กองทุนรวมถือเป็นทางเลือกในการลงทุน สำหรับผู้ลงทุนที่ไม่มีเวลาในการติดตามสถานการณ์การลงทุนอย่างใกล้ชิด และต้องการกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ตราสารหนี้ (พันธบัตร หุ้นกู้) ตราสารทุน (หุ้น) และ ตราสารชนิดอื่น อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน กองทุนรวมที่ขายในประเทศไทยมีให้เลือกอยู่มากมายเกือบ 1,500 กองทุน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เราจะใช้เกณฑ์อะไรในการเลือกกองทุนรวมที่มีผลการดำเนินงานดีโดดเด่น หรือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า กองทุนรวมที่ลงทุนอยู่เป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับกองทุนที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน
คุณสมบัติของกองทุนที่น่าสนใจ
คุณสมบัติของกองทุนที่ผู้ลงทุนอยากได้มีอยู่ด้วยกัน 2 ข้อคือ
- อัตราผลตอบแทนสูง (High Return)
- ผลการดำเนินงานสม่ำเสมอ เสี่ยงต่ำ ผันผวนต่ำ (Low Risk)
อย่างไรก็ตาม กองทุนส่วนใหญ่ไม่สามารถตอบโจทย์ 2 ข้อนี้พร้อมกันได้ กองทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง มักมีความผันผวนสูง ส่วนกองทุนที่ความผันผวนต่ำ ก็มักจะให้ผลตอบแทนที่ต่ำไปด้วย ดังนั้น ในการค้นหากองทุนที่มี ผลตอบแทนสูงเมื่อเทียบกับความผันผวนในระดับเดียวกัน เราจึงสร้าง Sharpe’s Ratio ขึ้นมา ถ้ากองทุนใดมีค่า Sharpe’s ratio สูงกว่าย่อมให้ผลตอบแทนดีกว่าที่ระดับความผันผวนเดียวกัน ในวันนี้เรามาทำความรู้จักกับการเปรียบเทียบกับกลุ่มกองทุนกัน
ทำความรู้จักกับ Peer group Fund Performance
ในปัจจุบันสมาคมบริษัทจัดการกองทุน (AIMC) มีการนำข้อมูลผลตอบแทน และ ความผันผวน ของแต่ละกองทุนมาเรียงลำดับแล้ววัดออกมาเป็นเปอร์เซ็นไทล์ เราสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวในการเปรียบเทียบ กองทุนที่สนใจหรือที่ลงทุนอยู่ ว่าอัตราผลตอบแทน และความผันผวนอยู่ในกลุ่มใดเมื่อเทียบกับกองทุนที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน
ก่อนจะไปดูตารางเปรียบเทียบมาทำความเข้าใจกับคำว่าเปอร์เซ็นไทล์ (Percentile) กันก่อน
Percentile คือ ค่าของข้อมูลที่อยู่ในตำแหน่ง Percentile นั้น ๆ หลังจากข้อมูลถูกนำมาเรียงต่อกัน
เราสามารถหาตำแหน่ง Percentile ได้จากสูตร
ตัวอย่างข้อมูล 30, 28, 25, 25, 20, 18, 17, 16, 14, 13, 10, 8, 5, 3 มีทั้งหมด 14 ข้อมูล (n = 14)
เราสามารถหาตำแหน่ง 50th Percentile หรือ P50 = x (14+1) = 7.5
จากนั้น ให้กลับไปดูตำแหน่งที่ 7.5 ในข้อมูลจะพบว่า ที่ตำแหน่งนี้ อยู่ระหว่างค่า 17, 16
ดังนั้น ค่าของ 50th Percentile คือ 16.5
อย่าเข้าใจผิดว่า 50th Percentile หมายถึงมีข้อมูลอยู่ในนั้น 50 ข้อมูลเชียวนะครับ
ภาพด้านล่างเป็นตัวอย่างของกลุ่ม Equity General เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560
วิธีอ่านตาราง
1.ด้านซ้ายมือจะแสดงค่าเปอร์เซ็นไทล์(Percentile) จาก 5th Percentile ไปจนถึง 95th Percentile
โดย 5th Percentile หมายถึง ผลงานของกองทุนในกลุ่มผู้นำ (Top 5 Performance)
สำหรับ 50th Percentile หมายถึง ผลงานของกองทุนกลุ่มเฉลี่ย (Median Performance)
ส่วน 95th Percentile หมายถึงผลงานของกองทุนในกลุ่มรั้งท้าย (Bottom 5 Performance)
2.ด้านหัวตารางด้านบนจะแบ่งผลการดำเนินงานเป็น 2 ประเภท คือ ซ้ายมือเป็น Return (%) โดยผลตอบแทนที่มีอายุเกิน 1 ปี จะแสดงเป็นผลตอบแทนต่อปี ขวามือเป็น Standard Deviation (%) หรือค่าความผันผวนของผลตอบแทน
ตัวอย่างการอ่านค่าจากตาราง
สำหรับอัตราผลตอบแทน (Return) เฉลี่ย (50th Percentile) ของกลุ่มกองทุนที่เป็น Equity general ระยะเวลาการลงทุน 3 ปี อยู่ที่ 7.53% ต่อปี และความผันผวน (Standard Deviation) เฉลี่ย (50th Percentile) ของกลุ่มกองทุนที่เป็น Equity general ระยะเวลาการลงทุน 3 ปี อยู่ที่ 10.21% ต่อปี เป็นต้น
กองทุนของเราอยู่ในกลุ่มไหน
การจัดประเภทกองทุนรวมของ AIMC ข้อมูลปรับปรุงล่าสุดวันที่ 14 มี.ค.2560 สามารถ Download ดูได้จาก http://oldweb.aimc.or.th/21_infostats_mf_classification_report.php
โดยกองทุนประเภท Equity General ในปัจจุบันมีทั้งหมด 207 กองทุน ซึ่งมีทั้ง LTF RMF และกองทุนรวมปกติ ในวันนี้จะขอยกตัวอย่าง โดยใช้กองทุน T-Lowbeta กับ BTP ซึ่งทั้งคู่เป็นกองทุนหุ้นยอดนิยมที่ทำผลการดำเนินงานได้ดี
กองทุนที่ลงทุน เมื่อเทียบกับกลุ่ม
ในขั้นตอนแรกเราต้องไปหาข้อมูลอัตราผลตอบแทน และ ความผันผวนของกองทุนที่สนใจใน Fund Fact Sheet หรือ Monthly Fund Update วันที่ตรงกับข้อมูลที่ต้องการเปรียบเทียบ (28 กุมภาพันธ์ 2560)
จากผลการดำเนินงานทั้งสองกองทุน ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 พบว่า อัตราผลตอบแทน 3 ปี ของ T-Lowbeta และ BTP ทำได้ 11.48% ต่อปี และ 10.99% ต่อปีตามลำดับ ในเรื่องของความผันผวน T-Lowbeta และ BTP ทำได้ 9.61% และ 11.89% ตามลำดับ จากนั้นลองเทียบเคียงกับกองทุนประเภทเดียวกันจะเป็นอย่างไร
ในส่วนของอัตราผลตอบแทน T-lowbeta อยู่ใน 5th Percentile สำหรับ BTP อยู่ระหว่าง 5th – 25th Percentile
ในส่วนของ ความผันผวน T-Lowbeta อยู่ระหว่าง 5th -25th Percentile สำหรับ BTP อยู่ในช่วง 75th – 95th Percentile
จะเห็นได้ว่า กองทุนที่มีอัตราผลตอบแทนใกล้เคียงกัน ความผันผวนไม่จำเป็นต้องใกล้เคียงกัน และจากข้อมูล ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พบว่ากองทุน T-Lowbeta ทำได้ดีกว่าทั้งในเรื่องของอัตราผลตอบแทนและความผันผวนระยะ 3 ปี เป็นต้น อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบข้อมูลในช่วงเวลาต่างออกไป ผลที่ได้จากการเปรียบเทียบจะต่างออกไป
คำเตือน การพิจารณาอันดับของกองทุน ไม่สามารถยืนยันได้ว่า กองทุนที่ทำอันดับได้ดี จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ในอนาคต เราควรพิจารณานโยบายการลงทุน ค่าธรรมเนียม รวมถึงเป้าหมายในการลงทุนประกอบการตัดสินใจทุกครั้ง
สุดท้าย ขอขอบคุณความรู้ดี ๆ จากงานสัมมนา DIY Portfolio ครั้งที่ 2 ของ A-Academy กับความรู้ดี ๆ ที่นำมาแบ่งปันนะครับ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา