ทิศทางการดำเนินธุรกิจ SCG ประจำปี 2564 มุ่งหน้าดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนควบคู่กับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์และให้ความสำคัญกับการบริหารความต่อเนื่องของธุรกิจ
รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCG พูดถึงหัวใจความสำเร็จของปีที่ผ่านมาว่า ธุรกิจจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนผ่านธุรกิจ BCM (Business Continuity Management) คือการทำยังไงให้ธุรกิจเรามีความต่อเนื่อง ต้องบอกว่า COVID-19 ไม่ได้อยู่ในสารบัญการทดสอบของเรา แต่โครงสร้างที่มีอยู่มีคนรับผิดชอบส่วนนี้ ทำให้ธุรกิจ SCG ปรับตัวได้เร็ว
การบริหาร BCM ทำให้เราก้าวข้ามวิกฤตได้ ช่วงแรกที่เกิด COVID-19 ระบาด หลักๆ คือการแพร่เชื้อจากคนสู่คน ส่วนหนึ่งเกิดจากการเดินทาง เราเริ่มดูแลคนที่ต้องเดินทางไปกลุ่มที่เสี่ยง เราคุยกันเรื่องกักตัวผู้ไปกลุ่มประเทศเสี่ยงก่อน พอโควิดระบาดใกล้ตัวมากขึ้น เราคุยกันว่าวิกฤตครั้งนี้รุนแรง มีสามเรื่องที่เราให้ความสำคัญคือ เรื่องพนักงาน, การผลิตสินค้าและการส่งมอบสินค้าให้ลูกค้า
เรื่องแรกคือเรื่องของพนักงาน เราต้องมาคิดกันว่าทำยังไงให้พนักงานมีความมั่นใจที่ทำงาน เราไม่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ถ้าพนักงานไม่มีความมั่นใจที่จะทำงานใน SCG จากนั้นก็เรื่อง Supply Chain การสั่งซื้อวัตถุดิบ การผลิตสินค้า ทำยังไงเมื่อเกิดความเสี่ยงบริเวณที่ผลิตสินค้า จะแก้ปัญหาและกลับมาให้บริการลูกค้าเร็วที่สุด และส่วนที่สามคือการส่งมอบให้ลูกค้า
เมื่อธุรกิจไปได้แล้วเราก็ไปทำเรื่อง CSR ด้วย ทั้งเมืองไทยเมื่อเจอวิกฤตนี้ค่อนข้างเหนื่อย บุคลากรทางการแพทย์เหนื่อยมาก หมอกังวลที่ต้องไปตรวจหาเชื้อ จะติดเชื้อกลับมาไหม เราก็หาแนวคิดว่าทำยังไงให้บุคลากรทางการแพทย์มั่นใจ จึงนำไปสู่เรื่องทำห้องที่มีการตรวจ การเทสต์ และคิดว่าทำยังไงให้ปลอดภัยสุด มันก็มีเรื่อง Modular Construction เพื่อช่วยบุคลากรทางการแพทย์ก่อน เราก็เริ่มทำและส่งไปโรงพยาบาล 50-60 แห่ง จากนั้นก็ทำยังไงจะเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้ ก็เริ่มนำเทคโนโลยี ทำแพคเกจจิ้งมาช่วยด้วย
ความท้าทายปี 2564 โควิด-19 ยังไม่จบ
เรื่องของเศรษฐกิจ บางธุรกิจได้รับผลกระทบหมด การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบหนักสุด บ้านเราล็อคดาวน์กลางเดือนถึงปลายมีนาคม ช่วงนั้นตลาดแสดงให้เห็นจริงๆ ว่าคนหรือผู้บริโภคต้องการอะไร เราจะเห็นเลยว่าอะไรที่เรียกว่า essential สำหรับผู้บริโภคจริงๆ คือเรื่อง delivery ตามด้วยเรื่องความสะอาด คือ touchless คือทำยังไงให้ไม่ต้องสัมผัส ทำให้ได้เห็นเลยว่าความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคคืออะไร
ภาพตอนนี้ คนที่ฉีดวัคซีนไปแล้วมี 140-150 ล้านคนแล้ว คนที่ติดเชื้อจริง 100 กว่าล้าน เราผ่านจุดที่คนฉีดวัคซีนมากกว่าคนติดเชื้อ โลกเรามี 7,000-8,000 ล้านคน เราเริ่มเห็นแล้วว่าจุดต่ำสุดของโควิดอยู่ตรงไหน จุดต่ำสุดนี้อาจจะยาว หลายแห่งระบุว่า 2-3 ปีกว่าจะฉีดวัคซีนได้ทั้งโลก เมื่อผ่านจุดต่ำสุดนี้ไป บริษัทต้องเริ่มคิดแล้วว่า New Normal เป็นยังไง
Delivery service, Technology, E-commerce, Hygiene เรื่องเหล่านี้เห็นได้ชัด อยู่ที่ว่าเราจะบริหารการจัดการอย่างไร ท่องเที่ยวนี่ยังไม่แน่ว่าจะเป็นจุดต่ำสุดหรือยัง หลายอุตสาหกรรมก็อาจผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ก็อยู่ที่การปรับตัวธุรกิจ ทุกวิกฤต ธุรกิจที่รอดอยู่ได้คือปรับตัว ต้องปรับเร็วด้วย
วันนี้มีข่าวบอกว่า บริษัทเครื่องดื่มบอกว่าขวดน้ำที่ขาย ในอีกปีหนึ่งจะเป็นรีไซเคิลหมด SCG ที่คุยกับนักลงทุนมา เราใช้เวลากับ ESG มากอย่างเห็นได้ชัด มีการพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ESG คือ Environment สิ่งแวดล้อม Social สังคม Governance ธรรมาภิบาล ESG กำลังเป็นที่สนใจ นักลงทุนมองว่าธุรกิจที่เขาจะลงทุนคือบริษัทที่มีคะแนน ESG ดีกว่าบริษัทอื่นๆ แม้เจอโควิดระบาด นักลงทุนรายใหญ่ของโลกหลายราย ก็ให้ความสำคัญเรื่องนี้ เขาใช้เวลาครึ่งหนึ่งของการประชุมพูดถึงเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งโควิดมีผล จากเดิมธุรกิจที่กำลังไปได้ดี แต่เมื่อเจอโควิดเข้ามา ธุรกิจเหล่านั้นรับมือได้อย่างไร
SCG มี 3 ธุรกิจหลัก คือซีเมนต์ วัสดุก่อสร้าง, เคมิคอลส์, แพคเกจจิ้ง
เรามีสามบ้านในบ้านจะมีคู่แข่ง ลูกค้า แนวโน้มตลาดและวิธีการทำธุรกิจแตกต่างกัน ทั้งสามธุรกิจที่มี Strategy เดียวที่แชร์กันได้ ก็คือ ESG ซึ่งเราเรียกกันว่า Sustainable Development การพัฒนาต่อไปให้ยั่งยืนจะอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มองการพัฒนาในระยะยาว อยู่ไม่ได้ถ้าเราไม่มีความโปร่งใสหรือไม่มีบรรษัทภิบาลในการบริหารจัดการ เรามีพื้นฐานอยู่แล้ว ทำอย่างไรให้เข้าไปใน DNA เราเรียกว่า ESG Integration
ปลายเดือนที่ผ่านมา เราพัฒนา Chemical Recycle คือสินค้าเคมิคอลส์ทำอย่างไรไม่ให้เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อม คือกลับไปใช้ใหม่ เอา ESG เข้าไปอยู่ในวิธีการทำธุรกิจ นี่คือส่วนที่อยู่ในตัว E และตัว E อีกอย่างหนึ่งคือการใช้พลังงานทดแทน เราสามารถที่จะใช้พลังงานอะไรเข้ามาทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พัฒนาโซลาร์เซล การลงทุนถึงจุดที่ว่าทำได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า หรือ non renewable
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ S หรือสังคม สินค้าบริการของเราทำอย่างไรให้มีความปลอดภัย ทำให้ผู้บริโภคมีความสบายใจที่จะใช้ของเรา ทั้งเรื่องความสะอาด well-being การไร้สัมผัส เช่น สุขภัณฑ์ออกมาในลักษณะ Touchless
อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องน้ำ เราทำมา 20 ปีแล้ว การทำฝาย ทำให้ป่ากลับมา ให้น้ำกลับมามีแหล่งน้ำมากขึ้น ในขั้นถัดไปคือการใช้น้ำหมุนเวียน มีน้ำแล้วบางทีบางจุดมันไม่พอ ไม่ใช่ว่าทุกจุดมีเหมือนกันหมด มีบางจุดน้ำน้อย น้ำมาก ทำอย่างไรที่จะมีระบบให้เอาน้ำมาใช้แบบหมุนเวียนได้ น้ำเกี่ยวกับทุกคน
หน้าที่หนึ่งของบริษัท ทำยังไงให้ความเป็นอยู่ของคนดีขึ้น ถ้าช่วยคนกลุ่มใหญ่ได้ก็เป็นประโยชน์ เราพูดกันเสมอว่าน้ำคือชีวิต มีน้ำก็ทำให้คนมีอาชีพได้ การใช้น้ำหมุนเวียนก็ทำให้ใช้น้ำได้อย่างคุ้มค่า ทำให้คนประกอบอาชีพได้มากขึ้น ในการเพาะปลูกจากเดิมใช้น้ำ 1-2 ครั้ง พอมีน้ำหมุนเวียนก็ใช้ได้ 3-4 ครั้ง เหล่านี้คือหน้าที่ของบริษัท เราต้องยอมรับว่าถ้าสังคมอยู่ไม่ได้ บริษัทก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน
ตัวสุดท้ายคือ G สิ่งสำคัญที่สุดคือความโปร่งใส มันเป็นพื้นฐาน เป็นเรื่องยากที่นักลงทุนจะลงทุนในบริษัทที่ไม่รู้ว่าทำธุรกิจอย่างไร ความโปร่งใสคือพื้นฐานของบรรษัทภิบาล ธุรกิจย่อมเข้าใจอยู่แล้วโดยเฉพาะธุรกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ต้องเปิดเผยให้ทันและชัดเจน
ในด้านดิจิทัลมองได้ 3 ส่วน
ส่วนหนึ่งคือการให้บริการ เช่น อีคอมเมิร์ซให้คนซื้อของผ่านแพลตฟอร์มได้ อีกส่วนหนึ่งคือซัพพลายเชน ทำยังไงที่ทำให้ต้นทุนที่ส่งของจากโรงงานผู้ผลิตไปยังลูกค้าในต้นทุนที่ต่ำสุดในเวลาที่คุยกันไว้ นี่คือดิจิทัลด้านโลจิสติกส์ และส่วนต่อมาคือ ดิจิทัลด้านการผลิตให้มีประสิทธิภาพที่สุด ตรงที่สุด จัดการดีที่สุด คือเรื่อง automation คือเอาโรบอตมาใช้ในการผลิต ส่งของ การเก็บสิ่งของ
ส่วนเรื่อง digital economy มุมมอง SCG มีสามเรื่องทั้งเกี่ยวข้องกับลูกค้า การโลจิสติกส์ และการผลิต นอกจากนี้ก็มีเรื่องสุขภาพ ปัจจุบันเรา Work from home เยอะขึ้น เราเริ่มเห็นความน่าอยู่ของบ้านมากขึ้น มันไม่ใช่แค่ WFH แล้วแต่เป็น WFA คือ Work from anywhere ตรงนี้เราต้องสังเกตให้เห็นคือเข้าใจความต้องการผู้บริโภค ปรับตัว และความเร็วทำให้ SCG ผ่านหนึ่งปีที่ผ่านมา
โควิด-19 จะกระทบธุรกิจปี 64 อย่างไร
เราเห็นความต้องการผู้บริโภคมากขึ้นในส่วนของแพคเกจจิ้ง ทำอย่างไรถึงจะบริหารจัดการการเติบโตของธุรกิจได้ ส่วนที่สองคือผลกระทบมากสุดคือซีเมนต์ วัสดุก่อสร้าง พอเจอโควิด-19 การก่อสร้างใหม่จะขายนักท่องเที่ยวก็ไม่รู้จะขายใครแล้วตอนนี้ จะได้ก็ได้ infrastructure ของภาครัฐยังไปได้อยู่
พวกวัสดุก่อสร้างต้องเน้นให้ความสะดวกกับการอยู่อาศัยให้มากขึ้น ส่วนเคมิคอลส์ในด้านหนึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด แต่อีกด้านหนึ่ง ในส่วนของความสะอาด health care หน้ากาก หรือการทำให้คนสบายใจที่จะใช้ก็จะยังไปได้ ธุรกิจเคมิคอลส์ที่เข้าไปอยู่ในอุตสาหกรรมที่กำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์จากเดิมมาเป็น EV ตอนนี้ก็ปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงตรงนี้
การลงทุนใหม่เน้นเรื่องการรองรับการเติบโตที่ขยายตัวมากขึ้น
การลงทุนทั้งด้านแพคเกจจิ้งที่มีการเติบโตมากขึ้น ในด้านซีเมนต์จะลงทุนการปรับปรุงสินค้าและบริการมากขึ้นเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในส่วนของการซ่อมแซมให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันดีขึ้นและปรับให้ดีขึ้น นอกจากนี้ธุรกิจเคมิคอลส์ก็จะมีการปรับให้เข้าสู่ circular economy มากขึ้น
การลงทุนในตลาดที่มีศักยภาพอยู่ ตอนนี้ปิโตรเคมีในเวียดนามก็เป็นตลาดที่ใหญ่มาก ตอนนี้เราไป 70% แล้ว อีกปีสองปีจะเพิ่มมากขึ้นในส่วนของการเข้าไปตลาดใหม่ๆ หรือลงทุนในส่วนนวัตกรรม และอีกส่วนหนึ่งจะปรับเข้าสู่ circular economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน)
สิ่งที่เราคุยกันมาตลอด หลังจากโควิดแล้วก็ยังไปต่อได้ การทำงานต้องรวดเร็วมากขึ้น ตลาดในอาเซียนมีศักยภาพไปได้อีก อินโดนีเซียก็ยังไปได้ ในส่วนของนวัตกรรมก็ต้องรวมเทคโนโลยีและดิจิทัลเข้าไปด้วย ธุรกิจเรายังให้ความสำคัญเรื่องนี้อยู่ เดิมเราใช้ Sustainble Development ก็จะเป็น ESG ก็ได้เพราะอยู่ในรูปแบบเดียวกัน
เรื่องของ innovation สินค้า HVA (High Value Added Products & Services) ที่มีมูลค่าสูงถ้ามีมากก็ยิ่งดี ตอนนี้เฉลี่ยประมาณ 30% สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง อีกสองปีถัดไปอาจจะไม่ใช่แล้ว
ประเทศไทยกับความจำเป็นของวัคซีน อาจจะน้อยกว่าประเทศอื่นที่มีการติดเชื้อเยอะ ก็เป็นความท้าทายของบ้านเราที่จะทำอย่างไรให้เข้าถึงวัคซีนได้อย่างปลอดภัยและรวดเร็วและกระจายวัคซีนได้อย่างทั่วถึง
ประเทศที่ไปลงทุนตอนนี้
หลักๆ คือเวียดนาม อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ซึ่งสองประเทศหลังก็ต้องดูเงื่อนไขในการรับมือโควิด ส่วนเมียนมา ในส่วนของ SCG ก็ไม่สามารถให้ความเห็นการเมืองของประเทศเขาได้ แต่เราสนใจความปลอดภัยของพนักงานราว 2,000 กว่าคน ส่วนใหญ่มีสัญชาติเมียนมา เราก็ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดให้ทำงานได้อย่างสะดวกใจมากที่สุด
ปัจจัยของความสำเร็จต้องเข้าใจความต้องการของผู้บริโภค ต้องปรับตัวด้วยความรวดเร็ว วิกฤตโควิดต่อไทยและโลกมีความรุนแรงอย่างมาก เรายังไม่เห็นว่าจะผลกระทบจะยาวนานขนาดไหน แต่เริ่มเห็นทางออก ในวิกฤตมีโอกาส คนที่อยู่รอดได้ระยะยาวคือคนที่ใช้วิกฤตในการปรับตัว
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา