้บริโภคจึงหันมาใช้บุหรี่ไฟฟ้ามากกว่าเดิม จนปี 2020 มียอดขายไส้บุหรี่ไฟฟ้ามากถึง 41,300 ล้านแท่ง คิดเป็น 40% ของยอดขายบุหรี่แบบดั้งเดิม
จากกระแสนี้เอง ผู้ผลิตบุหรี่ที่ทำตลาดในประเทศญี่ปุ่น เช่น Philip Morris ผู้ทำตลาดบุหรี่ไฟฟ้าแบรนด์ IQOS มีแผนหยุดจำหน่ายบุหรี่ดั้งเดิมที่ประเทศญี่ปุ่นในอีก 10-15 ปีข้างหน้า ส่วน Japan Tobacco มีแผนจะทำตลาดบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้นเช่นกันเพื่อประคองยอดขายที่หดตัวในปี 2020
สรุป
บุหรี่ไฟฟ้าเป็นที่นิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ก่อน แต่ด้วยการะบาดของโรค COVID-19 ทำให้กลุ่มวัยกลางคนเริ่มหันมานิยมบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น เพราะจุดเด่นเรื่องโทษต่อสุขภาพที่น้อยกว่า ทั้งสูบภายในบ้านได้โดยไม่รบกวนคนอื่น ดังนั้นต้องติดตามกันว่ากระแสนี้จะเกิดขึ้นในประเทศอื่นบ้างหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ คงไม่ใช่ไทยที่บุหรี่ไฟฟ้ายังผิดกฎหมาย
อ้างอิง // Japan Today
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา