ถ้านับย้อนไป 5-6 ปี เสื้อผ้าจากแบรนด์ Fast Fashion โดยเฉพาะ Zara และ H&M เป็นที่นิยมมาก เพราะประยุกต์ดีไซน์ที่เพิ่งออกมาจาก Runway ให้ใส่ได้ง่ายขึ้น และมีราคาที่เข้าถึงได้ทุกคน แต่ในปี 2560 อาจไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว
Ecommerce ทำพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน
เมื่อทุกคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ การซื้อสินค้าผ่านโลกออนไลน์ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก และยิ่งปัจจุบันมีห้องเสื้อต่างๆ เข้ามาทำตลาดบนช่องทางนี้มากขึ้น ทำให้ดีไซน์ที่เป็นจุดเด่นของ Fast Fashion เริ่มกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว เพราะดีไซน์ของร้านบนออนไลน์ก็ไม่ได้ด้อยกว่า Fast Fashion เท่าไหร่นัก แถมราคายังถูกกว่า และไม่ต้องเดินออกไปซื้อเองด้วย
จากปัจจัยนี้เองทำให้ Zara และ H&M มีผลประกอบการในปี 2559 ออกมาไม่ดีนัก โดยยักษ์ใหญ่จากสเปนมีกำไรต่ำที่สุดในรอบ 8 ปีที่ทำธุรกิจมา ส่วนฝั่งสวีเดนอย่าง H&M ก็มียอดขายตกเป็นครั้งแรกหากนับการทำธุรกิจในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ที่สำคัญราคาหุ้นของทั้งสองบริษัทก็ปรับตัวลดลงอีกด้วย
Richard Chamberlain นักวิเคราะห์ของ RBC Capital มองว่า ดีไซน์ และราคาไม่ใช่จุดดึงดูดผู้ซื้ออีกต่อไป ดังนั้นถ้ากลุ่ม Fast Fashion จะปรับราคาลงมาอีกก็คงไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง โดยเฉพาะ H&M ที่หากไม่ปรับปรุงการบริหารหน้าร้าน ก็อาจทำให้ยอดขายในแต่ละสาขาลดลง 3% ในปีนี้
ค่าเงินผันผวนก็มีปัญหาในการทำตลาด
ขณะเดียวกันจากการทำตลาดทั่วโลก และต้องตั้งราคาให้ใกล้เคียงกัน แต่ด้วยปัญหาเรื่องค่าเงินที่ผันผวนทั้งดอลลาร์สหรัฐ และยูโร ทำให้ยักษ์ใหญ่ Fast Fashion นั้นถูกปัจจับลบเรื่องนี้โจมตีเรื่องเป้าหมายรายได้เช่นกัน และในปีนี้ก็ยังมีโอกาสเช่นนั้นอยู่ เพราะเศรษฐกิจโลกยังไม่นิ่ง
สำหรับ H&M ปัจจุบันมีสาขาทั้งหมด 4,393 แห่งทั่วโลก เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีอยู่ 3,970 แห่ง ส่วน Zara มีสาขาทั้งหมดกว่า 2,100 แห่งทั่วโลก
อ้างอิง // Fast Fashion Fading as H&M, Zara Shine Light on Industry Strains
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา