จากจุดยืนที่บอกว่าเป็นแอพเล็กๆ ที่มาช่วยร้านอาหารเล็กๆ แต่ระยะเวลาเกือบปีที่ผ่านมาทำให้ Robinhood ถูกจับตามองมากขึ้นเรื่อยๆ จากคู่แข่งในตลาดรายใหญ่ๆ อย่าง Grab, LINE MAN และ Food Panda ด้วยการมีแบ็คอัพอย่าง SCB และการประกาศจุดยืนไม่เก็บค่า GP จากร้านอาหาร จึงไม่น่าแปลกใจถ้าจะนับ Robinhood เป็นน้องใหม่ที่มาแรง
เปิดรายได้ปี 2563 ขาดทุน 87 ล้านบาท
ถึงจะจั่วหัวว่า ปี 2563 ทาง Robinhood ในนามบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ขาดทุน 87 ล้านบาท เป็นข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งองค์กรธุรกิจมีหน้าที่ต้องรายงานตัวเลขทางการเงิน โดย Robinhood มีรายได้ 81,549 บาท เพราะ Robinhood เปิดตัวแบบทดลองให้บริการประมาณเดือน ก.ย. 63 และเปิดอย่างเป็นทางการประมาณเดือน พ.ย. 63 ถ้าจะนับรายได้จริงๆ ก็ 2 เดือน โดยที่จำนวนคนขับ (Rider) และร้านอาหารที่เข้าร่วมก็ยังไม่มากนัก และโดยเฉพาะผู้บริโภคก็เพิ่งเริ่มรู้จัก
ดังนั้นการขาดทุน 87 ล้านบาท คาดว่ามาจากการพัฒนาระบบ เตรียมการหลังบ้านเพื่อรองรับบริการที่จะเกิดขึ้นในช่วงแรกเท่านั้น และอาจรวมถึงงบการตลาดอีกบางส่วน ซึ่งเมื่อดูจากวัตถุประสงค์เริ่มต้นของ Robinhood ที่ ธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการ ของ เพอร์เพิล เวนเจอร์ส บอกไว้แต่แรกว่า ได้รับเงินจาก SCB มา 300 ล้านบาท เป็นทุนเริ่มต้น และเน้นการเป็น CSR ไม่ได้เน้นทำรายได้และกำไร เห็นได้จากการไม่เก็บค่า GP จากร้านอาหาร ซึ่งปกติ ผู้ให้บริการเจ้าอื่นจะเก็บอยู่ระหว่าง 20-35%
ดังนั้น การจะตัดสินจากตัวเลขขาดทุน 87 ล้านบาทในปีแรกที่ดำเนินการ (2 เดือนที่ให้บริการจริง) ยังไม่สามารถบอกอะไรได้ แต่ในปี 2564 เพอร์เพิล เวนเจอ์ส ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 900 ล้านบาท เพื่อรองรับการขยายบริการไปทั่วประเทศ และการเปิดบริการใหม่ๆ ในอนาคต แปลว่าปีนี้เอาจริง
เทียบผู้ให้บริการรายอื่นในตลาด ขาดทุนเหมือนกัน
สำหรับปี 2563 ซึ่งเกิดสถานการณ์โควิดตั้งแต่ประมาณเดือน มี.ค. เป็นต้น ทำให้บริการ Food Delivery ได้รับความนิยมมากขึ้นแบบก้าวกระโดด เพราะคนไม่อยากออกกินอาหารข้างนอก หรือร้านอาหารไม่สามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ ตัวเลขจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แต่การเติบโตก็แลกมากับตัวเลขขาดทุน
- บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด ขาดทุน 1,650 ล้านบาท
- บริษัท ไลน์แมน (ประเทศไทย) จำกัด ขาดทุน 1,114 ล้านบาท
- บริษัท เดลิเวอรี่ ฮีโร่ (ประเทศไทย) จำกัด (Food Panda) ขาดทุน 1,264 ล้านบาท
- บริษัท เวล็อคซ์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด (Gojek Thailand) ขาดทุน 565 ล้านบาท
บริษัทผู้ให้บริการ Food Delivery เรียกว่าเป็นบริษัทสตาร์ทอัพ ที่อยู่ในช่วงใช้เงินเพื่อสร้างการเติบโต สร้างฐานผู้ใช้งาน เพิ่มจำนวนคนขับ และเพิ่มจำนวนร้านอาหาร ใช้งบการตลาดเพื่อโปรโมทการใช้งาน ดังนั้นระยะเริ่มต้นตัวเลขขาดทุนไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ต้องมาพร้อมกับการเติบโตทางธุรกิจ
แต่ท้ายที่สุด ธุรกิจก็ต้องทำกำไรได้
Robinhood ขยายบริการต่อเนื่อง ความท้าทายที่รออยู่
ย้อนกลับมาที่ Robinhood ปีนี้ มีการแถลงไปแล้วว่ามียอดดาวน์โหลดแตะ 1 ล้านราย ยืนยันว่าไม่มีการเก็บค่า GP จากร้านอาหาร มีร้านอาหารโดยเฉพาะร้านเล็กๆ กว่า 90,000 ร้าน จำนวนการสั่งอาหารรวมกว่า 2.3 ล้านออเดอร์ คิดเป็นมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท ที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ มีผู้ส่ง (ไรเดอร์) กว่า 15,000 คน
Robinhood เริ่มขยายบริการไปในเขตปริมณฑลรอบ กทม. และอยู่ระหว่างการขยายบริการไปเชียงใหม่และชลบุรี เชื่อว่าเป็นเมืองที่มีศักยภาพการเติบโตสูง และมีแผนขยายจำนวนไรเดอร์เพิ่มขึ้นอีก ทำให้จากเดิมที่เป็นความร่วมมือกับ Skootar อาจไม่เพียงพอ และต้องมองหาพันธมิตรเพิ่มเติม หรือต้องรับสมัครไรเดอร์เป็นของตัวเอง
นอกจากนี้ยังมีแผนขยายบริการ เช่น รับ–ส่งของ (Express Service) ซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ต (Mart Service) เช่น ร้านค้าสามารถสั่งซื้อวัตถุดิบแบบขายส่ง (wholesale) ผ่านแพลตฟอร์ม ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนให้กับร้านค้าได้ และที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือ บริการจองโรงแรม
ธนา บอกว่า ที่ผ่านมา Robinhood ช่วยร้านอาหารแล้ว ปี 65 จะขยับไปช่วยธุรกิจด้านการท่องเที่ยว ซึ่งต้นปี 65 สถานการณ์โควิดน่าจะดีขึ้น จึงเตรียมโมเดล Zero GP OTA ไม่เก็บ GP โรงแรม เท่ากับเปิดแนวรบแข่งขันกับธุรกิจจองโรงแรม
สรุป
ความท้าทายของ Robinhood คือ การประกาศว่านี่ไม่ใช่ธุรกิจ แต่เป็นเสมือน CSR คือจะไม่เก็บ GP ไม่เน้นหารายได้และไม่มีกำไร แต่บริษัทกำลังขยายธุรกิจและบริการในทุกมิติ ต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องง่าย และอยู่ท่ามกลางการแข่งขันที่หนักหน่วง มารอดูกันว่า ด้วยเงินสนับสนุนจาก SCB จะเพียงพอให้ Robinhood ยืนระยะได้มากน้อยแค่ไหน และจะมีอะไรใหม่ๆ ออกมาในตลาดอีกบ้าง
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา