การแข่งขันในธุรกิจขนส่งพัสดุยังแข่งขันอย่างดุเดือด โดยเฉพาะในกลุ่มบริษัทเอกชนด้วยกันเองที่ทยอยทุบราคา และเร่งขยายเฟรนไชส์ ส่วน Kerry Express กลับถูกลดความเชื่อมั่น หลังมูลค่าหุ้นลดต่ำกว่าช่วงเข้าตลาดแล้ว
Kerry Express ที่น่าเป็นห่วง
เริ่มต้นที่ Kerry Express ก่อน เพราะผู้ให้บริการขนส่งพัสดุรายนี้เข้ามาเขย่าตลาดเป็นรายแรก ๆ พร้อมสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ใช้บริการในวงกว้าง จนเติบโตอย่างรวดเร็ว และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปลายปึ 2020
อย่างไรก็ตามเส้นทางการเติบโตมันอาจไม่เป็นอย่างที่ Kerry Express คาดหวังไว้ เพราะตัวเลขผลประกอบการปี 2020 ลดลง 4.4% เหลือ 18,917 ล้านบาท ทั้ง ๆ ที่ปี 2020 การซื้อสินค้าออนไลน์เติบโตก้าวกระโดด ผ่านการที่ COVID-19 เข้ามาเร่ง แม้ตัวธุรกิจจะมีกำไรเติบโต 5.8% เป็น 1,405 ล้านบาท ก็ตาม
และเมื่อตัวเลขผลประกอบการออกมาเป็นอย่างนั้น นักลงทุนได้สะท้อนกลับไปที่มูลค่าของหุ้น Kerry Express เพราะเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2021 อยู่ที่ 45.25 บาท ทั้ง ๆ ที่เคยขึ้นไปสูงถึง 73 บาท อาจเพราะความ โดยการปรับตัวลดลงเริ่มในช่วงกลางเดือนก.พ.
ทุบราคาคือปัญหาของตลาดนี้
ช่วงเริ่มต้นของการขายสินค้าออนไลน์ Kerry Express กลายเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของไปรษณีย์ไทย ผ่านภาพลักษณ์ และการให้บริการอย่างที่ผู้บริโภคชาวไทยไม่เคยเจอมาก่อนเวลาต้องไปส่งพัสดุ แต่ในปัจจุบัน ไม่ได้มีแค่ Kerry Express ที่ทำอย่างนั้นได้ เพราะมีคู่แข่งเต็มไปหมด โดยเฉพาะกลุ่มทุนจีนที่เข้ามาบุกตลาดไทยเต็มตัว
นอกจากพวกเขาจะสร้างความแตกต่างในประสบการณ์ใช้งานได้เหมือนกับ Kerry Express สิ่งที่ผู้ให้บริการขนส่งพัสดุหน้าใหม่มีคือเงินทุน ทำให้สามารถทุบราคาการขนส่งพัสดุที่ Kerry Express และไปรษณีย์ไทยตั้งกำแพงไว้ให้ทลายลง และต้องมีบางรายหันมาทำตามพวกเขาบ้าง เช่น Kerry Express ที่ให้ส่วนลดเมื่อใช้บริการวันอาทิตย์
สำหรับหน้าใหม่มีตั้งแต่ Flash Express กับ Best Express ที่ได้เงินทุนจากการระดมทุนเพื่อเขย่าตลาดนี้ ทั้งยังมีทุนฮ่องกงอย่าง J&T Express ส่วนทุนในประเทศไทยเอง SCG Express และผู้เล่นที่เชี่ยวชาญเฉพาะพื้นที่เช่น Nim Express ก็พร้อมที่จะทุบราคา หรือสร้างจุดต่างเพื่อดึงลูกค้า
สาขาเป็นอีกสิ่งที่ขาดไม่ได้
ขณะเดียวกัน สิ่งที่บริษัทขนส่งหน้าใหม่ในตลาดไทยเร่งทำคือการปูพรมสาขา คล้ายกับกรณีของ Kerry Express ช่วงแรกที่เร่งขยายสาขาอย่างรวดเร็ว เพื่อเพิ่มจุดรับส่งสินค้า และประยุกต์ให้สาขาเหล่านั้นกลายเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ของการสร้างรายได้
ล่าสุด Flash Express และ Best Express ต่างเดินหน้าขยายสาขาด้วยโมเดลแฟรนไชส์ ที่ให้ผู้สนใจสามารถทำธุรกิจ Drop Off พร้อมแบ่งรายได้เมื่อมีการขนส่งเกิดขึ้น ถือเป็นการช่วยให้บริษัทขนส่งพัสดุขยายสาขาได้ง่ายขึ้น และไม่ต้องใช้ต้นทุน รวมถึงการบริหารจัดการเพิ่ม
และแม้จะมีผู้เล่นจำนวนมากในตลาดนี้ แต่ส่วนตัวเชื่อว่า ทุนจากต่างประเทศเตรียมพร้อมที่จะเข้ามาบุกตลาดไทยทุกเมื่อ เพราะมูลค่า E-Commerce ในประเทศไทยปี 2020 อยู่ที่ 2.94 แสนล้านบาท และน่าจะเติบโตมากกว่านี้ได้อีก เพราะทุกคนคุ้นชินกับการซื้อของออนไลน์แล้ว ทำให้ผู้ให้บริการขนส่งพัสดุมีโอกาสธุรกิจเพิ่มอัตโนมัติ
สรุป
งานนี้ Kerry Express น่าจะเหนื่อย เพราะจะกินบุญเก่าของตัวเองคงไม่ได้อีกต่อไป ยิ่ง Loyalty ในธุรกิจนี้แทบไม่มี ดังนั้นอุตสาหกรรมนี้น่าจะเห็นอะไรที่แปลกใหม่แน่นอน และคงไม่ได้มาจากแค่ Kerry Express แต่ Flash และอื่น ๆ ก็น่าจะทำเช่นกัน
อ้างอิง // Kerry Express, ไปรษณีย์ไทย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา