กระแสหนึ่งที่ตอบโจทย์การผลิตสินค้าเกษตรในช่วงโควิด คือ การทำเกษตรในเรือนกระจกซึ่งสามารถควบคุมปัจจัยต่างๆ ได้ตามที่กำหนด เพราะก่อนหน้านี้ การปลูกผักมีข้อจำกัดด้านภูมิประเทศเพราะแต่ละที่ปลูกผักได้ไม่เหมือนกัน
ประเด็นก็คือ การแพร่ระบาดของโควิดทำให้การซื้อขายสินค้าเกษตรในระดับโลกมันหยุดชะงักลง ประเทศผู้ผลิตก็ไม่สามารถผลิตได้ตามปกติ ประเด็นนี้ยิ่งทำให้การซื้อขายสินค้าเกษตรมีปัญหาเข้าไปอีก
เกษตรกรรมในเรือนกระจกช่วยลดการขนส่งได้
Dirk Aleven ผู้อำนวยการของ Food Ventures ผู้ผลิตสินค้าเกษตรในเรือนกระจกระบุว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดการพัฒนาการเทคโนโลยีการเพาะปลูกในเรือนกระจกอย่างก้าวกระโดดเป็นเพราะห่วงโซ่การผลิตอาหารถูกทำลายจากการล็อคดาวน์ในปี 2020
การปลูกพืชในเรือนกระจกจะตัดปัญหาเรื่องการขนส่ง เพราะใช้เทคโนโลยีช่วยควบคุมปัจจัยต่างๆ ทำให้เพราะปลูกพืชได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงภูมิศาสตร์ อยากจะปลูกพืชเมืองหนาวในเขตร้อนก็ได้ การทำเกษตรกรรมในเรือนกระจกจะช่วยให้ในอนาคต เราไม่ต้องขนส่งสินค้าเกษตรกันไปมา เพราะสามารถผลิตในพื้นที่ได้เลย
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ FoodVentures บริษัทสัญชาติดัชต์ที่ได้ไปเปิดทำการในประเทศจีน นี่คือบริษัทที่ผลิตสินค้าเกษตรภายในเรือนกระจกโดยใช้เทคโนโลยีในการควบคุมปัจจัยด้านการเพราะปลูกระดับสูง
ข้อดีของการเกษตรในเรือนกระจกด้านอื่นๆ คือ
- ปลูกพืชได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงสภาพอากาศ
- ได้ผลผลิตสูงเพราะควบคุมปัจจัยได้
- ปลอดการใช้ยาฆ่าแมลงและยากำจัดศัตรูพืช
ชนชั้นกลางจีนเพิ่มขึ้น ความต้องการสินค้าคุณภาพมากขึ้น
ตอนนี้ประเทศจีนมีเศรษฐกิจที่พัฒนาไปอย่างรุดหน้า มีจำนวนชนชั้นกลางเพิ่มมากขึ้น นั่นหมายความว่ามีคนยอมจ่ายแพงขึ้นเพื่อสินค้าที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
ประเด็นสำคัญก็คือการปลูกพืชในเรือนกระจกที่ใช้เทคโนโลยีควบคุมปัจจัยการผลิตต่างๆ ทำให้ผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีเร่งผลผลิต ไม่ต้องใช้สารกำจัดแมลงและศัตรูพืช ควบคุมเรื่องความสะอาดได้ แถมยังมีความสด เพราะไม่ต้องผ่านการขนส่งทางไกล
ในประเด็นนี้ Xin Yi กรรมการบริหารฝ่ายความยั่งยืนของ Pinduoduo บริษัท E-Commerce ที่มีผู้ใช้มากที่สุดของจีน ออกมายืนยันว่า ในจีน ผู้บริโภคมีแนวโน้มยินดีจ่ายแพงเพื่อซื้อสินค้าที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น
พูดง่ายๆ ก็คือนี่คือสิ่งที่ตอบโจทย์การบริโภคในอนาคต
ที่มา – Reuters
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา