เศรษฐกิจเวียดนามโดดเด่นเหนือใครอย่างแท้จริงเมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกอาเซียนที่เหลือ แม้จะอยู่ในภาวะโรคระบาดโควิด-19 โจมตีอย่างหนักทั่วโลก แต่เวียดนามก็มีศักยภาพดีที่สุดท่ามกลางประเทศเพื่อนบ้านที่มีระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นแบบติดลบ
- ส่อง GDP อาเซียน 2021: เวียดนามร้อนแรง โตมากสุด 7.5% ส่วนไทยแย่โตรั้งท้ายในภูมิภาค
- GDP เวียดนามปี 2020 ยังโต 2.91% จากภาคการส่งอกที่ยังเติบโตดี รัฐบาลมองปี 2021 เศรษฐกิจโตมากกว่า 6%
ปี 2020 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามอยู่ที่ 2.9% เหตุผลหลักที่ทำให้เวียดนามประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจในขณะที่ทั่วโลกเศรษฐกิจตกต่ำก็คือความสามารถในการจัดการโควิด-19 ได้ในช่วงที่มีการระบาดตั้งแต่เริ่มต้นที่จีนออกมาประกาศว่ามีการติดเชื้อรายแรก เวียดนามกลับมาทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปในช่วงปลายเดือนเมษายนและมุ่งเป้าฟื้นฟูเศรษฐกิจมากขึ้น
ในขณะที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและภาคการบริการและการผลิตได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่ทั่วโลกก็มีความต้องการสินค้า IT มาก รวมถึงสินค้าที่ตอบโจทย์การอยู่บ้านมากขึ้นเนื่องจากต้องทำงานระยะไกลหรือทำงานจากบ้านเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ภาคการส่งออกของเวียดนามกลับมาสดใสอีกครั้ง นักวิเคราะห์มองว่า เวียดนามสามารถคว้าโอกาสเหล่านี้ได้เพราะสามารถจัดการโควิดระบาดได้ดี
นอกจากนี้ ผู้นำของเวียดนามยังตั้งเป้าทางเศรษฐกิจที่ท้าทายมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพยายามขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจ การขยับสถานะให้เป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับบนและเปลี่ยนเวียดนามให้เป็นประเทศรายได้ระดับสูงในปี 2045 และทำให้เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งเวียดนามจำเป็นต้องทำให้วิสาหกิจของรัฐโอนถ่ายเป็นของเอกชนมากขึ้น เพื่อเพิ่มสัดส่วนบริษัทเอกชนในเศรษฐกิจจากเดิม 42% เป็น 50% เป้าหมายหลักก็เพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น
นักวิเคราะห์มองว่าเวียดนามยังมีศักยภาพที่จะเติบโตและพัฒนาได้อีกมาก ส่วนปัญหาด้านอื่นๆ ของเวียดนาม ก็มีทั้งเรื่องขาดแคลนแรงงานทักษะสูง รวมทั้งประเทศต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ดีขึ้นและมีรัฐวิสาหกิจที่น้อยเกินไป นอกจากนั้นก็เป็นประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น มีความขัดแย้งกับจีนในการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ที่อาจจะส่งผลกระทบเชิงลบทางเศรษฐกิจได้
ปัจจัยแห่งความสำเร็จทางเศรษฐกิจในรอบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา เป็นผลสืบเนื่องมาจากการใช้นโยบายโด่ยโหม่ยปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมืองตั้งแต่ปี 1987 ตลอดจนการร่วมอยู่ในเขตการค้าเสรีอาเซียนตั้งแต่ปี 1995
ทำการค้าเสรีกับสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2000 และร่วมอยู่ในองค์การการค้าโลกตั้งแต่ปี 2007 ซึ่งก็ส่งผลให้การส่งออกของเวียดนามเติบโต รวมถึงการปฏิรูปภายในประเทศ การลดการกำกับควบคุม ลดต้นทุนในการทำธุรกิจ และลงทุนอย่างหนักทั้งโครงสร้างพื้นฐานและการศึกษา
นอกจากนี้ เวียดนามยังลงนามทำความตกลงทางการค้ากับอีกหลายกรอบความร่วมมือ อาทิ สหภาพยุโรป, 11 ประเทศภายใต้ CPTPP, 15 ประเทศภายใต้กรอบ RCEP อีกทั้งบริษัทต่างประเทศหลายแห่งเริ่มมาหาแหล่งลงทุนที่ถูกกว่าจีน เวียดนามกลายเป็นฮับสำคัญในการผลิตของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยังเป็นแหล่งผลิตเสื้อผ้าและอิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่อีกด้วย โดยในปี 2017 เวียดนามก็กลายเป็นผู้ส่งออกเสื้อผ้ารายใหญ่ที่สุดและเป็นแหล่งผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคด้วย
ที่มา – The Straits Times
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา