ประเทศไทยเป็นเมืองท่องเที่ยว แต่เวลานี้ธุรกิจท่องเที่ยวกำลังเปลี่ยนไปด้วย 3 กระแสมาแรงแห่งยุคที่ยากจะต้าน ซึ่งกระทบกับประเทศไทยโดยตรง ผู้ประกอบการท่องเที่ยว หรือแม้แต่นักท่องเที่ยวเอง ต้องรู้เรื่องนี้เพื่อปรับตัวรับกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น
EIC SCB วิเคราะห์ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางมาไทยปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 35.3 ล้านคน โตขึ้น 8.4% เป็นเงินรายได้ 2.9 ล้านล้านบาท นี่คือสิ่งที่เป็นประโยชน์ แต่มีกระแสความเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้น และจะส่งผลให้ระยะยาว 3 ประเด็นหลัก คือ
- การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวสูงอายุ ล่าสุดปี 2015 มีสัดส่วน 19% และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สอดคล้องกับประชากรโลก ทั้งจีน, อเมริกา, อังกฤษ หรือญี่ปุ่น ที่ส่วนใหญ่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สิ่งที่ตามมาคือ นักท่องเที่ยวสูงอายุ ใช้จ่ายมากกว่าวัยอื่น 9% และมากกว่ากลุ่ม Millennial 3 เท่า ใช้เวลาท่องเที่ยวในไทยยาวนานกว่าวัยอื่น 1-2 วัน
- การแข่งขันเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวดุเดือด หลายประเทศมีการผ่อนปรนการขอวีซ่าเข้าประเทศ มีการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว สร้างสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อดึงดูด เช่น มาเก๊า, ไต้หวัน, ญี่ปุ่น หรือ UAE ทางออกคือ การสร้างความแตกต่าง มากกว่าจะแข่งขันตลาด mass
- การใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้น สร้างทั้งพันธมิตรและคู่แข่ง ธุรกิจท่องเที่ยวต้องเน้นสร้างแบรนด์มากขึ้น ผ่านสื่อออนไลน์ หลักการง่ายนิดเดียวถ้าค้นในโลกออนไลน์แล้วไม่เจอ นั่นคือเสียโอกาสทันที และยังมีคู่แข่งรายใหม่ เช่น Airbnb และผู้ประกอบการในลักษณะ Sharing ที่เกิดขึ้นซึ่งขยายตัวอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้คู่แข่งและการแข่งขันหนักขึ้น
ทางออกธุรกิจท่องเที่ยวต้องปรับตัวรับ 3 กระแสแรง
เมื่อเห็น 3 กระแสความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวแล้ว ธุรกิจท่องเที่ยวต้องปรับตัว สำหรับนักท่องเที่ยวสูงอายุ มีความต้องการปัจจัย 3 ส่วนมากเป็นพิเศษ คือ ความปลอดภัย, การใช้เวลานาน และ ความพร้อมด้านการแพทย์ ดังนั้น ไทยต้องเน้นเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้มากขึ้น รวมถึงนำเสนอแพ็คเกจการท่องเที่ยวที่ใช้เวลานานขึ้น ไม่เร่งรีบหรือแน่นจนเกินไป และขยายเวลาวีซ่าประเภท long stay ให้นานขึ้นเพื่อรองรับ โดย EIC คาดว่านักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะสร้างรายได้ไปถึง 75,000 ล้านบาทในปี 2020 ส่งผลดีต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้วย
ประเด็นถัดมาคือ การแข่งขันเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวในแต่ละประเทศมากขึ้น ไทยต้องจัดแพ็คเกจเที่ยวที่ร่วมกับพันธมิตรในประเทศ เช่น ท่องเที่ยวเชิงผจญภัย, เชิงวัฒนธรรม, จัดกิจกรรม ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง เป็นทางออกที่ดีกว่า การแข่งขันด้าน mass ที่ส่วนใหญ่จะแข่งกันลดราคา ซึ่งไม่เป็นผลดี
สุดท้ายคือ วงจรการท่องเที่ยวเปลี่ยนไปเพราะเทคโนโลยี เกิดรูปแบบ Dreaming – Planning – Booking – Experience – Sharing นั่นคือ เริ่มต้นจากการดูโซเชียลต่างๆ และฝันถึงการเที่ยว จากนั้นจะเริ่มวางแผนผ่านอินเทอร์เน็ต และเริ่มต้นจองตั๋วเดินทาง ที่พัก และการท่องเที่ยวต่างๆ ทำให้ธุรกิจการจองออนไลน์เติบโตสูงมาก จากนั้นก็ไปเที่ยวด้วยตัวเอง และปิดท้ายด้วยการแชร์ไปถึงคนอื่นๆ สร้างความฝันใหม่ๆ อีกรอบ
สรุป
ธุรกิจท่องเที่ยวต้องสร้างแบรนด์ออนไลน์ สร้างบริการผ่านช่องทางดิจิทัลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และควรปรับตัวเพื่อรับกับกระแสทั้ง 3 โดยเร่งด่วน นี่คือโอกาสที่ดี แต่ถ้าไม่เตรียมรับมือก็จะกลายเป็นอุปสรรคสำหรับการทำธุรกิจในระยะยาวทันที
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา