ในขณะที่ทั่วโลกกำลังรับมือกับโควิด-19 ระบาดอย่างหนักหน่วง แต่เกาหลีใต้มาแบบเหนือชั้น เตรียมสร้างโรงงานผลิตวัคซีนระดับโลกเสียเลย โดยผู้นำเกาหลีใต้บินเจรจาผู้นำสหรัฐเพื่อหารือความร่วมมือเรื่องวัคซีน การเจรจาหารือนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อกิจการร่วมค้าของกลุ่มบริษัทยาชีวภาพในเกาหลีใต้เริ่มคุยกันเพื่อหาทางผลิตวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี mRNA
สำหรับตอนนี้การเจรจาของเกาหลีใต้ได้เริ่มขึ้นแล้ว ซึ่งมีการหารือเกี่ยวกับเรื่องกลุ่มยาชีววัตถุ (biopharmaceuticals) ในท้องถิ่นเพื่อที่บริษัทยาภายในประเทศจะทำงานแบบกิจการร่วมค้า โดยการใช้จุดแข็งของแต่ละองค์กรมาช่วยกันผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ซึ่งใช้เทคโนโลยีที่ผลิตวัคซีน mRNA ที่เป็นประเภทใหม่ทั้งหมดและพัฒนาโดย Pfizer-BioNTech และ Moderna ทั้งนี้ก็เพื่อจะสามารถนำมาใช้บริโภคทั้งในประเทศและในต่างประเทศได้
ท่าทีเช่นนี้ของเกาหลีใต้เกิดขึ้นหลังจากที่สหรัฐอเมริกาละเว้นสิทธิบัตรในการพัฒนาวัคซีน ผู้นำเกาหลีใต้และผู้นำสหรัฐฯ ก็จะได้พบปะกันครั้งแรกในสัปดาห์นี้ด้วยการทำความตกลงหุ้นส่วนวัคซีนด้วย เรื่องนี้ Moon Jae-in ประธานาธิบดีเกาหลีใต้กำลังไปสหรัฐอเมริกาวันพุธนี้ กล่าวว่า เขาจะทำให้การประชุมสุดยอดผู้นำที่กำลังจะถึงนี้เป็นโอกาสอันดีที่จะสร้างความร่วมมือกันแบบทวิภาคีและเกาหลีใต้จะกลายเป็นฮับในการผลิตวัคซีนระดับโลก
ขณะเดียวกัน Kurt Campbell ผู้ประสานงานนโยบายอินโด-แปซิฟิกจากทำเนียบขาวให้สัมภาษณ์กับ Yonhub News Agency ว่า เรากำลังสำรวจและให้ความช่วยเหลือเพื่อที่จะเพิ่มการผลิตวัคซีนให้สามารถกระจายได้ทั่วโลก ทั้งสหรัฐอเมริกาและเกาาหลีใต้ต่างก็เป็นผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ เราควรทำงานด้วยกันเพื่อทำให้โลกสามารถจัดหาวัคซีนต้านโควิด-19 ได้มากขึ้น
การที่เกาหลีใต้ให้ความสนใจในการผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 จนถึงขั้นอยากตั้งโรงงานผลิตในประเทศนั้น Biden ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็เคยประกาศอย่างเป็นทางการว่าสนับสนุนให้ละเว้นลิขสิทธิ์ทางปัญญาไว้ชั่วคราว ด้านผู้เชี่ยวชาญท้องถิ่นและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องต่างก็คาดหวังว่าสหรัฐฯ จะเลือกให้มีการถ่ายโอนเทคโนโลยีวัคซีน mRNA นี้ให้กับเกาหลีใต้ได้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดการผลิตวัคซีนในจำนวนมากพอกับที่โลกต้องการได้
บริษัทที่มาร่วมเป็นหุ้นส่วนในการผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 นี้ก็ต้องมีศักยภาพที่แข็งแกร่งเพียงพอด้วย ซึ่งบริษัทที่อยู่ในกลุ่มนี้ ประกอบไปด้วย บริษัท Hanmi Pharmaceutical, Genexine, GC Pharma, GeneOne Life Sciene, ST Pharm นอกจากบริษัทต่างๆ แล้วก็มีสถาบันด้วย เช่น มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี Pohang และมูลนิธิการแพทย์ Myongji
ทั้งนี้ แนวคิดที่มีการร่วมมือกันของบริษัทต่างๆ นี้เริ่มขึ้นเมื่อเดือนเมษายน เนื่องจากบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับ Dr. Tom Frieden อดีตผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) ในช่วงสมัยรัฐบาลโอบามา เกาหลีใต้เองก็เตรียมยกระดับเป็นฮับผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ของโลก ซึ่งการรวมกลุ่มเป็นกิจการร่วมค้าเช่นนี้ของบริษัทต่างๆ ก็จะช่วยทำให้ใช้เวลาไม่ถึงครึ่งปีจะสามารถเริ่มผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ได้ ความสามารถในการผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 น่าจะผลิตได้มากถึง 1 พันล้านโดสต่อปี และการดำเนินแบบกิจการร่วมค้านี้ อาจจะทำให้สามารถผลิตได้เพิ่มมากขึ้นถึง 5 เท่า หรือประมาณ 5 พันล้านโดสภายใน 1 ปี
การเจรจาของผู้นำทั้งสองฝ่ายน่าจะเริ่มขึ้นในวันศุกร์นี้ ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าจะมีการทำความตกลงแลกเปลี่ยนวัคซีนกัน นอกจากนี้ John Rim CEO บริษัท Samsung Biologics ระบุว่า ตอนนี้ใกล้จะเซ็นสัญญาเพื่อที่จะผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ของ Moderna ในโรงงานที่เมืองซองโด อินชอน
เทคโนโลยี mRNA ถือเป็นการผลิตวัคซีนที่ทันสมัยและก้าวหน้าที่สุดแต่บริษัทสัญชาติเกาหลีใต้ยังไม่มีเทคโนโลยีตัวนี้เลย แหล่งข่าวระบุว่า การพัฒนาวัคซีนโดยใช้เทคโนโลยี mRNA นี้ จะช่วยยกระดับให้เกาหลีใต้การเป็นฐานการผลิตวัคซีนระดับโลกได้ บริษัท ST Pharm ก็คือหนึ่งในบริษัทที่เข้ามารวมกลุ่มด้วย ล่าสุดก็เพิ่งจะซื้อเทคโนโลยีการนำส่งยาโดยใช้อนุภาคนาโนไขมัน (lipid nanoparticle) จาก Genevant Science ซึ่งมีส่วนประกอบที่เกี่ยวกับ mRNA วัคซีนต้านโควิด-19 ด้วย
บริษัท Hanmi ก็สามารถผลิตเอนไซม์สำหรับการสังเคราะห์นิวคลีโอไทด์ (หน่วยย่อยของดีเอ็นเอและอาร์เอ็นเอ) ดีเอ็นเอพลาสมิดและการสังเคราะห์ mRNA ส่วนบริษัท GC Pharma ก็มีโรงงานอยู่ที่ Ochang ตอนเหนือของจังหวัด Chungcheong ที่บริษัทสามารถผลิตวัคซีน mRNA ได้ 1,000 ล้านโดสต่อปี
การรวมกลุ่มเพื่อเป็นกิจการร่วมค้าของบริษัทเหล่านี้ คาดหวังว่ารัฐบาลจะอัดฉีดเพื่อพัฒนาวัคซีนได้มากถึงล้านล้านวอนซึ่งนี่ก็เป็นแบบเดียวกับที่บริษัท Moderna เคยได้รับความช่วยเหลือในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา กิจการร่วมค้านี้ได้เคยเผยข้อมูลกับภาครัฐไปแล้วว่าต้องใช้เงินทุนจำนวนมหาศาลหากคิดจะผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ในประเทศ
ประธานาธิบดี Moon Jae-in ออกจากเกาหลีใต้ในวันพุธที่ 19 นี้เพื่อจะเยือนวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ถือเป็นครั้งแรกที่จะเป็นการพบปะกันระหว่างผู้นำระดับสูงของทั้งสองประเทศระหว่างประธานาธิบดี Moon กับประธานาธิบดี Biden การเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการของ Moon นี้ได้รับการเชื้อเชิญจาก Biden เรื่องที่ทั้งสองฝ่ายจะหารือกันมีทั้งเรื่องการกระชับความร่วมมือระหว่างกันสหรัฐ-เกาหลีใต้ เรื่องความร่วมมือด้านวัคซีนต้านโควิด-19 และความร่วมมือเชิงลึกในการลดอาวุธนิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลี
สรุป
เกาหลีใต้เป็นประเทศในแถบเอเชียตะวันออก ไทยก็อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากเกาหลีใต้ผลิตได้ จะสามารถส่งออกวัคซีนมาไทยได้ง่ายเนื่องจากไม่ต้องประสบปัญหาเรื่องระยะเวลาในการขนส่ง ทั้งเรื่องการควบคุมอุณหภูมิวัคซีนที่ค่อนข้างเก็บรักษายากและมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างแพง นั่นหมายความว่า ถ้าไทยสามารถดีลกับเกาหลีใต้ได้หลังเกาหลีใต้ผลิตได้แล้ว เราก็มีโอกาสใช้วัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี mRNA ที่มีประสิทธิภาพสูงในราคาที่ถูกลง
ที่มา – The Korea Herald, Korea.Net
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา