ตรงข้ามกับเศรษฐกิจที่รุดหน้าของญี่ปุ่น ประเด็นสังคมเป็นสิ่งที่ญี่ปุ่นถูกวิพากษ์ว่าล้าหลัง
ล่าสุด ญี่ปุ่นได้พิสูจน์อีกครั้งหนึ่งว่า ข้อความข้างต้นยังคงเป็นความจริง เมื่อ Yoshiro Mori ซีอีโอของงาน Olympic 2020 กล่าวในที่ประชุมออนไลน์ว่า “การประชุมกับผู้หญิงมักจะกินเวลานาน เพราะพวกเธอพูดมากเกินไป”
ประเด็นดังกล่าว กลายเป็นที่เพ่งเล็งและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่น่าสนใจว่า Yoshiro Mori ไม่ได้มีท่าทีว่าจะลาออกทันทีที่มีกระแสต่อต้านเขา สิ่งที่เขากระทำหลังจากนั้น มีเพียงการกล่าวคำขอโทษต่อหน้าสื่อมวลชนและถอนคำพูด ซึ่งเขาปฏิเสธที่จะลาออก
การเหยียดเพศไม่ใช่ประเด็นบุคคล แต่เป็นปัญหาภาพใหญ่ของสังคมญี่ปุ่น
ประเด็นของ Yoshiro Mori ที่เป็นกระแสขึ้นมาในครั้งนี้ก็ได้จุดประกายให้ทบทวนในเรื่องนี้ในเชิงลึกต่อไป เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกในการแสดงทัศนะแบบเหยียดเพศของ Yoshiro Mori ก่อนหน้านี้
Mori โลดแล่นในวงการการเมืองมายาวนาน เคยดำรงตำแหน่งอดีตนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น (ปี 2000-2001)
ในปี 2009 เขาเคยหาเสียงโดยโจมตีผู้สมัครเพศหญิงว่าถูกเลือกเพียงเพราะรูปร่าง หน้าตา พร้อมทั้งเคยเตือนให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอย่าเลือกเพียงเพราะความเยาว์วัยและความประทับใจที่มีต่อนักการเมืองเพศผู้หญิง
ที่น่าสนใจคือ เขายังสามารถก้าวเข้าสู่ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตั้งแต่ปี 2012 และรวมถึงในปัจจุบันที่ยังคงดำรงตำแหน่งที่มีหน้ามีตาในสังคมอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้
เมื่อพิจารณาความคิดเห็นที่มีต่อกรณี Yoshiro Mori ของระดับสูงในวงการการเมือง ท่าทีของพวกเขาต่างก็เผยให้เห็นวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ในสังคม
ไม่ว่าจะเป็นความเห็นของ Toshihiro Nikai เลขาธิการทั่วไปของพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย (พรรคที่เป็นรัฐบาลในขณะนี้) ซึ่งถือว่าเป็นเบอร์ 2 ของพรรค ที่กล่าวในวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า “กรณีนี้ไม่เป็นปัญหาที่จะให้ Mori เป็นประธานจัดการแข่งขันต่อไป เพราะเขาถอนคำพูดแล้ว”
รวมถึงท่าทีของนายกรัฐมนตรี Yoshihide Suga ที่แม้จะกล่าวว่าคำพูดของ Yoshiro Mori ขัดกับผลประโยชน์แห่งชาติ แต่เมื่อถูกถามต่อไปว่า Mori ควรลาออกหรือไม่ Suga เพียงให้ความเห็นว่านั่นเป็นการตัดสินใจของ Mori เอง
ความเห็นของระดับสูงในวงการการเมืองญี่ปุ่น แสดงให้เห็นว่าวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ไม่ได้ร้ายแรงถึงขั้นคอขาดบาดตายในสายตาของชนชั้นนำทางการเมืองญี่ปุ่น และทัศนคตินี้เมื่ออยู่ในวงการเมืองระดับบนอย่างเหนียวแน่นก็ยิ่งทำให้การเหยียดเพศซึมลึกลงในโครงสร้างทางสังคม
ข้อเท็จจริงนี้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า “การเหยียดเพศ” ในญี่ปุ่น ไม่ใช่ความผิดพลาดของตัวบุคคล แต่เป็น การเหยียดเพศที่ซึมลึกอยู่ในสถาบันทางสังคม (Institutionalized sexism) เพราะเห็นได้ชัดเจนว่าทัศนคติแบบเหยียดเพศไม่ได้เป็นคุณลักษณะที่ไม่พึงประสงค์ในสังคม
- โควิดระบาดเร่งให้ญี่ปุ่นมีคนยากจนเพิ่ม ฆ่าตัวตายมากขึ้น
- โควิดพ่นพิษแรงงาน ทำคนถอดใจ เลิกหางานทำ
- แคมเปญ You Can’t Stop Us ต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ ของ Nike ได้รับกระแสลบจากคนญี่ปุ่น
ญี่ปุ่น เศรษฐกิจนำหน้า แต่อีกหลายเรื่องยังตามหลัง โดยเฉพาะเรื่องเพศ
นักเศรษฐศาสตร์หลายคนจากสถาบันชั้นนำทั้ง Goldman Sachs และ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เคยเรียกร้องให้ญี่ปุ่นแก้ไขปัญหาการเหยียดเพศที่ซึมลึกในระดับสถาบัน พร้อมชี้ว่ามีงานวิจัยให้เห็นว่า ยิ่งประเทศมีความเท่าเทียมทางเพศสูง ก็จะยิ่งมีความสร้างสรรค์ มีผลิตภาพ และความมั่งคั่งที่สูงขึ้นตามไปด้วย
ในหลากหลายตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นถูกจัดเป็นประเทศชั้นนำ แต่ในตัวชี้วัดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ญี่ปุ่นกลับเป็นประเทศที่แย่ในระดับรั้งท้าย
ดัชนีการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ปี 2020 โดย World Economic Forum ญี่ปุ่นได้อันดับ 121 จาก 153 ประเทศ ตามหลังประเทศอื่นๆ เช่น
- ฟิลิปปินส์ (อันดับ 15)
- ซิมบับเว (อันดับ 47)
- ไทย (อันดับ 75)
- จีน (อันดับ 106)
ในการจัดอันดับ สัดส่วนของเพศหญิงในรัฐสภา ญี่ปุ่นได้อันดับ 166 ตามหลังประเทศปากีสถาน ลิเบีย หรือแม้แต่ซาอุดิอาระเบีย ที่ขึ้นชื่อเรื่องการกีดกันทางเพศ
พรรคเสรีนิยมประชาธิปไตยพยายามจะชูประเด็นเรื่องการลดช่องหว่างระหว่างเพศหญิงและชาย โดยการผลักดันบทบาทผู้หญิงในการเมือง และโน้มน้าวบริษัทให้เพิ่มจำนวนสุภาพสตรีในตำแหน่งระดับบริหารตั้งแต่ปี 2001 ในสมัยของนายกรัฐมนตรี Junichiro Koizumi และนายกรัฐมนตรีคนต่อมาอย่าง Shinzo Abe ก็ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำให้สุภาพสตรีได้เฉิดฉาย
แต่ในความเป็นจริง เรื่องนี้กลับเป็นความพยายามที่เหมือนผักชีโรยหน้าของทั้งสองรัฐบาล ในสมัยของ Shinzo Abe มีสุภาพสตรีเป็นรัฐมนตรีเพียง 2 ตำแหน่ง จากทั้งหมด 20 ตำแหน่ง และเธอยังมีอำนาจหน้าที่และบทบาทน้อยกว่า จนมีการวิพากษ์อย่างรุนแรงว่าเป็นได้เพียง “ไม้ประดับ”
ในภาคธุรกิจ ผู้หญิงมีส่วนร่วมในตำแหน่งต่างๆ มากขึ้นถึง 70% ซึ่งเป็นสถิติสูงสุด แต่เมื่อพิจารณาดีๆ พวกเธอถูกตั้งในตำแหน่งงานที่ได้เงินน้อยกว่าและมีความมั่นคงต่ำกว่าผู้ชายทั้งสิ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน มีสถิติที่ระบุว่า ช่วงโควิด-19 ผู้หญิงในญี่ปุ่นก็ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียตำแหน่งงานมากกว่าผู้ชาย
ที่มา – Nikkei Asia, Japan Times (1) (2) (3)
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา