วิกฤตเด็กจบใหม่ในอังกฤษ หางานยาก เว็บหางานไม่ช่วย ต้องตั้งกลุ่ม Facebook ช่วยกันหางาน

วิกฤตนักศึกษาจบใหม่ในอังกฤษต้องเผชิญกับโรคระบาด หางานทำไม่ได้ ต้องหาวิธีโปรโมทตัวเองผ่าน Social ไม่ใช่แค่การส่งเรซูเม่ในเว็บไซต์สมัครงาน

สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อ “คนทำงาน” ในทุกประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะนักศึกษาที่เพิ่งเรียนจบใหม่ จากที่เคยคาดหวังอนาคตการทำงานของตัวเอง กลับพบว่าในความจริงแล้วงานหายากกว่าที่คิด และยิ่งมีสถานการณ์โรคระบาด อัตราว่างงานยิ่งสูงขึ้น งานสำหรับเด็กจบใหม่ก็ยิ่งหายากขึ้นไปอีก

นักศึกษาจบใหม่ในประเทศอังกฤษก็กำลังเผชิญกับสถานการณ์อันยากลำบากแบบนี้เช่นเดียวกัน บางคนหางานมานานหลายเดือนหลังเรียนจบ ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะมีบริษัทไหนเรียกสัมภาษณ์

ความลำบากของนักศึกษาจบใหม่ในอังกฤษนี้ เกิดจากอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ 4.5% ในเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ปี 2020 ส่วนอัตราการว่างงานในกลุ่มคนอายุ 16-24 ปี จะอยู่ที่ราว 14.1%

วิกฤตเด็กจบใหม่ หางานยาก เว็บไซต์หางานก็ไม่ช่วย

Olivia Crowley นักศึกษาจบใหม่ชาวอังกฤษรายหนึ่งเล่าถึงความยากลำบากในการหางานทำว่า การแข่งขันมีสูงมาก และเธอก็ไม่รู้ว่าจะหางานทำอย่างไร เพราะหลังจากที่เธอเรียนจบด้าน Creative Media จาก Bath Spa University เธอได้ใช้เวลาหลังเรียนจบไปกับการสมัครงานแบบเดิมๆ นานหลายเดือน ด้วยการส่งเรซูเม่ให้บริษัทต่างๆ แต่ก็ไม่ได้รับการติดต่อกลับมา แม้แต่สมัครเป็นนักศึกษาฝึกงานแบบไม่ได้รับเงินเดือนก็ยังไม่มีใครสนใจ

เมื่อการสมัครงานด้วยการส่งเรซูเม่ให้บริษัทต่างๆ ไม่ได้ผล เธอจึงตัดสินใจทดลองวิธีการหางานใหม่ๆ ด้วยการใช้ Social Network อย่าง Instagram ให้เป็นประโยชน์ โดย Olivia Crowley ตัดสินใจเปิด Instagram ของเธอขึ้นมา เพื่อให้คำปรึกษาด้านการตลาด และสื่อ กับบริษัทที่มีความต้องการ ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ เธอก็ได้ลูกค้ารายแรก เธอจึงแบ่งเวลาให้กับการทำงานให้คำปรึกษา หางาน และเพิ่มทักษะของเธอไปพร้อมๆ กัน

ผู้เชี่ยวชาญด้านการหางานจากประเทศอังกฤษ เล่าว่า การใช้ Social Network เพื่อหางาน สร้างธุรกิจ หรือแม้แต่หา Connection เป็นกระแสที่กำลังได้รับความนิยมในกลุ่มนักศึกษาเรียนจบใหม่ เพราะเป็นพื้นที่ที่นักศึกษาจบใหม่ได้แสดงความสามารถ โชว์ผลงาน หรือแม้แต่ก่อตั้งธุรกิจเป็นของตัวเอง เปรียบเทียบง่ายๆ ว่า การโชว์ผลงานทาง Social Network บางทีอาจดึงดูดได้ทั้งลูกค้า และคนที่ต้องการจ้างงานไปพร้อมๆ กัน

ส่วนนักศึกษาจบใหม่อีกรายที่ชื่อว่า Naomi Hollas ที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ว่างงานหลังเรียนจบเช่นเดียวกัน เธอเล่าวิธีการสมัครงานของเธอ ว่าใช้เว็บไซต์ LinkedIn เป็นหลัก แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่มีใครติดต่อกลับมาเช่นกัน

ในความรู้สึกของเธอ เธอรู้สึกเหมือนหมดหนทาง เธอจึงตัดสินใจตั้งกลุ่มใน Facebook ขึ้นมา เพื่อรวบรวมคนที่เรียนจบด้าน Event แบบเดียวกัน จากตอนแรกมีแค่เพื่อนๆ แต่กลายเป็นว่าในขณะนี้ในกลุ่มที่เธอตั้งขึ้นมีสมาชิกกว่า 2,000 คนแล้ว

ยิ่งไปกว่านั้นภายในกลุ่มยังกลายเป็นพื้นที่แสดงความคิดเห็นของคนที่เรียนจบในด้านเดียวกัน กลายเป็นว่าในกลุ่มจึงมีการแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับธุรกิจ Event ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยพยายามมองหาทางรอดให้กับธุรกิจ Event ช่วยกันหางาน โพสต์งานที่กำลังเปิดรับสมัคร จัดประชุมผ่าน Zoom เพื่อช่วยกันให้คำแนะนำเพิ่มเติม

สิ่งที่ทำกลายเป็นจุดแข็งที่ทำให้ได้งาน

แนวทางการใช้ Social Network ของทั้งสองคนกลายเป็น “จุดแข็ง” สำคัญในการสัมภาษณ์งาน และช่วยเพิ่มโอกาสที่จะได้งานทำ

อย่างในกรณีของ Olivia Crowley เอง การทำธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการตลาดบน Instagram กลายเป็นจุดแข็งที่ทำให้บริษัทต่างๆ ที่เรียกเธอไปสัมภาษณ์ ได้รู้ว่าเธอสามารถเปลี่ยนช่วงเวลาที่ยากลำบากให้กลายเป็นช่วงเวลาที่สร้างประสบการณ์ให้เธอได้ จนสุดท้ายเธอก็ได้งานด้านการตลาดกับบริษัทผลิตเครื่องสำอางตามที่เธอตั้งใจไว้ในที่สุด

ส่วน Naomi Hollas เองก็เช่นเดียวกัน เธอใช้ประโยชน์จากการตั้งกลุ่มใน Facebook ในการสร้างจุดแข็งให้ตัวเธอเอง เพราะบริษัทที่เรียกสัมภาษณ์ชอบว่าเธอเป็นคนมีความคิดริเริ่ม และชอบแนวคิดของกลุ่ม Facebook นั้นมาก

ไม่ใช่แค่ 2 คนนี้เท่านั้น ที่มองหาวิธีใหม่ๆ ในการหางานเช่นเดียวกัน สังเกตได้จากในยุคนี้คนรุ่นใหม่หาวิธีแปลกๆ ในการหางานมากขึ้น ทั้งการถ่ายคลิป โพสต์ Social เพื่อนำเสนอตัวเองให้เด่นกว่าคนอื่น

ที่มา – bbc

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา