ดราม่าแรง เพชรแท้จากธรรมชาติ vs เพชรแท้จากแล็บ
ก่อนหน้านี้ Pandora บริษัทเครื่องประดับอัญมณีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประกาศว่า จะเปลี่ยนมาใช้เพชรแท้จากแล็บ (Lab-grown diamond) แทนเพชรแท้ตามธรรมชาติ ด้วยเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อมและการลดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเขตการทำเหมือง
Natural Diamond Council กลุ่มธุรกิจในอุตสาหกรรมเพชรออกมาตอบโต้ว่า การทำเหมืองเพชรไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและยังทำให้เกิดการจ้างงานในชุมชน ส่วนบริษัทเพชรเจ้าอื่นก็ออกมากล่าวว่า การหันไปใช้เพชรแท้จากแล็บมาจากเหตุผลทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน ไม่ใช่แค่สิ่งแวดล้อมหรือสิทธิมนุษยชน
อุตสาหกรรมเพชรแย้ง ทำเหมืองโปร่งใสไม่ละเมิดสิทธิ แถมสร้างงาน
Natural Diamond Council, World Jewellery Confederation, และ World Diamond Council ออกแถลงการณ์ร่วม โต้ตอบการที่ Pandora ออกประกาศเปลี่ยนไปใช้เพชรแล็บโดยโจมตีว่าเพชรธรรมชาติทำลายสิ่งแวดล้อมและละเมิดสิทธิมนุษยชนว่าเป็นเรื่องที่ “ไม่จริงและสร้างความเข้าใจผิด”
Tobias Kormind ผู้ก่อตั้ง 77 Diamonds บริษัทเพชรออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป โต้แย้ง Pandora ว่า อุตสาหกรรมเหมืองเพชรส่วนใหญ่กำจัดการละเมิดสิทธิมนุษยชนและทำดีลธุรกิจกับบรรดาเจ้าพ่อท้องถิ่น (เพื่อกดราคาเพชรโดยไม่สนสวัสดิภาพแรงงาน) ไปแล้ว
เขากล่าวต่อไปว่า ทุกวันนี้อุตสาหกรรมเหมืองอยู่ในมือเจ้าใหญ่ไม่กี่เจ้า และธุรกิจเหล่านี้ก็มี supply chain โปร่งใส สามารถตรวจสอบต้นตอและเส้นทางการผลิตของเพชรได้ทุกเม็ด
กลุ่มอุตสาหกรรมเพชรเน้นย้ำประโยชน์ของการขุดเพชรจากเหมืองอีกอย่างคือ ทำให้เกิดการจ้างงานผู้คนมากกว่า 10 ล้านคน ทั่วโลก และหลายๆ สังคมในประเทศกำลังพัฒนาก็พึ่งพิงรายได้และสวัสดิการจากงานในเหมือง
ดังนั้น Pandora ควรจะถอนคำพูดที่ว่าเพชรแท้จากแล็บเป็นทางเลือกที่มีจริยธรรมมากกว่าเมื่อเทียบกับเพชรจากธรรมชาติ เพราะการประกาศของ Pandora ว่าจะหันไปใช้เพชรแล็บเพราะเป็นทางเลือกที่ถูกจริยธรรมกว่า แม้ว่าจะไม่ได้ตั้งใจกระทบกระทั่งอุตสาหกรรมเพชรธรรมชาติ แต่ก็สร้างผลกระทบมหาศาลต่อความเข้าใจของคน
ธุรกิจมองว่าคนไม่ได้สนเพชรแล็บเพราะจริยธรรม แค่สนใจเพราะถูกกว่า
Kormind เชื่อว่า เหตุผลที่คนส่วนใหญ่หันไปสนใจเพชรแล็บเป็นเหตุผลด้านเศรษฐกิจมากกว่าเหตุผลเชิงจริยธรรม สนใจขนาดเพชรที่ใหญ่ขึ้นมากกว่าความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือสิทธิมนุษยชน เขากล่าวว่า เขาเคยเจอกับลูกค้าที่อยากได้เพิ่มขนาดเพชรจากเพชรธรรมชาติ 2 กะรัต เป็นเพชรแล็บ 6 กะรัต ที่เธอต้องทำก็แค่จ่ายเพิ่มนิดหน่อยเท่านั้น
นอกเหนือจากมุมของลูกค้าแล้วเขายังกล่าวถึงประเด็นนี้ในมุมของบริษัท
แน่นอนว่า Pandora ต้องการทำสิ่งที่มีจริยธรรม และเขาก็ไม่ได้อยากจะกล่าวเพื่อลดทอนคุณค่าในสิ่งที่ Pandora ทำอยู่ Pandora พยายามเข้าถึงผู้บริโภคโดยการหยิบยื่นคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อมให้ มันเป็นเรื่องที่ออกมาจากใจจริงในฐานะบริษัทที่อยากขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น Kormind กล่าว
แต่ถ้าจะบอกว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับความยั่งยืนล้วนๆ ก็คงไม่ใช่ แรงจูงใจทางเศรษฐกิจก็มีผลทำให้ Pandora หันมาสนใจเพชรจากแล็บเช่นกัน เพราะเพชรจากแล็บถูกกว่าเพชรธรรมชาติหลายเท่า นั่นทำให้เพชรเคลื่อนตัวจากสินค้าหรูหราลงมาเป็นแค่สินค้าระดับพรีเมียมเท่านั้น Kormind กล่าว
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพโดยอ้างอิงจากข้อมูลในเว็บไซต์ของ 77 Diamonds
- เพชรบอตสวานา ไร้สี (colour D) ไร้ตำหนิ (IF) ราคาอยู่ที่ 8,625.94 ปอนด์ หรือประมาณ 383,000 บาท
- เพชรจากแล็บเกรดเดียวกัน ราคาอยู่ที่ 3,222.69 ปอนด์ หรือประมาณ 143,000 บาทเท่านั้น
พิจารณาจากในแง่นี้ ลูกค้าจึงเข้าถึงเครื่องประดับจากเพชรง่ายขึ้น ซื้อจำนวนมากชิ้นมากขึ้น สวมใส่ได้บ่อยขึ้น นี่คือประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่บริษัทจะได้รับ
ที่มา – SCMP
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา