เปิดใจ ธนพันธ์ วงชินศรี ผู้ร่วมก่อตั้ง Penguin Eat Shabu เล่าให้เราฟังว่า สาเหตุที่หันมาขายทุเรียนเพิ่มในช่วงที่เกิดโควิดระบาดระลอก 3 ก็เพราะว่าเขาเป็นคนชอบทานทุเรียนอยู่แล้ว โควิดระบาดรอบก่อนหน้านี้ ก็ทานทุเรียนทุกวัน หลังจากที่มีคำสั่งห้ามทานอาหารที่ร้าน ให้ซื้อกลับแบบ take away ได้เท่านั้น จึงเริ่มประชุมทีมและคิดว่า จะขายอะไรดี เขาก็คิดถึงทุเรียนขึ้นมาเพราะชอบกินทุเรียนมากอยู่แล้ว ขณะเดียวกันก็ต้องการบริหารให้มีกระแสเงินสดไหลเวียนในธุรกิจทุกวันด้วย
ทุกนาทีมีค่า เวลาเป็นเงินเป็นทอง
หลังจากเริ่มประชุมทีมช่วงบ่ายสามโมง จากนั้นช่วง 18.30 น. ก็เริ่มคิดชื่อ คิดโลโก้ เริ่มหาคนขายในช่วง 22.00 น. ได้รายชื่อคนขายในวันรุ่งขึ้น ประมาณ 08.00 น. ถึง 09.00 น. เริ่มเคลียร์เรื่องระบบโลจิสติกส์ ระบบจ่ายเงินตอน 12.00 น. จากนั้นทำ artwork และเริ่มขายทุเรียนได้ในเวลา 17.00 น. เริ่มขอรูปแม่ค้ามาก่อน ให้ลูกของแม่ค้าถ่ายรูปให้ ทุกขั้นตอนคิดใหม่และทำอย่างเป็นระบบในระยะเวลาอันรวดเร็ว
ผลตอบรับที่ได้ ถือว่าดีกว่าที่คิด
วันนี้เขาเริ่มขายหน้าร้าน 2 สาขาเป็นวันแรก หน้าร้านเพนกวินกินชาบูที่ขายคือสาขาสะพานควายและราชพฤกษ์ เปิดตั้งแต่ 10.00-22.00 น. ขายจนกว่าทุเรียนจะหมดและยังสั่งเดลิเวอรี่ได้เหมือนเดิมแต่ถ้าสะดวกไปซื้อหน้าร้านก็จัดได้เลยที่สองสาขานี้ สำหรับยอดการขายชาบูแบบเดลิเวอรี่ตอนนี้ถือว่ายอดขายทุเรียนทำได้ดีกว่ายอดขายชาบู
ปัญหามีไว้ให้แก้ มีเรื่องให้เรียนรู้ทุกวัน
การจัดซื้อทุเรียนของเขาใช้วิธีเหมาซื้อและหาคนปอกทุเรียนด้วย จากนั้นจึงรับมาขายในเวลา 07.00 น.ทุกวัน ปัญหาที่พบคือ หาคนปอกเปลือกทุเรียนค่อนข้างยากมาก เมื่อเหมาทุเรียนแล้ว หาคนปอกได้แล้ว ก็ต้องจัดหารถห้องเย็นมากระจายต่อ
ในเรื่องของระบบโลจิสติกส์นั้น ถ้าได้คนส่งสินค้าที่ไม่ค่อยระมัดระวังในการส่ง ก็เกิดความเสียหายทำให้เนื้อทุเรียนเละได้ การขนส่งสินค้าต้องใช้รถยนต์ ต้องรู้เส้นทางในการส่งสินค้าให้ลูกค้า ดังนั้น สิ่งที่เขาสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าคือ รับประกันเนื้อ ส่งให้ฟรีเมื่อพบว่าเนื้อทุเรียนที่ซื้อไป มีปัญหา เมื่อใดก็ตามที่ลูกค้าสั่งซื้อ จะมีคนทางร้านโทรไปคอนเฟิร์มทุกครั้ง ถ้าลูกค้ารู้สึกไม่ประทับใจ ก็จะชดเชยให้ฟรี ที่ผ่านมาก็พอมีเรื่องนี้บ้างราว 5%
สำหรับลูกค้าสายทุเรียนของร้านเพนกวินกินชาบูนี้ มีทั้งคนเก่าที่เคยเป็นลูกค้ากัน เมื่อข่าวแพร่สะพัดออกไป ก็มีลูกค้าเจ้าใหม่ที่เป็นคนชอบทานทุเรียนมาเพิ่มด้วย ในการจัดหาสินค้าหรือทุเรียนนี้ ทางร้านจัดหาทุเรียนทุกวัน ถ้าบางวันร้านที่เคยดีลกัน สินค้าหมด ก็จะหาเจ้าใหม่ทันที เป็นการบริหารความสดใหม่ทุกวัน เป็นเรื่องที่ต้องทำวันต่อวัน ถ้าให้ประเมินที่ผ่านมาก็พบว่า ขายทุเรียนได้ประมาณ 100 กิโลกรัมต่อวัน
การเรียนรู้เกิดขึ้นทุกวัน มีการเรียนรู้ที่จะทดลองทุกอย่างตลอดเวลา ทั้งการบรรจุหีบห่อสินค้า การเรียนรู้ว่าควรจะแช่สินค้าในน้ำแข็งหรือไม่ เมื่อเกิดเหตุผิดพลาดก็ชดเชยลูกค้าเสมอ บางครั้งการบรรจุภัณฑ์ก็พบว่ามีสินค้าที่เนื้อเละทั้งลอต อย่างที่เล่าไปก่อนหน้านี้ว่าถ้าเป็นคนส่งสินค้ากลุ่มใหม่ ไม่เข้าใจสินค้า ไม่ระมัดระวัง ก็ส่งผลกระทบต่อสินค้าได้ ทางร้านเรียนรู้และพัฒนาแต่ละกระบวนการที่เกิดขึ้นทุกวัน วิธีคิดในการขายทุเรียนจะทำแบบสตาร์ทอัพ วันหนึ่งคิดสินค้าให้ได้ก่อน จากนั้นจึงหาทางเพิ่มคุณค่าแต่ละกระบวนการ
นี่เป็นการคิดใหม่ ทำใหม่ของเรา เราไม่รู้ว่าอะไรดีที่สุด สำหรับระบบการจ่ายเงิน เพื่อลดข้อจำกัดในการจับจ่ายใช้สอยของลูกค้า เราจึงเลือกใช้วิธีเก็บเงินปลายทาง บางครั้งเราก็ได้ลูกค้าที่สั่งซื้อไว้ 3 กิโลกรัมแต่พอใกล้ถึงเวลาส่งสินค้าก็ลดเหลือครึ่งกิโลกรัมก็มี ดังนั้นวิธีแก้ของเราก็มีการทำรอบบ่าย 3 หรือเรียกว่ารอบหลุดจอง วิธีนี้ก็ช่วยปลดล็อคทำให้ขายสินค้าหมดได้ทุกวัน การจัดรอบในการสั่งซื้อสำหรับระบบการจองก็มีช่วง 10.30-12.00 น. และรอบหลุดจองคือช่วงประมาณ 14.00-15.00 น.
ในส่วนของพนักงาน เรามีการโยกย้ายให้พนักงานมาช่วยในแต่ละจุดมากขึ้น เช่น แบ่งเป็นพนักงานที่ต้องทำหน้าที่เป็น Call Center ต้องคอยโทรหาลูกค้า พนักงานที่ต้องคอยตอบข้อความทาง Facebook และพนักงานที่มาช่วยขายทุเรียนหน้าร้าน นอกจากนี้ ยังมีการไลฟ์ขายทุเรียนใน facebook ด้วย เวลา 19.00น. เมื่อวานนี้เริ่มไลฟ์เป็นวันแรก หลังจากนี้ จะมีทั้งการขายหน้าร้าน ขายเดลิเวอรี่ และจะขายทุกวันต่อไป จากนั้นจึงจะประเมินผลเพื่อที่จะขยายจุดสำหรับขายทุเรียนเพิ่มเติม
สำหรับลูกค้าที่รักในการกินทุเรียนก็สามารถสั่งซื้อได้ทั้งเดลิเวอรี่หรือจะซื้อหน้าร้านก็ได้ที่ร้านเพนกวินกินชาบูทั้งสาขาสะพานควายและราชพฤกษ์ ส่วนผู้ประกอบการที่ตอนนี้กำลังประสบปัญหาจากโควิดระบาดระลอก 3 ธนพันธ์ให้ข้อคิดไว้ว่า เมื่อไรที่เจอปัญหา ต้องเอาตัวเองออกจากปัญหาก่อน หรือออกจากสิ่งที่เราเจอในโลกใบเดิมก่อน เหมือนที่เราเจอปัญหาเพนกวินกินชาบู (เช่น การงดนั่งร้านให้ take away เท่านั้น)
ธนพันธ์กล่าวว่า เราต้องคิดก่อนว่า เราทำอะไรได้บ้าง เราทำคอนเทนต์เป็น เราต้องเสนอในสิ่งที่คนอยากได้ หา solution ให้เขา เราต้องไม่ยึดติดกับตัวเอง ไม่ต้องเป็นพ่อค้าชาบูตลอด แต่หาทางเร่งแก้ปัญหา แบบที่เราเห็นว่า ทุเรียนมีเวลาขายราว 3 สัปดาห์ เราก็รีบคิด รีบทำ จากนี้ เราก็ต้องคิดต่อว่าจะสามารถขายอะไรได้ต่อ ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับตัวเอง
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา