เราหยุดแล้ว จีนหยุดรึยัง? Mizuno แบรนด์กีฬาสัญชาติญี่ปุ่น ยุติใช้ฝ้ายซินเจียง

ฝ้ายจากซินเจียง ใครๆ ก็ไม่อยากใช้ โดยเฉพาะแบรนด์ที่สนับสนุนการไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ก่อนหน้าที่ Mizuno แบรนด์กีฬาสัญชาติญี่ปุ่นจะยุติใช้ฝ้ายจากซินเจียง ก็มีแบรนด์ดังระดับโลกเคยแบนกันมาก่อน ไม่ว่าจะเป็น H&M, Nike, Zara, Burberry, Uniqlo, Sony, Hitachi ฯลฯ

Mizuno Xinjiang China

Mizuno คือแบรนด์ล่าสุดที่ยุติการใช้ฝ้ายจากซินเจียง Mizuno คือบริษัทสินค้าอุปกรณ์กีฬา เช่น กอล์ฟ เทนนิส เบสบอล วอลเลย์บอล ฟุตบอล วิ่ง รักบี้ สกี ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน ยูโด ปิงปอง แบดมินตัน ต่อยมวยและเสื้อผ้ากีฬาญี่ปุ่น ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1906 แล้ว เรื่องนี้ Nobuteru Suzuki ประธานบริษัท World ระบุว่า คาดว่าจะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวมุสลิมอุยกูร์ในซินเจียง เราไม่ควรโฆษณาหรือขายสินค้า (หรือฝ้ายที่มาจากซินเจียง) ทั้งบริษัท Mizuno และบริษัท Cox ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการตัดสินใจครั้งนี้

เมื่อต้นเมษายนที่ผ่านมา Nikkei ได้เริ่มทำสำรวจบริษัทยักษ์ใหญ่ราว 50 แห่งที่อยู่ในอุตสาหกรรมสินค้ากีฬาและเสื้อผ้าที่มีประเด็นเรื่องการใช้วัตถุดิบจากจังหวัดทางตะวันตกของจีน พบว่ามี 14 แห่งที่ใช้ฝ้ายจากซินเจียง มี 7 แห่งระบุว่ากำลังตรวจสอบอยู่ ท่าทีดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนที่จะมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรสหรัฐอเมริกาบล็อคสินค้าของ Fast Retailing ที่คาดว่ามีการใช้ฝ้ายจากซินเจียง (Fast Retailing เป็นบริษัทแม่ของแบรนด์แฟชั่นหลายแบรนด์ด้วยกัน อาทิ Unioqlo, GU, Theory, PLST, Comptoir Des Cottonniers, Pricesse tam tam และ J Brand)

นอกจากนี้ บริษัทที่ผลิตชุดชั้นในอย่าง Wacoal และแบรนด์ MUJI ก็ระบุว่า อาจจะต้องใช้วัตถุดิบที่มาจากคู่แข่งแทนซึ่งเขาจะยุติการดำเนินธุรกิจด้วยหากมีการยืนยันว่ามีการบังคับใช้แรงงาน ซึ่งบริษัท Ryohin Keikaku บริษัทแม่ของแบรนด์ MUJI ที่มีหน้าร้านในญี่ปุ่นราว 479 แห่ง มีหน้าร้านนอกญี่ปุ่นอีก 550 แห่ง ดำเนินกิจการ 31 ประเทศทั่วโลกระบุว่า เราได้ตรวจสอบอย่างดีที่สุดแล้ว หากเรายุติการใช้วัตถุดิบเหล่านี้ อาจจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในท้องถิ่นด้วย เราใช้สินค้าที่เป็นฝ้ายผลิตจากอินเดียจำนวนมาก เราอาจจะดำเนินธุรกิจได้ต่อไปแม้ว่าจะหยุดใช้ฝ้ายจากซินเจียง

Mizuno
ภาพจาก Mizuno

ด้านแบรนด์ชุดชั้นใน Wacoal ระบุว่า เราได้สอบถามแหล่งซัพพลายเออร์เพื่อความแน่ใจก่อนแล้วว่าไม่มีการบังคับใช้แรงงานจริงซึ่งเราก็ตรวจสอบด้วยตัวเองด้วย ด้าน Shinji Oe ประธานบริษัท Sanyo Shokai ที่ผลิตและขายสินค้าสิ่งทอในญี่ปุ่น ระบุว่า การใช้ฝ้ายจากพื้นที่ดังกล่าวก็ช่วยทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่นั่นดีขึ้นได้ ซึ่งเราอาจจะต้องทบทวนว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้องในแง่ของการรับผิดชอบต่อสังคม

ขณะที่ค้าปลีก Shimamura เผย ตอนนี้ก็ระงับการใช้ฝ้ายจากซินเจียงชั่วคราว Makoto Suzuki ประธานบริษัทกล่าวว่า เราไม่สามารถเดินทางไปเยือนสถานที่นั้นเพื่อตรวจสอบได้ว่าสถานการณ์ที่แท้จริงคืออะไร ก่อนหน้านี้พนักงานก็เคยเดินทางไปพื้นที่ซินเจียงบ้าง หลังเกิดโควิดระบาดการเดินทางไปเยือนก็ยุ่งยากมากขึ้น ไม่ใช่แค่รายนี้แต่ยังมีอีก Tabio ผู้ผลิตถุงเท้าพรีเมียมระบุว่า ตอนนี้ก็ลดการใช้ฝ้ายจากซินเจียงเช่นกัน

มีบริษัทราว 14 แห่งที่ระบุว่าพวกเขาใช้ฝ้ายจากซินเจียง มีอยู่ 5 แห่ง คือ Daidoh Limited, Onward Holdings, Adastria, United Arrows และ Aoki Holdings ไม่แสดงความคิดเห็นว่าพวกเขาจะตอบสนองกับประเด็นนี้เช่นใด มีบริษัทยักษ์ใหญ่อีก 13 แห่ง โดยมี Fast Retailing, Aoyama Trading, Asics, Descente และ Gunze ไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ กับทาง Nikkei Asia

Mizuno
ภาพจาก Mizuno

จีนคือผู้ผลิตฝ้ายยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ของโลก ซินเจียงกินสัดส่วนการผลิตไปแล้ว 80-90% ของการผลิตฝ้ายในประเทศ ผู้แทนจากบริษัทเสื้อผ้าแห่งหนึ่งกล่าวว่า มันยากมากเลยที่จะไม่ใช้ฝ้ายจากซินเจียงเพราะเป็นฝ้ายคุณภาพสูง ต้นทุนต่ำ

เรื่องนี้ นักลงทุนและผู้บริโภคต่างให้ความสำคัญมากขึ้นและเฝ้าดูท่าทีว่าบริษัทเหล่านี้จะจัดการกับประเด็นสิทธิมนุษยชนอย่างไร นักลงทุนจากสหรัฐอเมริกาได้ซักถามบริษัท 47 แห่งว่ามีความเกี่ยวข้องหรือได้ผลประโยชน์จากการบังคับใช้แรงงานในซินเจียงหรือไม่ ด้าน H&M ก็เปิดเผยมาแล้วว่าจะไม่ทำธุรกิจใดๆ กับบริษัทจีนที่มีโรงงานในซินเจียง หลายบริษัทก็เริ่มดำเนินกิจการที่มีความโปร่งใสมากขึ้นเพื่อที่จะทำให้สามารถตรวจสอบได้ว่ามีการใช้ฝ้ายที่ผลิตจากการบังคับใช้แรงงานในซินเจียงหรือไม่

ที่มา – Nikkei Asia

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา