ผลจากการที่หุ้น EFORL ซึ่งถือหุ้นใน วุฒิ-ศักดิ์ คลินิก ตกต่ำดำดิ่ง ประกอบกับตัวเลขผลประกอบการของวุฒิ-ศักดิ์ฯ ที่ขาดทุนต่อเนื่อง อาจเป็นการสะท้อนถึง “ขาลง” ของธุรกิจคลินิกเสริมความงามที่เคยเป็นดาวรุ่งได้อย่างชัดเจนที่สุด
ไม่น่าเชื่อว่าธุรกิจที่เคยเป็นดาวรุ่งและเป็นที่หมายตาของนักลงทุนเมื่อตัดสินใจเข้ามาในตลาดหุ้นอย่าง วุฒิ-ศักดิ์ คลินิก เจ้าของสโลแกน “เพราะความสวยรอไม่ได้” ถึงได้มีราคาหุ้นที่ตกต่ำอย่างมาก โดยนับตั้งแต่ถูกบริษัท อีฟอร์แอล จำกัด (มหาชน) หรือ EFORL ผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์ทางการแพทย์ เข้าซื้อกิจการในปี 2557 ราคาหุ้นได้วิ่งขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดที่ระดับเกือบ 2 บาท
แต่หลังจากนั้น ราคาหุ้นไม่เคยกลับขึ้นไปอยู่ในจุดเดิมได้อีกเลย และเป็นขาลงอย่างต่อเนื่องนานกว่าสามปี ล่าสุดราคาอยู่ที่ 0.14 เท่านั้น เป็นความเสียหายที่ไม่สามารถประเมินค่าได้
นอกจากนี้ยังสร้างความเสียหายด้วยการผิดนัดชำหนี้ในตั๋ว B/E ที่ออกโดย บลจ.โซลาริส อีกเป็นมูลค่ารวมกว่า 200 ล้านบาท
ล่าสุด บริษัท EFORL ซึ่งถือหุ้นอยู่ในบริษัท วุฒิศักดิ์ คลินิก อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด รายงานผลประกอบการประจำปี 2559 ขาดทุนสุทธิ 614.45 ล้านบาท จากเดิมที่จะมีกำไรปีละ 200 กว่าล้านบาท และรายได้รวมอยู่ที่ 3,673 ล้านบาท ลดลงกว่า 18%
ธุรกิจความงามขาดทุนยับ
หากเจาะลงไปถึงเนื้อใน พบว่าธุรกิจที่ทำให้ขาดทุนก็คือ ธุรกิจความงามของ วุฒิ-ศักดิ์ คลินิก ที่เคยถูกตั้งความหวังว่าจะเป็นดาวรุ่ง (เดิมที วุฒิ-ศักดิ์ คลินิก ตกเป็นเป้าหมายของ IHH Healthcare กลุ่มทุนโรงพยาบาลใหญ่ระดับโลกจากมาเลเซียรวมถึงโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในไทยที่จะเข้าเทคโอเวอร์) โดยธุรกิจความงามมีสัดส่วน 45% ของรายได้รวม โดยธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องมือการแพทย์มีสัดส่วน 55%
ธุรกิจความงามมีผลขาดทุนจากการดำเนินงาน 54 ล้านบาท แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ ผลขาดทุนส่วนใหญ่มาจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญของลูกหนี้ผู้ซื้อแฟรนไชส์คลินิกความงามในต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV และการตั้งสำรองการปิดสาขาที่ไม่ทำกำไรหรือไม่ได้อยู่ในเขตชุมชนหรือศูนย์การค้าอีกกว่า 30 สาขา โดยบริษัทแจ้งว่าอยู่ในระหว่างการเจรจากับผู้ร่วมทุนรายใหม่เพื่อปรับปรุงแฟรนไชส์ให้มีคุณภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ สภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัวลง ยังส่งผลต่อรายได้ของธุรกิจคลินิกความงามที่ลดลงกว่า 37% และยังมีเหตุผลอื่นๆประกอบด้วย
- จำนวนคู่แข่งที่มากขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม
- เกิดสินค้านำเข้าที่ไม่ถูกต้องเข้ามาแข่งขันด้านราคา จนอัตรากำไรลดลง
- บริษัทต้องลงทุนพัฒนาคุณภาพการบริการและรักษาให้ได้ถึงระดับ CJI จึงต้องมีการลงทุนเพิ่ม
ธุรกิจเครื่องสำอางยังพอไปได้
แม้ในส่วนของธุรกิจคลินิกความงามจะไม่สู้ดีนัก แต่ธุรกิจเครื่องสำอางยังคงเติบโตได้ดี วุฒิ-ศักดิ์ คลินิก จึงมุ่งหวังที่จะผลักดันให้ขึ้นมาทดแทนธุรกิจคลินิก โดยบริษัทจะเน้นจำหน่ายสินค้าภายใต้แบรนด์วุฒิ-ศักดิ์ไปยังกลุ่ม CLMV ที่มีความต้องการในสินค้าเครื่องสำอางระดับสูง นอกจากนี้ยังมีการเน้นไปที่สินค้าบำรุงผิวแบรนด์ Snail 8
ทางรอดของ EFORL และวุฒิ-ศักดิ์ คลินิกอยู่ตรงไหน?
การที่บริษัทผิดนัดชำระหนี้ตั๋ว B/E สะท้อนถึงสภาพคล่องเงินสดภายในบริษัทที่มีปัญหาอย่างหนัก โดยงบการเงินล่าสุดระบุว่าบริษัทมีหนี้สิน 4,759 ล้านบาท ขณะที่มีส่วนของผู้ถือหุ้นเพียง 962 ล้านบาท เรียกได้ว่ามีหนี้มากกว่าทุนกว่า 5 เท่า มาจากการกู้เงินจากสถาบันการเงินมาลงทุนซื้อกิจการวุฒิ-ศักดิ์ คลินิกหลายพันล้านบาทเมื่อสามปีที่แล้ว โดยใช้วิศวกรรมทางการเงิน ผ่านการจัดตั้งบริษัท ดับบิวซีไอ โฮลดิ้ง (WCIH) มาเป็นบริษัทแม่ถือหุ้นในบริษัท วุฒิศักดิ์ คลินิกอินเตอร์ กรุ๊ป อีกทอดหนึ่ง
การที่บริษัทจะมีเงินสดเข้ามาช่วยให้สภาพคล่องกิจการดีขึ้น จำเป็นที่จะต้องนำบริษัท WCIH เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้ได้เงินก้อนส่วนหนึ่งจากนักลงทุนเข้ามา แต่หากธุรกิจของวุฒิศักดิ์ยังไม่ดีขึ้น ก็ยากที่จะนำหุ้นเข้าตลาดฯได้
ล่าสุดผู้บริหารของ EFORL ได้เปิดเผยว่าได้เจรจากับพันธมิตรธุรกิจรายใหม่จำนวนสองรายที่จะเข้ามาถือหุ้นใน WCIH และเข้ามาทำให้กิจการของวุฒิศักดิ์เติบโตขึ้น โดยปีนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้ 4,000 ล้านบาทเติบโต 10% จากปีก่อน และยังได้แต่งตั้ง “สุรเกียรติ เสถียรไทย” ขึ้นมาเป็นประธานกรรมการบริษัท
สรุป
กรณีของหุ้น EFORL และวุฒิ-ศักดิ์ คลินิกได้สะท้อนว่าธุรกิจใดที่เติบโตร้อนแรง ย่อมเกิดคู่แข่งจำนวนมาก จากที่เป็น Blue Ocean ก็สามารถเป็น Red Ocean ได้เช่นกัน นักลงทุนไม่ควรยึดติดกับภาพความสำเร็จในอดีต แต่ควรหมั่นตรวจตราธุรกิจที่เข้าไปลงทุนว่ายังโอเคอยู่หรือไม่ตลอดเวลา
ข้อมูล: คำชี้แจงผลประกอบการสิ้นปี 2559 ของบริษัทอีฟอร์แอล จำกัด (มหาชน) ที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา