แอดไวซ์ คือค้าปลีกสินค้าไอทีชั้นนำของประเทศไทยที่แข็งแกร่งสุด ๆ ในตลาดต่างจังหวัด แต่จากนี้มันจะไม่เป็นอย่างนั้น เพราะ แอดไวซ์ เร่งยกระดับภาพลักษณ์แบรนด์ด้วยสื่อโฆษณาใหม่ และยังเดินหน้าแผน IPO ต่อเนื่อง
แอดไวซ์ กับการลงทุนหนังโฆษณา
ปกติแล้วธุรกิจค้าปลีกไอทีแทบไม่ได้ลงทุนทำภาพยนตร์โฆษณา เพราะส่วนใหญ่จะใช้โปรโมชัน, ปากต่อปาก หรือยิงโฆษณาจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ แต่ แอดไวซ์ ถือเป็นค้าปลีกไอทีส่วนน้อยที่เลือกวิธีลงทุนทำภาพยนตร์โฆษณา ซึ่งผลลัพธ์คือแบรนด์ แอดไวซ์ ถูกจดจำได้มากขึ้น
จักรกฤช วัชระศักดิ์ศิลป์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานผลิตภัณฑ์ การขาย และการตลาด บริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท จำกัด เล่าให้ฟังว่าปี 2559 บริษัทเคยทำภาพยนตร์โฆษณาออกไป 2 ชุด ประกอบด้วยเรื่องกล้องวงจรปิด กับแท็บเล็ต เพื่อสื่อสารความหมายของคำว่า แอดไวซ์ และน่าจะถึงเวลาที่ต้องจัดทำภาพยนตร์โฆษณาอีกครั้ง
“เราต้องการสื่อความหมายของคำว่า แอดไวซ์ และนำคำนี้มาต่อยอดในการทำตลาด ซึ่งจริง ๆ โฆษณาตัวล่าสุดที่เน้นเรื่อง คำแนะนำ ตามคำแปลของคำว่า แอดไวซ์ ต้องแร่ภาพตั้งแต่ต้นปี 2564 แต่ก็ต้องเลื่อนออกไปเพราะการระบาดของโรค COVID-19”
แต่งตัวก่อน IPO ด้วยการสื่อสารแบรนด์
ขณะเดียวกัน แอดไวซ์ อยู่ระหว่างวางแผนนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วยวิธี IPO ซึ่งปัจจุบันมีความพร้อม 80% เพราะเป้าหมายก่อนหน้านี้คือต้อง IPO ภายในปี 2564 แต่ด้วยการระบาดของโรค COVID-19 และการที่บริษัทตั้งอยู่ในพื้นที่สีแดง ทำให้การดำเนินงานกับผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทำได้ลำบาก
“อีกจุดประสงค์ของภาพยนตร์โฆษณานี้คือการสร้าง Brand Image ที่ดีขึ้นให้กับ แอดไวซ์ เพื่อแปรสภาพสู่บริษัทมหาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแผนหลัก ๆ หลังจาก IPO คือการเข้ามารุกตลาดหัวเมืองใหญ่ โดยเฉพาะกรุงเทพได้มากขึ้น เพราะ แอดไวซ์ แข็งแกร่งในต่างจังหวัด แต่ในเขตเมืองยังไม่เก่งมากนัก”
ปัจจุบัน แอดไวซ์ มีจำนวนสาขากว่า 350 แห่ง ทั้งในประเทศไทย และประเทศลาว โดยสาขาที่บริษัทบริหารเองมีทั้งหมด 112 แห่งทั่วประเทศ (กรุงเทพ 12 แห่ง และต่างจังหวัดกว่า 100 แห่ง) ส่วนที่เหลือเป็นหน้าร้านรูปแบบแฟรนไชส์ในต่างจังหวัด นอกจากนี้ยังมีสาขา DIY Corner ใน PowerBuy อีก 18 สาขา
อยากขาย แต่ของไม่ค่อยจะมี
“ตัวสื่อโฆษณาตัวใหม่น่าจะทำให้ แอดไวซ์ ถูกพูดถึง และเตรียมพร้อมก่อน IPO ได้ แต่ในมุมยอดขาย ภาพยนตร์โฆษณาอาจไม่ส่งผลขนาดนั้น เพราะหนึ่งคือ ผมไม่ได้มองถึงเรื่องนี้ สองคือภาพรวมตลาดไอทีในไทย และทั่วโลกค่อนข้างลำบาก ถึงความต้องการมันถาโถมเข้ามา แต่ซัพพลายสินค้ากับขาดแคลนอย่างไม่หยุดหย่อน”
จักรกฤช อธิบายเพิ่มเติมว่า Work from Home และ Learn from Home ทำให้มีคนเข้ามาหน้าร้าน และซื้อออนไลน์กับ แอดไวซ์ มากขึ้น จนยอดขายบริษัทไม่หดตัวเหมือนกับค้าปลีกที่จำหน่ายสินค้าอื่น แต่ด้วยซัพพลายสินค้า โดยเฉพาะชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ที่ขาดแคลน ทำให้การยอดขายบริษัทเติบโตก้าวกระโดดตามกระแสดังกล่าวไม่ได้
“ตอนนี้ดีมานด์มันมากกว่าซัพพลายเยอะ ถึง แอดไวซ์ จะเจรจาขอซื้อโน้ตบุ๊กจากผู้ผลิตตามคาดการณ์ความต้องการลูกค้า แต่แบรนด์ต่าง ๆ ก็ทำให้ไม่ได้ ยิ่งโน้ตบุ๊คเครื่องหนึ่งต้องมีทั้งซีพียู, การ์ดจอ, แรม, มอนิเตอร์ และอื่น ๆ แต่ชิ้นส่วนเหล่านี้มันสลับกันขาดหาย การส่งมอบโน้ตบุ๊กให้กับเราก็ล่าช้าออกไปอีก”
ปรับกลยุทธ์ด้วยการหาสินค้าอื่นเสริม
เมื่อสถานการณ์ซัพพลายสินค้าไอทีขาดแคลน แอดไวซ์ จึงต้องปรับตัวด้วยการหาสินค้าอื่น ๆ มาช่วยเสริมรายได้ เช่นการจำหน่ายสินค้ากลุ่มไอโอที หรือการทำตลาดกับกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ที่ต้องการซื้อสินค้าเพื่อยกระดับการใช้งานไอทีในบริษัท ส่วนตัวโน้ตบุ๊ค แอดไวซ์ เลือกเน้นทำตลาดสินค้ากลุ่ม Mid-High เพื่อมียอดขายต่อเครื่องที่มากขึ้น
“เมื่อ แอดไวซ์ อยู่ต่างจังหวัด สินค้าที่เราขายหลัก ๆ จะเป็นโน้ตบุ๊กระดับ Mid-Low และถ้ายังทำต่อไปอาจไม่ได้ตามเป้ายอดขายที่วางไว้ นอกจากนี้เรายังเร่งยอดขายผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งเว็บของเรา, มาร์เก็ตเพลส และโซเชียลคอมเมิร์ซ รวมถึงบริการเสริมที่ทำให้ลูกค้าใช้สินค้าไอทีง่ายขึ้น เช่นการบริการซ่อมถึงบ้าน”
ทั้งนี้ จักรกฤช ให้ข้อมูลเพียงสัดส่วนยอดขายของ แอดไวซ์ ในปัจจุบันที่มากจากต่างจังหวัด 85% และเกือบทั้งหมดมาจากโน้ตบุ๊ก และคอมพิวเตอร์ประกอบ (DIY) ส่วนโทรศัพท์มือถือ แอดไวซ์ ยังไม่เน้นทำตลาด ส่วนรายได้รวมปี 2563 ตามข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าอยู่ที่ 12,152 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.31% กำไรสุทธิ 250 ล้านบาท
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา