งานหนัก หมดไฟ ทำไม่ไหว ลาออก
Financial Times รายงานอ้างอิงคนในอุตสาหกรรมที่ปรึกษา (consultant) พบว่า คนที่ทำงานในตำแหน่งจูเนียร์จำนวนมากมีภาวะหมดไฟ (burnout) เพราะงานเยอะเกินไป รับไม่ไหว
รู้หรือไม่ว่า ในปี 2020 ปีแห่งโควิด ตัวเลขจาก Refinitiv ระบุว่า มีดีลของบริษัทที่เกิดขึ้นกว่า 8,000 ครั้ง ทั้งการยื่นขอล้มละลาย ทั้งการทำดีลควบรวม-เข้าซื้อกิจการ หรือแม้กระทั่งการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์แบบ SPAC ที่ต่างจากการ IPO แบบเดิมๆ
ดีลทั้งหลายเหล่านี้ ทำสถิติใหม่ในปี 2020 สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา ซึ่งแน่นอนว่างานเหล่านี้ต้องใช้บริการของบริษัทมืออาชีพ (Professional services) ทั้งบริษัทลอว์ เฟิร์ม ทั้งบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ ฯลฯ
งานหนักจึงตกอยู่ที่คนทำงานในระดับจูเนียร์ที่ต้องแบกรับภาระโหมงานหนัก มีข้อมูลว่า คนทำงานสายการเงินในระดับจูเนียร์ของ Goldman Sachs ต้องทำงานถึงสัปดาห์ละ 100 ชั่วโมง (ถ้าประเมินว่าทำงาน 5 วันตกวันละ 20 ชั่วโมง แต่ถ้าทำงาน 7 วัน ไม่มีวันหยุด ก็ตกวันละประมาณ 14 ชั่วโมง)
อีกรายคือคนที่ทำงานในบริษัทลอว์ เฟิร์มในสหรัฐอเมริกา Latham & Watkins บอกว่า ความกลัวในภาวะหมดไฟคือเรื่องจริง (The fear of burnout is real) นับตั้งแต่ต้นปี 2020 เขาต้องทำงาน 150% และแม้ว่างานจะน่าสนใจ แต่มันก็ตามติดตัวไปตลอดเวลา แม้กระทั่งตอนนอน
เรียกได้ว่า ในขณะที่โลกการทำงานแห่งอนาคต (Future of Work) คุยเรื่องการลดเวลาในการทำงาน หรือทำงานสัปดาห์ละ 3-4 วัน แต่คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ปรึกษา ซึ่งส่วนมากเป็นคนระดับหัวกะทิ กลับต้องทำงานหนัก หักโหมจนชีวิตเสียสมดุล
Ben Tidswell ประธานของบริษัทที่ปรึกษาด้านกฎหมายระดับโลกอย่าง Ashurst บอกว่า ปัญหาเหล่านี้จะนำไปสู่การลาออกของพนักงานได้ เพราะมันไม่ใช่แค่เรื่องการทำงาน แต่กระทบความเป็นอยู่ของชีวิตของพนักงาน
นอกจากปัญหางานเยอะแล้ว อีกหนึ่งปัญหาคือการสร้างวัฒนธรรมออฟฟิศผ่านการทำงานทางไกล (remote work)
ตัวอย่างของบริษัทที่ปรึกษาระดับโลกอย่าง PwC หนึ่งใน Big Four ซึ่งผู้บริหารบอกว่าในปี 2020 รับพนักงานเข้าบริษัทกว่า 3,000 คนผ่านทางระบบออนไลน์และทำงานแบบ remote work มาร่วมปี พบว่าพนักงานมีอุปสรรคของการทำงาน ได้แก่ “การไม่มีเพื่อนร่วมงาน” และ “ไร้เครือข่ายในการทำงาน”
ลองคิดภาพดูว่า ถ้าคุณเพิ่งเริ่มทำงาน ไม่สามารถเข้าออฟฟิศได้เพราะโรคระบาด แถมเจองานหนัก ไม่มีเวลาพักผ่อน และไม่มีเพื่อน ไม่มีพื้นที่ให้แลกเปลี่ยน เนื่องด้วยข้อจำกัดของการทำงานนอกออฟฟิศ (จะทำงานจากบ้านหรือที่ใดก็แล้วแต่)
ไม่แปลกที่จะพบว่าคนทำงานในอุตสาหกรรมนี้จะเข้าสู่ภาวะ burnout กันในวงกว้าง
นี่คือหนึ่งในความท้าทายแห่งยุคสมัย และที่สำคัญ มันกำลังเกิดขึ้นกับกลุ่มคนทำงานในสายที่เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในมืออาชีพของตลาดแรงงาน
อ้างอิง – FT, Business Insider, CNBC
แนะนำสำหรับผู้ที่สนใจ สามารถอ่านงานวิจัยที่ศึกษาเรื่องการทำงานทางไกล ซึ่งส่งผลต่อ mental health ของพนักงานได้ที่ Does Telework Stress Employees Out? A Study on Working at Home and Subjective Well-Being for Wage/Salary Workers
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา