เปิดกลยุทธ์ซื้อกิจการบริษัทอื่นของ Apple ซื้อแบบเงียบๆ เน้นซื้อบริษัทขนาดเล็ก แต่ต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อต่อยอดการทำธุรกิจของ Apple
ที่ผ่านมาเรามักเคยได้ยินการเข้าซื้อกิจการของบริษัทขนาดใหญ่ ที่เข้าไปซื้อกิจการขนาดเล็กกันเป็นเรื่องปกติ จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ ทั้งการซื้อเพื่อลดการแข่งขัน หรือซื้อเพื่อนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ เช่นเดียวกันกับ Apple บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่นิยมเข้าซื้อกิจการบริษัทอื่นๆ จนเรียกได้ว่าแทบจะเป็นเรื่องปกติไปแล้ว
ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Tim Cook CEO ของ Apple ได้บอกกับผู้ถือหุ้นว่าในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา Apple เข้าซื้อกิจการไปแล้ว 100 บริษัท เฉลี่ยแล้วในรอบ 3-4 สัปดาห์ Apple จะทำการซื้อกิจการ 1 บริษัท
การเข้าซื้อกิจการของ Apple กว่า 100 บริษัท ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแต่อย่างใด ด้วยความที่ Apple เป็นบริษัทที่มีมูลค่าเกินกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม แม้ Apple จะซื้อกิจการบริษัทจำนวนมากในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า Apple จะเข้าซื้อกิจการแบบมั่วๆ แต่มีกลยุทธ์ที่เรียกได้ว่า ถ้าบริษัทที่ซื้อเข้ามาแล้วไม่มีประโยชน์ สู้ไม่ซื้อเสียจะดีกว่า
ซื้อกิจการขนาดเล็ก เพราะอยากได้คนทำงาน มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
สิ่งแรกที่ Apple พิจารณาในการเข้าซื้อบริษัท คือ “พนักงาน” ที่ทำงานในบริษัทนั้น เพื่อหาพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งจะทำให้ Apple มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่นำหน้าบริษัทคู่แข่ง โดย Apple จะประเมินมูลค่าความน่าซื้อของบริษัทจากจำนวนพนักงานที่ทำงานอยู่ ซึ่งหลังจากซื้อกิจการแล้ว Apple จะรวมพนักงานเหล่านี้ให้กลายเป็นพนักงาน Apple ในที่สุด
อย่างไรก็ตามการเข้าซื้อบริษัทอื่นๆ เพราะต้องการพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญของ Apple นั้น จะเน้นเข้าซื้อเฉพาะบริษัทที่มีขนาดเล็ก โดยเฉพาะการเข้าซื้อบริษัท Start-Up
ซื้อแบบเงียบๆ เก็บเป็นความลับ ไม่บอกใคร
หลังจากที่ Apple ประเมินแล้วว่าจะเข้าซื้อกิจการในบริษัทที่มีขนาดเล็กกว่า สิ่งที่ Apple คาดหวังจากบริษัทที่กำลังจะถูกเข้าซื้อคือ “ความเงียบ และเก็บทุกอย่างเป็นความลับ” เพราะตามปกติแล้ว Apple ไม่ต้องการประกาศเรื่องการเข้าซื้อบริษัทให้สื่อ หรือนักข่าวรู้เรื่อง
Apple ถึงกับบอกพนักงานของบริษัทที่กำลังจะถูกเข้าซื้อว่าอย่าเปลี่ยนข้อมูลบน LinkedIn ของตัวเอง ว่าบริษัทที่ตัวเองทำงานอยู่ถูกซื้อโดย Apple ไปแล้ว แต่หากสุดท้ายแล้วนักข่าวรู้เรื่อง Apple ก็จะเลือกตอบกลับไปแบบนิ่มๆ ว่า “ขอไม่เปิดเผยรายละเอียดในการเข้าซื้อ”
เจ้าของบริษัทแห่งหนึ่งที่ขายบริษัทให้กับ Apple เล่าว่า หลังจากที่ข่าวการเข้าซื้อกิจการหลุดออกไป เขาไม่สามารถตอบกลับคำยินดีที่เพื่อนๆ หรือครอบครัวของเขาส่งมาให้ได้เลย เพราะติดสัญญาการรักษาความลับที่ทำไว้กับ Apple
เน้นซื้อบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ต่อยอดธุรกิจของ Apple ได้
อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ Apple ใช้ในการตัดสินใจซื้อบริษัทใดบริษัทหนึ่ง นอกจากความเชี่ยวชาญของพนักงานแล้ว บริษัทนั้นต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ที่จะช่วยเสริมธุรกิจของ Apple ได้ด้วย
ตัวอย่างบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ Apple เข้าซื้อ คือ AuthenTec ในปี 2012 ที่ Apple ซื้อเข้ามาเพื่อต่อยอดพัฒนาเทคโนโลยี Touch ID บนโทรศัพท์ iPhone
บริษัท Workflow แอปพลิเคชันสำหรับผู้ใช้งาน iPhone ในปี 2017 ซึ่งสุดท้ายแล้ว Apple ก็นำเทคโนโลยีมาต่อยอดเป็นฟีเจอร์ Shortcuts App ส่วนในปี 2018 Apple เข้าซื้อบริษัท Texture ซึ่งกลายเป็นบริการ Apple News+ หรือแม้แต่ Siri ผู้ช่วยอัจฉริยะ Apple ก็ได้เทคโนโลยีนี้มาจากการเข้าซื้อบริษัทอื่นในปี 2010 เช่นกัน
นอกจากตัวอย่างบริษัทที่ Apple เคยทำการเข้าซื้อเพื่อนำเทคโนโลยีมาต่อยอดแล้ว Apple ยังซื้อบริษัทอื่นๆ ในด้านต่อไปนี้ด้วย เช่น บริษัทด้าน Virtual Reality, AI, ระบบแผนที่, ระบบสุขภาพ และเซมิคอนดักเตอร์ เป็นต้น
ที่มา – cnbc
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา