เมื่อผู้กำกับชื่อดังแห่งวงการฮอลลีวูดวิจารณ์วงการสตรีมมิ่ง ว่าการทำงานของระบบ AI ที่ใช้คัดเลือกหนังให้คนดูไม่ได้มีแต่ข้อดี ส่งผลเสียต่อผู้ชมที่เป็นแค่ลูกค้า ขาดความเป็นศิลปะในการรับชม
หนึ่งในเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังบริการสตรีมมิ่ง คือการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการรับชม แล้วนำไปให้ระบบ Algorithm วิเคราะห์ เพื่อคัดเลือกภาพยนตร์ หรือซีรีส์ที่มีความเหมาะสมกับผู้ชมมากที่สุด และแสดงแต่เนื้อหาที่ผู้ชมมีแนวโน้มที่จะชอบมากที่สุดบนหน้าจอแรกของแอปพลิเคชัน
ในมุมมองของผู้ชมหลายๆ คน ก็อาจชอบ เพราะไม่ว่าจะเปิดเข้าไปในแอปพลิเคชันเมื่อใดก็เจอแต่สิ่งที่อยากดู หรือชอบโดยทันที แต่ในความจริงแล้วคนในวงการภาพยนตร์อาจไม่ได้ชอบ Algorithm แบบนี้มากเท่าใดนัก
Martin Scorsese ผู้กำกับในวงการฮอลลีวูดระดับรางวัลออสการ์ ก็เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ออกมาวิจารณ์การใช้ระบบ Algorithm ในการคัดเลือกคอนเทนต์ต่างๆ เพื่อแสดงให้กับผู้ชมของบริการสตรีมมิ่ง โดย Scorsese ไม่ใช่แฟนของบริการสตรีมมิ่ง เพราะเขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า รู้สึกว่าโรงภาพยนตร์กำลังถูกลดคุณค่า และความหมาย ไปอยู่ภายใต้ของคำว่าคอนเทนต์เท่านั้น
โดยเฉพาะประเด็นการใช้ระบบ Algorithm เพื่อคัดเลือกคอนเทนต์ แนะนำคอนเทนต์ที่น่าชม และการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการรับชม “เป็นการทำลายความเป็นศิลปะ และปฎิบัติกับผู้ชมเป็นแค่เพียงลูกค้าเท่านั้น”
อย่างไรก็ตามนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Scorsese วิจารณ์วงการภาพยนตร์ เพราะก่อนหน้านี้ในปี 2019 เขาก็เคยแสดงความคิดเห็นว่าโรงภาพยนตร์พึ่งพาแค่หนังแนวซุปเปอร์ฮีโรเท่านั้น
Algorithm สิ่งที่สตรีมมิ่งกระตุ้นให้คนอยากดู
Elinor Carmi นักวิจัยด้านสื่อสารมวลชนจาก Liverpool University เล่ากระบวนการทำงานของระบบ Algorithm ที่บริการสตรีมมิ่งใช้ว่า เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้คนเลือกชมคอนเทนต์อันใดอันหนึ่งบนแฟลตฟอร์ม โดยการจัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่างๆ เช่น การนำคอนเทนต์ไปใส่ไว้ที่บริเวณด้านบนของช่องค้นหา ปุ่มกด การใช้สี หรือแม้แต่การเลือกรูปภาพ
ครั้งหนึ่ง Netflix ยอมรับว่ามีการปรับแต่งภาพ Thumbnail (ปกของคอนเทนต์) ที่แสดงให้กับผู้ใช้ได้เห็น โดยใช้ระบบ Algorithm คัดเลือกภาพที่ดึงดูดใจผู้ชมมากที่สุดจากประวัติการชมในครั้งก่อนๆ อย่างกรณีซีรีส์เรื่อง Kingdom ที่ Netflix เปิดเผยว่ามีภาพหน้าปกทั้งหมด 12 แบบ โดยแสดงให้ผู้ชมเห็นเท่าๆ กันในตอนแรก จากนั้นค่อยปรับการแสดงภาพให้เหมาะกับผู้ชมแต่ละคน ซึ่งภาพที่ดึงดูดมากที่สุดคือภาพซอมบี้
เป้าหมายการใช้ระบบ Algorithm ของบริการสตรีมมิ่งทุกๆ เจ้า เหมือนกันหมด นั่นคือ “การเลือกคอนเทนต์ที่เหมาะกับผู้ชมแต่ละคน ในช่วงเวลาที่ถูกต้อง”
แม้ว่า Algorithm ที่บริการสตรีมมิ่งใช้จะมีข้อดี ช่วยเลือกคอนเทนต์ที่ตรงใจกับผู้ชมมากขึ้น แต่ก็อย่าลืมว่า Algorithm นี้ อาจเปลี่ยนประสบการณ์ของผู้ชมได้เช่นกัน Scorsese ยกตัวอย่างให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ทุกๆ วันนี้คอนเทนต์ต่างๆ กลายเป็นเพียงแค่ภาพเคลื่อนไหว หนังของผู้กำกับดัง คลิปที่มีแมว หนังซุปเปอร์ฮีโร่ และซีรีส์ที่มีหลายตอนเท่านั้น แต่ไม่ได้มีความหมายในเชิงศิลปะอีกต่อไป
สรุป
แม้ว่า Algorithm ที่บริการสตรีมมิ่งใช้จะเป็นประโยชน์กับคนดูที่มีแต่คอนเทนต์ที่ตรงกับความชอบทันทีที่เปิดแอปพลิเคชัน แต่ในความจริงแล้วชีวิตจริงของคน หากมีแต่ระบบคัดเลือกว่าอะไรควรชมหรือไม่ควรชม โอกาสที่จะได้เจอภาพยนตร์แนวใหม่ๆ ที่ไม่เคยดูมาก่อนก็คงไม่มีทางได้เกิดขึ้นอีกต่อไป เพราะระบบได้คัดเลือกมาแต่สิ่งที่เราชอบ จนขาดความหลากหลาย ขาดความแปลกใหม่ในการรับชม
ที่มา – bbc
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา