เชื่อว่าในยุคนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก OnlyFans แพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีชื่อเสียงจากการเปิดพื้นที่สำหรับการสร้างคอนเทนต์ 18+ สำหรับใครก็ได้ที่ต้องการสร้างรายได้จากร่างกายในฐานะงานศิลปะที่สร้างขึ้น
รูปแบบของ OnlyFans จะแตกต่างจาก Social Network อื่นๆ ทั้ง Facebook, Instagram, Twitter ที่แพลตฟอร์มเหล่านี้ผู้ใช้งานสามารถติดตามบุคคลที่ชื่นชอบได้แบบฟรีๆ โดยอาจมีข้อแลกเปลี่ยนเป็นข้อมูลที่เก็บไปเพื่อการทำโฆษณาแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย
แต่ OnlyFans เป็นแพลตฟอร์มที่ เจ้าของคอนเทนต์ เลือก “เก็บเงิน” จากแฟนๆ ผู้ติดตามในราคาตั้งแต่ 4.99-49.99 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินราว 150-1,500 บาท โดย OnlyFans จะหักค่าธรรมเนียมไป 20% แลกกับการลงคอนเทนต์ในแพลตฟอร์มที่มีอิสระมากกว่า เช่น การไม่แบนรูป หรือคลิปวิดีโอที่มีเนื้อหา 18+ ทำให้ OnlyFans มีชื่อเสียงในแง่มุมนี้ จนหลายคนเข้าใจผิดคิดว่า OnlyFans มีเพียงคอนเทนต์ที่เหมาะกับผู้ใหญ่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แตกต่างจากแพลตฟอร์มอื่นๆ โดยเฉพาะ Facebook และ Instagram แม้จะสามารถโพสต์ภาพได้เหมือนๆ กัน แต่มีกฎดูแลคอนเทนต์ที่เข้มงวดมากกว่า OnlyFans
แม้ว่า OnlyFans จะเป็นที่รู้จักจากการเป็นแพลตฟอร์มสำหรับคอนเทนต์ที่มีความแรงระดับ 18+ จากบรรดาผู้มีชื่อเสียงในโลกออนไลน์ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่ในความจริงแล้ว OnlyFans ก็ไม่ได้มีเพียงคอนเทนต์ชนิดนี้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
เพราะในความจริงแล้ว OnlyFans ยังมีคอนเทนต์ในรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งคอนเทนต์จากนักดนตรีที่บันทึกการฝึกซ้อมภายห้องอัด คนในแวดวงธุรกิจที่ถ่ายทำคลิปวิดีโอสอนกลยุทธ์ และการสร้างความก้าวหน้าในอาชีพ หรือแม้แต่ Drag Queen ที่ทำคลิปสอนแต่งหน้าให้กับแฟนๆ ของตัวเองได้ดู
อย่างไรก็ตามคงปฎิเสธไม่ได้ว่า OnlyFans กลายเป็นแพลตฟอร์มที่เป็นที่รู้จักกันในช่วงโควิด-19 ระบาด เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดส่งผลต่อการหาเลี้ยงชีพของคน บางคนตกงาน โดนลดเงินเดือน แต่รายจ่ายไม่เคยลดลงตามรายรับ OnlyFans จึงกลายเป็นทางออกสำคัญของหลายๆ คน ที่อยากสร้างรายได้จากการทำคอนเทนต์แบบ 18+ จากที่บ้านของตัวเอง
โควิดแจ้งเกิด OnlyFans: สู่ผู้ใช้งาน 90 ล้านคน
แม้ว่า OnlyFans จะเป็นแพลตฟอร์มที่มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2016 แต่ความจริงแล้ว OnlyFans ก็เพิ่งจะมาเป็นที่รู้จักอย่างจริงจังในช่วงที่โควิด-19 ระบาดนี่เอง
จากการรายงานของนิตยสาร Forbes พบว่า จำนวนผู้ใช้งาน OnlyFans เพิ่มสูงขึ้นถึง 75% ตั้งแต่โควิด-19 เริ่มระบาด และจากสถิติล่าสุดในเดือนธันวาคม 2020 OnlyFans มีจำนวนผู้ใช้งานทั้งสิ้น 90 ล้านคน โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ราว 1 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 1.2 แสนคน เมื่อปี 2019
ด้านการสร้างรายได้ นับตั้งแต่ปี 2016 จนถึงปัจจุบัน OnlyFans จ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กับผู้ผลิตคอนเทนต์ไปแล้วกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5.98 หมื่นล้านบาท
ด้วยจำนวนตัวเลขผู้ใช้งานในระดับ 90 ล้านคน รวมถึงการจ่ายรายได้ให้กับผู้ผลิตคอนเทนต์ไปแล้ว 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ OnlyFans กลายเป็นแบรนด์ที่มีมูลค่ารวมกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.9 หมื่นล้านบาท ทั้งที่เพิ่งจะก่อตั้งในปี 2016
หากเทียบให้เห็นภาพมูลค่าของบริษัทในระดับนี้ Netflix ต้องใช้เวลานับ 10 ปี และ Apple ต้องใช้เวลา 14 ปี จึงจะมีมูลค่าบริษัทในระดับพันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ช่องทางทำเงิน สร้างรายได้ให้ผู้ตกงานจากโควิด-19
Savannah Benavidez พนักงานในโรงพยาบาลที่ตกงานเพราะสถานการณ์โควิด-19 ด้วยภาระที่มี ต้องดูแลลูกในวัยเพียง 2 ขวบ ต้องจ่ายค่าน้ำค่าไฟ จึงทำให้เธอตัดสินใจหารายได้ด้วยการสร้างคอนเทนต์ 18+ บน OnlyFans ซึ่งเธอสามารถสร้างรายได้กว่า 64,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.91 ล้านบาท ไม่เพียงแต่จะเป็นการเลี้ยงดูตัวเองและลูกได้ แต่ยังสามารถช่วยเหลือครอบครัว และเพื่อนๆ จ่ายค่าเช่าบ้าน และค่าเช่ารถยนต์ได้ด้วย ซึ่งรายได้จาก OnlyFans ยังมากกว่าอาชีพอื่นที่เธอเคยทำมาด้วยซ้ำ
อีกหนึ่งตัวอย่างของผู้ที่สร้างเงินจำนวนมหาศาลบน OnlyFans คือ Bella Thorne อดีตนักแสดงดิสนีย์ สร้างรายได้ 1.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 41.9 ล้านบาท ภายในเวลา 24 ชั่วโมงหลักการเปิดบัญชี OnlyFans ด้วยการตั้งค่าสมาชิก 200 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน หรือประมาณเกือบ 6,000 บาท
คนยอมจ่ายเงินให้ OnlyFans แบบเดียวกับที่ยอมจ่ายให้ Starbucks
OnlyFans ได้สร้างมาตรฐานใหม่ในการสร้างรายได้จากคอนเทนต์ 18+ ที่เหมาะกับผู้ใหญ่ในแง่มุมที่ต่างจากเดิม นั่นคือในอดีตคอนเทนต์ 18+ หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่าหนังโป๊ มีให้เลือกดูฟรีบนเว็บไซต์ต่างๆ มากมาย แม้จะมีบางเว็บไซต์เก็บเงินเพื่อดึงดูดให้ผู้ใช้งานเข้าชมคอนเทนต์ที่มีความพรีเมี่ยมมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายมากนัก
แต่การมาของ OnlyFans เปลี่ยนภาพของการเสพคอนเทนต์ 18+ จากที่คนเคยชินแต่การดูฟรีๆ มาเป็นการเสียเงินให้กับบุคคลที่ต้องการสนับสนุนอย่างจริงจังมากที่สุดเท่าที่เคยมี
ความจริงแล้วการเสียเงินให้กับคอนเทนต์ใน OnlyFans ก็เปรียบเทียบได้กับการเสียเงินเพื่อซื้อกาแฟแบรนด์ดังอย่าง Starbucks นั่นเอง
ย้อนกลับไปในยุค 1970 กาแฟที่ขายอยู่ตามท้องตลาดมีแต่กาแฟที่มีคุณภาพธรรมดาๆ เป็นกาแฟที่มีคาเฟอีน แต่ไม่ได้มีคุณภาพดี หรือสร้างความแตกต่างมากเท่าไหร่นัก แต่การมาของ Starbucks กลายเป็นการเปิดโลกการดื่มกาแฟให้กับคนทั่วไป ให้สามารถเข้าถึงกาแฟคุณภาพดีได้ง่ายๆ ปรับแต่งเมนูตามความชอบได้ เช่น อยากดื่มกาแฟแบบไม่มีคาเฟอีน ใส่นมถั่วเหลือง หรือจะใส่คาราเมล 2 ปั๊มก็ได้ตามความชอบ แม้จะต้องจ่ายเงินแพงกว่ากาแฟแบรนด์อื่นๆ ผู้บริโภคก็ยอมจ่ายเพื่อประสบการณ์ และคุณภาพของกาแฟที่ดีกว่า
เช่นเดียวกันกับ OnlyFans ที่เปลี่ยนความคิดการเสพคอนเทนต์ 18+ จากดูฟรี เป็นเสียเงินรายเดือน เพราะผู้ชมได้ดูคอนเทนต์ที่ตรงกับความชอบของตัวเอง ผลงานมีคุณภาพ เติมเต็มความต้องการของผู้ชมได้ดีกว่า แม้ต้องเสียเงินรายเดือนแพงๆ ก็ยอมจ่าย เพราะคอนเทนต์ที่รับชมตรงกับความชอบของตัวเอง
ทำ OnlyFans ไม่ง่าย มีต้นทุนแฝงที่ต้องแบกรับ
อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าผู้ที่สร้างคอนเทนต์บน OnlyFans จะประสบความสำเร็จ และได้รับรายได้มหาศาลกันหมดทุกคน เพราะความจริงแล้วผู้ที่สร้างรายได้จำนวนมากคิดเป็นส่วนน้อยเท่านั้น
พนักงานร้านอาหารรายหนึ่งในสหราชอาณาจักรที่ตกงานจากวิกฤตโควิด-19 รายหนึ่ง เล่าว่า เธอทำ OnlyFans เพราะตกงาน และหวังจะใช้เป็นช่องทางการหารายได้ แต่เธอก็ได้รับค่าตอบแทนจาก OnlyFans เพียง 500 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 14,900 บาทเท่านั้น ซึ่งไม่ได้มากเลยหากเทียบกับคนที่ทำ OnlyFans คนอื่นๆ ที่ประสบความสำเร็จ
นอกจากประเด็นเรื่องรายได้จาก OnlyFans ที่ไม่ได้มากอย่างที่คิดแล้ว อย่าลืมว่าการสร้างคอนเทนต์ลงบน OnlyFans ไม่ใช่งานง่ายๆ เสมอไป
เพราะในความจริงแล้วการสร้างคอนเทนต์บน OnlyFans เป็นเหมือนการขายงานศิลปะรูปแบบหนึ่ง ที่ต้องสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ที่ยอมเสียเงินสมัครสมาชิก OnlyFans ยิ่งเก็บเงินในราคาแพงมากเท่าใด ความคาดหวังของผู้ที่ยอมเสียเงินก็จะมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งจะกลายเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้สร้างคอนเทนต์ ที่ต้องคอยคิดคอนเทนต์รูปแบบใหม่ๆ ตลอดเวลา
นอกจากจะต้องคอยคิดสร้างสรรค์คอนเทนต์ใหม่ๆ ตลอดเวลาแล้ว คุณภาพก็สำคัญเช่นกัน เจ้าของคอนเทนต์บน OnlyFans บางคนถึงขนาดต้องมีการทำงาน Production ของตัวเอง จ้างตากล้องให้ถ่ายทำแทนการใช้กล้องจากโทรศัพท์มือถือ มีการจัดวางองค์ประกอบ ทั้งด้านภาพ และเสียงให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งงานเหล่านี้มีต้นทุนที่สูง ทั้งในเชิงมูลค่าเงิน และเวลาที่ต้องใช้ไป ดังนั้นการทำ OnlyFans จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลามาก
แถมอีกประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ แม้บางคนจะสามารถใช้ OnlyFan ให้กลายเป็นช่องทางในการหารายได้หลัก และสร้างรายได้อย่างมหาศาล แต่อย่าลืมว่า OnlyFans ก็ยังมีต้นทุนแฝงอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่าต้นทุนค่าเสียโอกาสในโลกนอก OnlyFans
ไม่ใช่ทุกๆ จะเข้าใจการทำคอนเทนต์ 18+ บน OnlyFans ได้ เคยมีบางกรณีที่ผู้สร้างคอนเทนต์ OnlyFans ในต่างประเทศ ถูกไล่ออกจากงานประจำที่ทำ เพราะผู้จัดการจับได้ว่าเธอมีบัญชี OnlyFans รวมถึงในบางกรณีเจ้าของคอนเทนต์ OnlyFans ยังต้องกังวลกับคอนเทนต์ 18+ ของตัวเองที่มีคนจับภาพหน้าจอ แล้วนำไปปล่อยใน Social Network อื่นๆ ที่เป็นสังคมที่เปิดกว้างต่อคนทั่วไปมากกว่า ก็จะกลายเป็นการสร้างความกังวล และกลายเป็นต้นทุนบางอย่างที่ต้องพิจารณาเช่นเดียวกัน
แต่อย่างใดก็ตามก็ยังมีคนบางส่วนที่เมื่อพิจารณาถึงข้อดีข้อเสียของการสร้างคอนเทนต์บน OnlyFans แล้วยอมรับได้ถึงต้นทุนที่เกิดขึ้น อีกสิ่งหนึ่งที่ควรพิจารณาคือ ไม่ใช่ทุกๆ คนที่ทำ OnlyFans แล้วจะประสบความสำเร็จ เพราะอย่าลืมว่าคนที่เราเห็นกันว่าสร้างรายได้จาก OnlyFans ได้อย่างมหาศาล ล้วนแล้วแต่เป็นคนดัง มีชื่อเสียงใน Social Network อื่นๆ มาก่อนแล้ว คนเหล่านี้ไม่ได้เริ่มต้นสร้างฐานผู้ติดตามจากศูนย์ แต่มีต้นทุนเป็นจำนวนผู้ติดตามบนแพลตฟอร์มอื่นๆ สามารถใช้ต่อยอดในการสร้างรายได้บน OnlyFans ได้นั่นเอง
อ้างอิงข้อมูล – GQ, Yourstory, nytimes, Forbes, The American Conservative, The Music, The Startup
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา