11 มิ.ย. 2564 วันเริ่มฟาดแข้ง ศึกฟุตบอลยูโร 2020 (แต่นี่คือปี 2021)
ครั้งนี้ต่างจากครั้งอื่น เพราะไม่มีประเทศเจ้าภาพ แต่จะกระจายการแข่งขันไป 11 ประเทศ
เช่น อิตาลี, เดนมาร์ก, รัสเซีย, สเปน, เยอรมนี และนัดชิงชนะเลิศจะจัดที่อังกฤษ
ปกติแล้วเหลือเวลาแค่นี้ กระแสฟุตบอลยูโร 2020 ในประเทศไทยต้องคึกครื้นไม่มากก็น้อย
ไล่ตั้งแต่การประกาศช่องถ่ายทอดสด, การส่งไปรษณียบัตรทายทีมแชมป์ หรือแบรนด์สินค้าอุปโภค-บริโภคที่เกาะกระแสนี้เพื่อเพิ่มยอดขาย
อย่างน้อย ๆ ในหน้าสื่อก็ต้องมีการพูดถึงเรื่องนี้บ้าง
แต่สุดท้ายกระแสยูโร 2020 ในไทยกลับเงียบกริบ และคงมีแต่แฟนฟุตบอลจริง ๆ ที่รู้ข่าว
แล้วเพราะอะไรถึงเกิดเหตุการณ์นี้
เริ่มกันที่ประเด็นช่องถ่ายทอดสด
ถึงตอนนี้ยังไม่มีช่องทีวีดิจิทัล หรือธุรกิจใด ๆ ประกาศซื้อลิขสิทธิ์การแข่งขันนี้มาแพร่ภาพ
อาจเพราะช่วงนี้ธุรกิจสื่ออยู่ลำบาก และย้อนอดีตกลับไป 2 ครั้งก่อน ยูโร 2012 และ 2016 กลุ่มแกรมมี่ซื้อลิขสิทธิ์มาก็มีปัญหาทั้งจอดำ และการถูก กสทช เข้ามากำกับด้วยกฎต่าง ๆ จนทำเงินได้ไม่เต็มที่
ในเชิงธุรกิจจึงอาจไม่คุ้มที่จะลงทุนหลายร้อยล้านบาทเพื่อซิ้อลิขสิทธิ์มาถ่ายทอด
ส่วนการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ที่ในไทยไม่คึกคักเหมือนครั้งก่อน ๆ ก็น่าจะเป็นกรณีศึกษาที่ดีของการลงทุนซื้อลิขสิทธิ์ยูโร 2020 มาแพร่ภาพ
ต่อกันที่การส่งไปรษณียบัตรทายทีมแชมป์
ตอนนี้มันคงตกกระแสไปแล้วสำหรับวิธีการชิงโชครูปแบบนี้ เพราะเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
เท่าที่เห็นมีกลุ่มมติชนที่เปิดให้ตัดชิ้นส่วนบนหนังสือพิมพ์เพื่อส่งชิงโชค รางวัลใหญ่ที่สุดคือ All New MG3
และคงไม่มีโอกาสได้เห็นการส่งไปรษณียบัตรกว่า 200 ล้านฉบับเหมือนที่เกิดขึ้นในฟุตบอลโลก 2018 แล้ว
เมื่อวิธีที่มันทำให้ทุกคนในบ้านมาตั้งใจทำอะไรด้วยกัน ลุ้นไปด้วยกันเหมือนในอดีตมันหายไป
อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่หลายคนไม่รู้ว่าฟุตบอลยูโร 2020 จะแข่งขันแล้ว
สุดท้ายคือกลุ่มสินค้าอุปโภค-บริโภค
ในอดีตแบรนด์น้ำดำ, น้ำสี เครื่องดื่มชูกำลัง หรืออาหารการกินอื่น ๆ ล้วนเกาะกระแสฟุตบอลยูโรออกแคมเปญเพื่อปั๊มยอดขาย
แถมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการรับชมอย่างโทรทัศน์ก็คาดหวังยอดขายในช่วงเวลานี้เช่นกัน
แต่คราวนี้มันดูเงียบ ๆ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
มีแต่เพียงแบรนด์สินค้าที่ตกลงเป็นสปอนเซอร์ให้กับฟุตบอลยูโร 2020 เช่น Hisense, Vivo และ TikTok ยิงสื่อเพื่อจุดกระแสนี้ให้ติด
แม้แต่ Coca-Cola หรือ Coke ที่ปกติไม่พลาดการเป็นสปอนเซอร์ให้กับการแข่งขันนี้ และต้องพ่วงด้วย Pepsi-Cola หรือ Pepsi ต้องโปรโมทเรื่องฟุตบอลสไตล์ Sport Marketing ก็ดูจะเงียบไป ไม่มีแคมเปญการตลาดใด ๆ ออกมา
อีกปัจจัยที่มองข้ามไม่ได้คือ COVID-19
เพราะ COVID-19 เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ฟุตบอลยูโร 2020 เลื่อนจากแข่งปีที่แล้วมาเป็นปีนี้
และ COVID-19 นี้เองก็กำลังระบาดในประเทศไทยอยู่ด้วย
ผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ก็คงไม่มีอารมณ์ในการเสพสื่อบันเทิงประเภทกีฬาเหมือนช่วงเวลาปกติ
สู้เอาเวลาอดหลับอดนอนไปทำงานสร้างรายได้ หรือพักผ่อนเพื่อทำให้ร่างกายแข็งแรงน่าจะดีกว่า
ที่น่าเห็นใจก็คงไม่พ้นแฟนฟุตบอลที่อยากดู เพราะคงได้แต่ลุ้นว่าจะมีใครซื้อลิขสิทธิ์มาฉายหรือไม่
จะให้รับชมฟรีเหมือนที่ Uefa เปิดให้รับชมการแข่งขัน Uefa Champions League ฤดูกาลล่าสุดที่ไม่มีใครในไทยซื้อลิขสิทธิ์มา
ทาง Uefa เขาอาจไม่ใจดีขนาดนั้น
ประเทศเพื่อบ้านทั้งมาเลเซีย, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์ และเวียดนาม ยังมีกลุ่มทุนทุ่มซื้อลิขสิทธิ์ยูโร 2020
แม้แต่กัมพูชาที่ในยูโร 2016 ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดถูกดูแลโดยกลุ่มแกรมมี่ ครั้งนี้มีกลุ่มทุนอื่นซื้อลิขสิทธิ์มาฉาย
อีกทางออกหนึ่ง อาจเกิดกรณีเหมือนฟุตบอลโลก 2018 ที่รัฐบาลทหารไทยขอความร่วมมือจากภาคเอกชนลงขันกันรวม 1,400 ล้านบาทเพื่อซื้อลิขสิทธิ์มาถ่ายทอดสด ซึ่งได้ยินเสียงบ่นกันเบาๆ ว่าไม่คุ้มเงินที่จ่ายไป
เพราะการแข่งขันฟุตบอลระดับชาติในไทยไม่ได้เป็นที่นิยมเหมือนในอดีตแล้ว
ดังนั้น ยูโร 2020 หนนี้ ต้องมารอดูกัน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา