คำต่อคำ Joe Gebbia ผู้ร่วมก่อตั้ง Airbnb กับเรื่องปัญหากฎหมาย และแนวทางการทำตลาดในไทย

เมื่อประเทศไทยเป็นจุดหมายอันดับต้นๆ ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก คงไม่แปลกที่ Airbnb ผู้ให้บริการ Sharing Economy ด้านที่พักอาศัย จะเข้ามาทำตลาดไทยอย่างจริงจัง แต่จะเป็นไปในทิศทางไหน ลองมาฟังจากปาก Joe Gabbia ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายผลิตภัณฑ์ของบริการนี้กัน

Joe Gabbia ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายผลิตภัณฑ์ Airbnb

จุดเริ่มต้นของธุรกิจมาจากอะไร

Airbnb เริ่มต้นเมื่อปี 2551 โดยมีแนวคิดมาจากการเดินทางไปพักผ่อนต่างที่ แล้วได้ไปพักอาศัยในบ้านของเพื่อนที่สนิท จนทำให้ทีมร่วมก่อตั้งอื่นๆ ทั้ง Brian Chesky และ Nathan Blecharczyk รู้สึกว่าอบอุ่น และให้ความเป็นมิตรมากกว่าการไปพักอาศัยในโรงแรม จึงกลับมาพัฒนาบริการนี้ โดยที่พักอาศัยแห่งแรกที่อยูในแพลตฟอร์ม Airbnb คืออพาร์ทเมนต์ของ Brian และ Joe ในซานฟรานซิสโก และจากวันนั้นถึงตอนนี้ก็มีที่อาศัยในระบบกว่า 3 ล้านแห่งใน 191 ประเทศทั่วโลก ไล่ตั้งแต่บ้านต้นไม้ จนถึงที่พักแบบปราสาท

ส่วนไทยก็เป็นอีกประเทศที่ Airbnb เข้ามาทำตลาดมาระยะหนึ่ง เพราะเป็นอีกจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกอยากมาสัมผัส และตอนนี้ก็มีทีมงานชาวไทยที่ช่วยทำตลาดในประเทศแล้ว เช่นทีมช่วยถ่ายภาพที่พักอาศัยที่สนใจเข้ามาปล่อยเช่าในระบบ รวมถึงการเจรจากับหน่วยงานภาครัฐ ทั้งฝั่งกำกับกิจการ และสนับสนุนการท่องเที่ยว เพื่อเดินหน้าธุรกิจ และช่วยให้ภาครัฐเดินหน้านโยบาย Thailand 4.0 ไปด้วยกัน นอกจากนี้ยังเปิดตัวบริการใหม่ Trips ที่ให้โอกาสเจ้าของบ้าน หรือผู้เชี่ยวชาญในแต่ละท้องถิ่นมาจัดกิจกรรมนำเที่ยวได้เป็นประเทศกลุ่มแรก

เข้าไปเรียนมวยไทยด้วยบริการใหม่ Trips ด้วยตนเอง

มาเมืองไทยครั้งนี้ก็พัก Airbnb

ใช่ เพราะชอบความรู้สึกอบอุ่น เหมือนพักอยู่บ้านตัวเองมากกว่าโรงแรม และไม่ว่าจะไปทริปธุรกิจ หรือทริปส่วนตัวก็จะเลือกใช้ Airbnb ก่อน ซึ่งส่วนตัวคิดว่าก็คงมีคนแบบผมหลายคนที่อยากพักอาศัย และรับรู้ชีวิตท้องถิ่น มากกว่าการไปพักโรงแรมที่ทุกอย่างตั้งแต่ห้องพัก และงานบริการก็เหมือนกันหมดทุกกระเบียดนิ้ว ยิ่งการเดินทางของนักท่องเที่ยวอิสระ หรือ FIT (Free Independent Traveler) มีมากขึ้น Airbnb เป็นตัวเลือกที่ดี เพราะช่วยพวกเขาประหยัดค่าใช้จ่าย และรับรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่หาจากการท่องเที่ยวโดยซื้อโปรแกรมทัวร์ไม่ได้

แล้วเรื่องกฎหมายที่ยังมีปัญหาล่ะ

จริงๆ ตอนนี้ Airbnb ก็มีการพูดคุยกับหน่วยงานกำกับของแต่ละประเทศทั่วโลกอยู่แล้ว เพราะต้องการหาทางออกร่วมกันให้ได้เร็วที่สุด อย่างเช่นบางประเทศก็เริ่มกำกับให้ที่พักอาศัยในระบบให้บริการได้โดยกำหนดช่วงระยะเวลาไว้ และขอยืนยันอีกครั้งว่า Airbnb เป็นแพลฟอร์มที่เชื่อมต่อ Demand กับ Supply ในเรื่องที่พักอาศัย ดังนั้นผู้ให้บริการทั้งสองฝั่งต้องศึกษาเรื่องกฎหมายในแต่ละประเทศด้วยตนเอง แต่หากยืนยันจะใช้บริการ ทาง Airbnb ก็มีระบบบริหารจัดการที่ดี เพราะมีการจัดเรตติ้งจากผู้ใช้เพื่อสร้างมาตรฐานกลาง จนมีผู้เข้าพักทั่วโลกแล้ว 160 ล้านคน

ตัวอย่างบริการ Trips อื่นๆ จากทั่วโลกที่ปัจจุบันมีกว่า 800 รายการให้เลือก

ส่วนเรื่อง Trips ที่เป็นบริการใหม่นั้น ถึงในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับเรื่องนี้ เพราะการนำเที่ยวต่างๆ บางกรณีต้องใช้ใบอนุญาตมัคคุเทศก์ แต่บริษัทก็เปิดกว้างให้ผู้สนใจเข้ามาลงทะเบียนให้บริการ โดยเน้นไปที่กิจกรรมที่ให้ประสบการณ์ใหม่ๆ เช่นเรียนมวยไทย หรือท่องเที่ยวย่านทองหล่อในอีกแบบหนึ่ง เหมือนที่เคยเปิดบริการใน 50 เมืองทั่วโลก เพื่อเติมเต็มบริการให้มีทั้งที่พักอาศัย และยังนำเที่ยวในที่ต่างๆ ได้ด้วย นอกจากนี้ Trips จะเป็นเพียงตัวช่วยเสริมธุรกิจเท่านั้น ไม่ได้มาทดแทนรายได้หลักจากการให้เช่าที่พักอาศัยแต่อย่างใด

แสดงว่าคงไม่กระทบกับธุรกิจโรงแรม

Airbnb เป็นแพลตฟอร์ม และถึงจะเริ่มมีผู้บริโภคบางรายนำที่พักอาศัยมาให้บริการเต็มเวลา แต่ส่วนใหญ่ที่พักอาศัยในระบบก็ให้พักแค่เวลาเจ้าของไม่สะดวกเท่านั้น ดังนั้นการจะมองว่า Airbnb ได้เปรียบธุรกิจโรงแรม ผ่านการให้บริการที่พักโดยไม่เสียภาษีก็คงไม่ได้ และถ้าว่ากันตามตรง Airbnb ก็มีปัญหากับการให้บริการทั่วโลกที่แต่ละประเทศก็มีกฎหมายคนละแบบกัน ซึ่งเราก็พยายามศึกษากฎหมายในทุกประเทศ แต่สุดท้ายแล้วก็มองว่าเรื่องกฎหมายน่าจะเป็นเรื่องรอง เพราะการให้ประสบการณ์ที่ดีทีสุดให้กับผู้ใช้บริการคือเป้าหมายสำคัญที่สุด

ไม่ได้มีแค่กลุ่มต่อต้าน แต่ยังมีกลุ่มสนับสนุนให้มีบริการ Home Sharing ต่อไปด้วย // ภาพจาก Flickr ของ Kevin Krejci

ไทยเป็นอีกประเทศที่เติบโตก้าวกระโดด

สำหรับไทย ปัจจุบันมีที่พักอาศัยในระบบ 43,223 แห่ง โดยกรุงเทพเป็นเมืองที่มีที่พักมากที่สุด หรือ 10,566 แห่ง รองลงมาเป็นภูเก็ต, เกาสมุย และเชียงใหม่ ซึ่งทั้งหมดมีจำนวนที่พักใหม่เพิ่มขึ้นมาเฉลี่ยเกือบ 100% ในปี 2559 เมื่อเทียบกับปี 2558 ส่วนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้บริการในประเทศไทยมีถึง 774,000 คน ดังนั้นคงไม่แปลกที่ไทยจะเป็นหนึ่งในตัวแปรที่ทำให้ภูมิภาคเอเชียเป็นจุดหมายปลายทางอันดับ 1 ที่หลายๆ คนเข้ามาใช้บริการ Airbnb เหนือสหรัฐอเมริกา และยุโรป นอกจากนี้ยังมีคนไทยใช้บริการ Airbnb ไปพักในต่างประเทศถึง 3 แสนคน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา