การจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค หรือ FMCG ในไทยอาจยังไม่เข้าสู่ออนไลน์เต็มรูปแบบ แต่ถ้าฝั่งผู้ผลิตไม่รีบปรับตัวก็คงอยู่ยากในอนาคต ซึ่ง “สหพัฒน์” ก็เร่งเครื่องเต็มที่ แต่ทำแค่นี้คงไม่ได้ เพราะฝั่งธุรกิจดั้งเดิมก็ต้องปรับด้วย
ปูพื้นฐานฝั่งออนไลน์ทั้ง B2C และ B2B
ด้วยความคุ้นชิ้น หรืออัตราการเข้าถึงโลกออนไลน์ยังไม่ทั่วถึง ทำให้ผู้บริโภคในประเทศไทยยังนิยมซื้อสินค้า FMCG ผ่านช่องทางดั้งเดิม เช่น Supermarket, Hypermarket รวมถึงร้าน Traditional Trade อย่างโชห่วย แต่ด้วยกระแสของโลกนั้นเดินหน้าไปโลกออนไลน์ผ่านการจับจ่ายด้วย Ecommerce มากขึ้น ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของผู้ผลิตสินค้าก็จำเป็นซึ่งทางกลุ่มสหพัฒน์ได้ลงทุนเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้ว เช่นการสร้างเว็บไซต์ sahapathomedelivey.com เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าทั่วไปที่ต้องการซื้อสินค้าออนไลน์ แต่แค่นั้นอาจยังไม่พอ
บุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด เล่าให้ฟังว่า ด้วยตัวเว็บไซต์ยังเปิดให้บริการได้ไม่นาน แต่เริ่มมีการทำตลาดบ้างแล้ว ทำให้ปีที่ผ่านมามียอดขายราว 100 ล้านบาท ผ่านสินค้าในเครือสหพัฒน์เท่านั้น เช่นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, ผงซักฟอก และยาสีฟัน ซึ่งปีนี้น่าจะมียอดขายมากขึ้น แต่ความแตกต่างของการทำตลาดออนไลน์ในปีนี้คือการเพิ่มช่องทางจำหน่ายระหว่างธุรกิจด้วยกัน หรือ B2B จากเดิมที่คู่ค้ารายย่อยของบริษัทต้องซื้อขายผ่านรูปแบบการจดออร์เดอร์ผ่านหน่วยรถ 220 คันทั่วประเทศ และส่งของในวันรุ่งขึ้น
“ตอนนี้สหพัฒน์ยังมีหน่วยรถวิ่งอยู่ทั่วประเทศ เพื่อทำการจดรายการสั่งซื้อจากร้านรายย่อย และถ้ามีของในรถก็จะขายให้เลย แต่ถ้าไม่มีสินค้าที่สั่งก็จะได้ในวันรุ่งขึ้น แต่เพื่อให้ความสะดวกแก่พวกเขา รวมถึงช่วยบริหารต้นทุนการขาย ทางสหพัฒน์ก็สร้างช่องทางขายออนไลน์แบบ B2B ขึ้นมา และหนึ่งในนั้นต้องมีการลงทุนรวมกว่า 52 ล้านบาท เพื่อสร้างศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ และลงเซิร์ฟเวอร์ตัวใหม่ ให้การบริการออนไลน์เสถียร และมีความปลอดภัยมากขึ้น คาดว่าปีนี้จะมียอดขาย B2B ฝั่งออนไลน์ราว 50 ล้านบาท”
Marketing ต้องทำรายพื้นที่ ไม่ใช่หว่าน
ขณะเดียวกันเดิมทีการทำตลาดสินค้าต่างๆ ของสหพัฒน์จะตั้งแคมเปญภาพรวมขึ้นมาเพื่อใช้กับทั้งประเทศไทย แต่หลังจากนี้อาจทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะเรื่องพฤติกรรมของผู้บริโภคที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ประกอบกับการแข่งขันของทุกสินค้า FMCG ที่บริษัทถืออยู่ก็หนักหน่วงขึ้น ดังนั้นในปีนี้บริษัทจะใช้การทำแคมเปญเป็นรายพื้นที่ โดยปรับให้เหมาะสมกับผู้บริโภค และสภาพการแข่งขันที่นั่น ซึ่งการทำแบบนี้จะช่วยให้การบริหารจัดการงบการตลาดทำได้ดีขึ้น และหน่วยขายตามภูมิภาคต่างๆ ก็ทำงานง่ายขึ้นเช่นกัน
ในทางกลับกันแคมเปญที่ทำทั่วประเทศ เช่นการชิงโชคก็ยังทำอยู่ เพราะคู่แข่งต่างลงงบประมาณกับเรื่องนี้มาก โดยเฉพาะกับสินค้าผงซักฟอก และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และถึงการกระทำของคู่แข่งจะไม่ทำให้ยอดขายของบริษัทตก แต่การใช้งบประมาณกับการชิงโชคก็น่าจะช่วยรักษาส่วนแบ่งในตลาด FMCG ของบริษัทได้อยู่ โดยปีนี้บริษัทมีสินค้าที่หยุดการทำตลาด 2 ตัวคือ กะทิอร่อยดี กับรองเท้า Nike โดยแบรนด์หลังทางบริษัทแม่ต้องการไปทำตลาดเอง ส่วนสินค้าใหม่ที่เปิดตัวในปีนี้ เช่นกะทิพร้าวหอม ของบริษัทสุรีย์ และสินค้ากีฬาแบรนด์ Under Armour
ยอดขายยังโต 10% เชื่อเศรษฐกิจเริ่มดี
สำหรับยอดขายในปีนี้ของสหพัฒน์ตั้งเป้าที่ 33,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 10% จากปี 2559 เติบโตลดลงจากปีก่อนที่ทำได้ 13.2% โดยที่ตั้งเป้าแบบนี้เพราะตั้งการเติบโตราว 10% ต่อปี แต่ในปี 2559 ที่โตกว่าอัตราปกติ แสดงให้เห็นถึงภาพรวมเศรษฐกิจ และกำลังซื้อ รวมถึงนโยบายต่างๆ ของภาครัฐนั้นเริ่มเข้าถึงประชากรมากขึ้น หากแบ่งรายได้ออกมา สินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์มาม่าจะเป็นอันดับหนึ่งที่ 9,600 ล้านบาท (มีส่วนแบ่งในตลาดรวม 52%) รองลงมาเป็นผงซักฟอกราว 5,000 ล้านบาท (กินส่วนแบ่งเกือบ 1 ใน 3 ของตลาด)
สรุป
ถึงจะมีแบรนด์ที่หายไป เช่น Nike แต่ด้วยสัดส่วนรายได้ที่น้อย หรือราว 200-300 ล้านบาทของรายได้รวมเท่านั้น ประกอบกับการได้สินค้าใหม่อย่าง Under Armour เข้ามาก็น่าจะทดแทนกันได้ นอกจากนี้ยังเปิดร้านจำหน่ายอุปกรณ์กีฬา Beyond เพิ่มเติมในต่างจังหวัดอีก 10-20 แห่งด้วย
ส่วนเรื่องแบรนด์มาม่าที่เป็นดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจของประเทศไทยอีกตัวหนึ่งนั้น จากการตั้งเป้าของสหพัฒน์ที่อยากเติบโตราว 10% เหมือนกับภาพรวมของบริษัท ก็น่าจะเป็นอีกส่วนที่น่าจะแสดงให้เห็นว่าการจับจ่ายของผู้บริโภคยังดี ผ่านสินค้าที่ยังหมุนเวียนอยู่ตลอด
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา