Plant-based Food ได้รับความนิยมทั่วโลก และในไทย โดยปี 2562 มูลค่าตลาดไทยอยู่ที่ 28,000 ล้านบาท และมีโอกาสเติบโตปีละ 10% ล่าสุด Nestle ลงมาเล่นตลาดนี้ด้วยแบรนด์ Harvest Gourmet
Plant-based Food ที่ยังเติบโตต่อเนื่อง
หากอ้างอิงจากข้อมูลของศูนย์วิจัยกรุงไทย คอมพาส จะพบว่า มูลค่าตลาด Plant-based Food ในประเทศไทยปี 2562 อยู่ที่ 28,000 ล้านบาท และมีโอกาสเติบโตปีละ 10% จนปี 2567 คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 45,000 ล้านบาท ผ่านการขับเคลื่อนของ Plant-based Protein หรือโปรตีนที่ทำจากพืช
เนื่องจากปัจจุบันตลาด Plant-based Food ในประเทศไทยถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ
- Plant-based Milk หรือน้ำนมจากพืช เช่นนมถั่วเหลือง, นมอัลมอนด์ และนมข้าวโพด
- Plant-based Meal หรืออาหารปรุงสำเร็จที่ไม่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ เช่นอาหารเจ
- Plant-based Protein หรือโปรตีนจากพืชพร้อมปรุง เช่นโปรตีนเกษตร
แต่ฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนตลาดนี้คือ Plant-based Milk ที่หากอ้างอิงจากข้อมูลของ Tofusan จะพบว่า มูลค่าตลาดน้ำนมจากพืชสูงถึง 16,000-17,000 ล้านบาท หรือเกือบครึ่งหนึ่งของตลาด ส่วนที่เหลือเป็นอาหารมังสวิรัติปรุงสำเร็จ เช่นช่วงเทศกาลกินเจในกรุงเทพ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์เงินสะพัดถึง 4,700 ล้านบาท
แล้ว Plant-based Protein อยู่ตรงไหน?
วรกันต์ ธนโชติวรพงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่การตลาด More Meat หนึ่งใน Startup ที่จำหน่าย Plant-based Protein ในไทย เล่าใหัฟังว่า มูลค่าตลาดโปรตีนจากพืชพร้อมปรุงคิดเป็นแค่ 90 ล้านบาท หรือเป็นส่วนน้อยมากในภาพรวมตลาด Plant-based Food
“Plant-based Protein เริ่มได้รับความนิยมในทั่วโลก ผ่านกระแสรักสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก เนื่องจากการเลี้ยงวัว หรือสัตว์อื่นๆ สร้างมลพิษจำนวนมาก ดังนั้นการรับประทานโปรตีนจากพืชจึงช่วยเรื่องนี้ได้ แต่ในประเทศไทยก็ต้องอาศัยการเปิดใจของผู้บริโภค และเน้นสื่อสารในมุมสุขภาพ เพราะคนไทยเข้าใจเรื่องนี้ได้ง่ายกว่า”
เมื่อมีพื้นที่ตลาดแค่ 90 ล้านบาท แต่ด้วยแนวโน้มการเติบโตในต่างประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้โอกาสที่ Plant-based Protein ในประเทศไทยจะเติบโตเช่นกันก็มีสูง และไม่ใช่แค่แบรนด์ Startup ที่เข้ามาทำตลาด แต่ย่อมมีแบรนด์ยักษ์ใหญ่เข้ามาตามหาโอกาสทางธุรกิจในตลาดนี้
Nestle กับการเข้ามาด้วย Harvest Gourmet
ล่าสุด Nestle แบรนด์สินค้าบริโภคยักษ์ใหญ่ได้เข้ามาทำตลาด Plant-based Protein ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการภายใต้แบรนด์ Harvest Gourmet หลังจากใช้แบรนด์นี้ทำตลาดในจีน, ออสเตรเลีย และกลุ่มยุโรป แต่การเข้ามาทำตลาดจะแตกต่างกับผู้เล่นเจ้าอื่น เพราะเน้นทำตลาดแบบ B2B ก่อน
“เรามองพื้นที่ตลาดนี้ว่ามีมูลค่าสูงถึง 900 ล้านบาท เติบโตปีละ 20% ยิ่งคนไทยเป็น Flexitarian หรือรับประทานอาหารมังสวิรัติเฉพาะโอกาสสำคัญถึง 1 ใน 4 ของประชากร” เครือวัลย์ วรุณไพจิตร ผู้อำนวยการบริหารหน่วยธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหาร และ Nestle Professional ประจำภูมิภาคอินโดไชน่า กล่าว
อย่างไรก็ตาม Nestle ยังไม่เปิดเผยชื่อร้านอาหารที่เป็นพาร์ทเนอร์กับบริษัท โดยแจ้งเพียงว่า เป็นร้านอาหารที่มีสาขากว่า 100 แห่งทั่วประเทศไทย ทั้งในปีแรก Nestle ยังตั้งเป้าสร้างแบรนด์ Harvest Gourmet ให้เป็นที่รู้จัก มากกว่าวางเป้ายอดขาย ส่วนการทำตลาดกับผู้บริโภคทั่วไป Nestle ยังไม่เปิดเผยรายละเอียด
สรุป
Plant-based Food แข่งขันกันหนักขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งร้านอาหารที่เริ่มชูเมนู Plant-based Meal มากขึ้น ส่วนผู้ผลิตวัตถุดิบต่างๆ ก็เริ่มรุกตลาดมากกว่าเดิม ดังนั้นคงต้องดูว่ายักษ์ใหญ่ในตลาดนี้เช่น Beyond Meat หรือ Impossible Meat จะมาบุกตลาดไทยอย่างเป็นทางการหรือไม่ และถ้ามาจริงๆ ตลาดนี้ก็คงสนุกกว่าเดิม
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา