ส่องเมนู MK ปี 2564 ในวันที่กำไรลดลง 65% อาหารจานเดียวอาจเป็นคำตอบ

ใครที่เดินเข้าร้าน MK ทุกวันนี้ จะได้เจอคำถาม “จะทานเป็นสุกี้ หรือเลือกทานอาหารจานเดียว” สะท้อนการปรับตัวแบรนด์สุกี้เจ้าใหญ่ของไทย

Brand Inside เลยจะพาไปชม MK Restaurant ร้านสุกี้เจ้าดัง ที่เผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 กำไรลดลงกว่า 65% กับแนวทางการปรับตัวหันไปขายอาหารจานเดียว จัดชุดอาหารขายในราคาที่เป็นมิตรมากขึ้น

MK
MK Restaurant ภาพจาก Shutterstock

MK Restaurant ร้านสุกี้เจ้าดัง ที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2529 จนปัจจุบันมีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 458 สาขาทั่วประเทศ (ในจำนวนนี้ เป็น MK Gold 5 สาขา และ MK Live 4 สาขา) โดยมีแบรนด์รองลงมา คือ ยาโยอิ ที่มีสาขา 194 แห่ง และแบรนด์ร้านอาหารอื่นๆ ในเครือ เช่น มิยาซากิ, ฮากาตะ ราเมน และแหลมเจริญซีฟู้ด เป็นต้น

เมื่อพูดถึง MK สิ่งแรกๆ ที่เราจะนึกถึงคือ “สุกี้” จนเป็นคำติดปากว่า กินเอ็มเค ก็คือ กินสุกี้ เป็นภาพจำของคนไทยไปแล้วว่า MK เท่ากับร้านสุกี้ แต่อย่างไรก็ตามในยุคที่โควิด-19 ระบาด ดูเหมือนจะเป็นช่วงเวลาที่ไม่ง่ายนักสำหรับ MK

MK เอ็มเค

โควิดกระทบหนัก MK กำไรลดลง 65%

ก่อนจะไปดูอาหารจานเดียว มาดูผลประกอบการ ปี 2563 MK มีรายได้รวมทั้งสิ้น 13,622 ล้านบาท ลดลงจากในปี 2562 ก่อนโควิด-19 จะระบาด ที่มีรายได้ 17,739 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนที่ลดลง 23% โดยรายได้นี้ มาจากร้านอาหาร MK ในสัดส่วน 74% ส่วนกำไรสุทธิในปี 2563 อยู่ที่ 907 ล้านบาท ลดลงจากในปี 2562 ที่เคยได้กำไรสุทธิ 2,604 ล้านบาท หรือลดลง 65%

ปี 2563 ถือเป็นวิบากกรรมของร้านอาหารแทบทุกราย เพราะมีช่วงล็อกดาวน์ต่อเนื่อง ยาวนาน และหลายระลอก มีมาตรการควบคุมที่ร้านต้องปฎิบัติตาม บางร้านต้องปิดชั่วคราวไประยะหนึ่ง เมื่อเปิดร้านได้แล้วก็ยังไม่สามารถให้บริการได้ตามปกติ ต้องมีการจัดที่นั่งแบบเว้นระยะห่างทำให้รับลูกค้าได้น้อยลง

ในอีกด้านหนึ่งความมั่นใจของลูกค้าที่หายไป ยังไม่พร้อมที่จะออกมากินอาหารนอกบ้าน รวมถึงปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่เป็นเหมือนลูกโซ่กระทบกับการจับจ่ายใช้สอยของคน

“อาหารจานเดียว” วิธีปรับตัวของ MK ในยุคโควิดระบาด

ช่วงปี 63 MK มีการนำผักออกมาจำหน่ายหน้าร้าน โดยระบุว่าเป็นผักปลอดสารพิษที่ทางร้านใช้เป็นประจำ ซึ่งได้รับความสนใจระดับหนึ่ง แต่สุดท้ายร้านอาหารก็อยู่ได้ด้วยลูกค้าที่มาใช้บริการ และเมื่อ สุกี้ อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในยุคโควิด

ดังนั้น จะพบว่าวิธีการขายของ MK เปลี่ยนไป ด้วยคำถามว่า “จะทานเป็นสุกี้ หรือเลือกทานอาหารจานเดียว”

MK

เมื่อเปิดดูเมนูของ MK มีเมนูอาหารที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ได้มีแค่สุกี้เป็นหลักเหมือนในอดีตอีกแล้ว แม้ว่า MK จะมีอาหารจานเดียวขายมาเป็นระยะเวลานานแล้ว แต่ในปัจจุบันเมนูอาหารจานเดียวมีความหลากหลายมากขึ้น เช่น ข้าวหน้าหมูชาบู ราคา 89 บาท ข้าวหน้าเนื้อ US ราคา 129 บาท หรือข้าวกระเทียมราคา 89 บาท

เมนูเล่มหลักก็มีอาหารจานเดียวอยู่เช่นกัน ได้แก่ อาหารจานเดียวประเภทข้าว เช่น ข้าวหมูแดง ข้าวหมูกรอบ  ข้าวหน้าเป็ด ข้าวไก่ตุ๋น เนื้อเปื่อยฮ่องกง ข้าวอบจักรพรรดิ และซี่โครงหมูนึ่งเต้าเจี้ยว โดยมีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 84 บาท ไปจนถึง 220 บาท

MK

ส่วนเมนูอาหารจานเดียวประเภทบะหมี่ และเกี๊ยวของ MK ที่มีขายมาอย่างยาวนานก็ยังคงอยู่เช่นเดียวกัน เช่น บะหมี่เกี๊ยวกุ้ง บะหมี่เป็ดย่าง บะหมี่เกี๊ยวกุ้ง+หมูแดง บะหมี่เกี๊ยวกุ้ง+หมูกรอบ บะหมี่เกี้ยวกุ้ง+เนื้อเปื่อยฮ่องกง และบะหมี่เกี๊ยวกุ้ง+ซี่โครงหมูนึ่งเต้าเจี้ยว ในราคาตั้งแต่ 92 บาท ไปจนถึง 104 บาท

MK

นอกจากเมนูอาหารจานเดียวแล้ว เมนูสุกี้ MK ก็ไม่ได้หายไปไหน ยังมีให้เลือกสั่งอยู่เช่นเดิม แต่มีการจัดเป็นชุดสุกี้เพื่อเพิ่มความคุ้มค่ามากกว่าในอดีต ที่เรามักต้องสั่งแยกเป็นรายการตามที่อยากกิน ซึ่ง MK ใช้ชื่อชุดสุกี้นี้ว่า “ชุดสุดคุ้ม XL” ราคาเริ่มต้น 399-799 บาท โดยในชุดราคา 399 บาท ถือว่าคุ้มค่าที่สุดเพราะถูกลงกว่า 40% เมื่อเทียบกับการสั่งแยก

สรุป

ในยุคที่โควิด-19 ระบาด ร้านอาหารดูเหมือนจะเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักอยู่ไม่น้อย จนร้านอาหารต้องหาวิธีปรับตัวในการดึงให้คนกลับเข้ามาในร้านให้ได้มากที่สุด การหันมาเน้นเมนูอาหารจานเดียวของ MK ก็นับว่าเป็นวิธีที่จะช่วยดึงลูกค้าได้มากกว่ากลุ่มคนที่ต้องการทานสุกี้ ส่วนเมนูสุกี้ที่จัดเป็นชุดก็ตอบโจทย์ในการดึงดูดลูกค้าที่ต้องการทานสุกี้ที่มีราคาย่อมเยามากกว่าเดิม จากเดิมที่อาจต้องเสียเงินหลักพันบาท ก็เหลือจ่ายเพียงไม่กี่ร้อยบาทเท่านั้น

ข้อมูลจาก – MK

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา