มองแนวโน้มเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการลงทุน ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 จากงาน THE WISDOM The Symbol Of Your Vision: 2021 Economic Outlook & Investment Forum ที่จัดขึ้นโดยธนาคารกสิกรไทย
ปี 2020 ที่ผ่านมา โลกต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจ การลงทุน และการใช้ชีวิตของคนทั่วโลก ยิ่งในประเทศไทยเองที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก ยิ่งได้รับผลกระทบจากการที่นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้อย่างปกติเป็นเวลานานนับปีแล้ว
เดอะวิสดอมกสิกรไทย ได้จัดงานสัมมนาออนไลน์ เพื่อวิเคราะห์เศรษฐกิจทั้งในประเทศไทย และในระดับโลกท่ามกลางความผันผวนของสถานการณ์โลก โดยผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและการลงทุนระดับประเทศ ซึ่ง Brand Inside ได้สรุปความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่มีต่อประเด็นต่างๆ ดังนี้
ภาพรวมสัญญาณการฟื้นตัวดี แต่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
เริ่มต้นด้วย คุณขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ได้กล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจ ในปี 2563–2564 โดยให้ความสำคัญไปที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอกที่ 2 ว่าส่งผลต่อเศรษฐกิจที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว ธุรกิจบางประเภทขาดรายรับมานานเกือบ 1 ปี ดังนั้นสิ่งที่น่าจับตามองต่อจากนี้จึงเป็นประเด็นเรื่องวัคซีน ว่าจะมีการฉีดวัคซีนอย่างเพียงพอจนเกิดเป็นภูมิคุ้มกันหมู่เมื่อไหร่ รวมถึงประเด็นด้านนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ที่จะส่งผลต่อตราสารหนี้ และค่าเงินบาทในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ในฐานะของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย คุณขัตติยา มองว่าลูกค้ามีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีกว่าที่คาด แต่ยังตั้งอยู่บนความไม่แน่นอน ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
ภาพรวมเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย ต้องจับตามมองอะไรบ้าง
ดร.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย สรุปภาพรวมของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย โดยมองว่าปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มี 2 ส่วนสำคัญ คือ วัคซีน และมาตรการของแต่ละประเทศที่ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนโยบายการเงิน และนโยบายการคลัง โดยคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากมาตรการอัดฉีดเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ของประเทศสหรัฐอเมริกาในระยะสั้นจากการส่งออก แต่ในระยะยาวอาจต้องมีการปรับตัว
ส่วนประเด็นด้านเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ดร.ชญาวดี มองว่า GDP ของไทยในปีนี้จะโต 3.2% จากปัจจัยที่ประเทศคู่ค้าของไทยเติบโตได้ดี ประกอบกับภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ดีกว่าปี 2563 เพราะมีภูมิคุ้มกัน นโยบายภาครัฐที่รวดเร็ว และประชาชนสามารถปรับตัวได้
จีน-อเมริกา กับสงครามการค้าที่ไทยอยู่ตรงกลางของความขัดแย้ง
นอกจากประเด็นด้านเศรษฐกิจทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่น่าจับตามองเป็นพิเศษนั่นคือสงครามการค้าระหว่าง จีน และสหรัฐอเมริกา รวมถึงการขึ้นมาดำรงตำแหน่งของโจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนใหม่
รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการอาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงประเด็นที่น่าจับตามองเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ และการลงทุนไว้ 4 ประเด็น ดังนี้
-
- ห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chain) ที่เปลี่ยนไป และไทยจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ดีแค่ไหน
- การเปลี่ยนของดุลอำนาจ ทั้งจีน และสหรัฐอเมริกา รวมถึงสถานการณ์ของประเทศเพื่อนบ้าน
- การดิสรัปของเทคโนโลยี ที่ทำให้รูปแบบการใช้ชีวิตเปลี่ยนไป
- การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อม
ประเด็นเรื่องห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chain) นี้ รศ.ดร.ปิติ คาดการณ์ว่ามูลค่าของห่วงโซ่มูลค่าโลกในขณะนี้อยู่ที่ 18 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะกลับไปสู่ภาวะปกติเหมือนก่อนโควิด-19 จะระบาดได้ในปี 2023 แต่จะมีการเปลี่ยนรูปแบบ ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
กล่าวคือการเชื่อมโยงกันระหว่างกลุ่มของห่วงโซ่มูลค่าโลก จะมีทิศทางของลูกศรที่เปลี่ยนไป โดยที่กลุ่มของห่วงโซ่มูลค่าโลกในพื้นที่อาเซียน ที่เชื่อมโยงไปยังประเทศจีน สหรัฐอเมริกา และยุโรป จะยังเป็นบวกอยู่
ส่วนประเด็นด้านสงครามการค้าระหว่างจีน กับสหรัฐอเมริกา รศ.ดร.ปิติ ให้ความเห็นว่าแม้สหรัฐอเมริกาจะได้โจ ไบเดน เป็นประธานาธิบดีคนใหม่แล้ว แต่ความจริงสงครามการค้ายังไม่ได้จบลง เพราะไบเดนเองก็ไม่ได้เปลี่ยนนโยบายระยะยาวของประเทศ
รวมถึงไทยเองก็ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดเพราะในขณะนี้สหรัฐอเมริกา มีนโยบายจับตามองประเทศที่สหรัฐอเมริกาขาดดุลทางการค้า ซึ่งไทยก็จัดอยู่ในกลุ่มประเทศนี้ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้สหรัฐอเมริกา นำโดยรัฐบาลของโจ ไบเดน ยังมีการดำเนินนโยบาย Buy American Rules ที่ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนสินค้าที่ผลิตในประเทศ ซึ่งรศ.ดร.ปิติ ให้ข้อสังเกตว่า ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการทำการค้าขายกับสหรัฐอเมริกา ก็ต้องมีการสร้างถิ่นกำเนิดของสินค้าในสหรัฐอเมริกาเช่นกัน แต่ในขณะเดียวกันต้นทุนการผลิตก็จะสูงขึ้น เพราะโจ ไปเดน ได้ลงนามเพื่อเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำของสหรัฐอเมริกาไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ รัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกา ประกาศว่ารถยนต์ทุกคันของรัฐ จะต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้า และผลิตในประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ซึ่งประเทศที่มีการปรับตัวได้อย่างรวดเร็วคือเวียดนาม ที่มีการทำข้อตกลง FTA กับสหรัฐอเมริกาเรียบร้อยแล้ว และพร้อมจะตั้งโรงงานเพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศสหรัฐอเมริกา
ปี 2564 คาดหวังนักท่องเที่ยว 6.5 ล้านคน
นอกจากประเด็นเรื่องเศรษฐกิจที่น่าจับตามองในปี 2021 ยังมีประเด็นที่น่าจับตามมองอีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือการท่องเที่ยว ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยคุณยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2564 ว่าจะมีจำนวน 6.5 ล้านคน โดยคาดว่าจะสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้
ส่วนนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในประเทศไทยก่อน คาดว่าจะเป็นกลุ่มยุโรป อเมริกาเหนือ สแกนดิเนเวีย มากกว่า ประเทศในเอเชีย ทั้งจีน และญี่ปุ่น ที่ในขณะนี้ยังไม่ได้มีการอนุญาตให้ประชาชนเดินทางออกนอกประเทศ ดังนั้นเรื่องการท่องเที่ยวจะต้องเน้นเชิง “คุณภาพ” และการใช้จ่ายที่มากขึ้น ไม่ได้เน้น “จำนวน” อีกต่อไป
โดยสรุปแล้ว แนวโน้มเศรษฐกิจ และการลงทุนในปี 2564 นับว่าเป็นสิ่งที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก และการข้ามผ่านการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คือการ “ปรับตัว” ที่ผู้เชี่ยวชาญหลายๆ ท่านมองภาพไว้ และเป็นการตั้งคำถามต่อไปว่าไทยสามารถปรับตัวได้ดีเพียงใด
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา