CBRE บริษัทที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำ คาดการณ์ว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ในไทยปี 2564 มีการฟื้นตัวในระดับที่แตกต่างกัน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญความท้ายในปีนี้จากความผันผวนทางเศรษฐกิจหลังโควิดระบาดปี 2563 ที่ผ่านมา
ตลาดที่พักอาศัยจะมีการฟื้นตัวไม่เท่ากัน ตลาดคอนโดมิเนียมและตลาดบ้าน ตลาดอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์จะอยู่ในสภาวะที่แตกต่างกัน ตลาดโลจิสติกส์ขึ้นนำ ตลาดอาคารสำนักงานต้องรับมือกับซัพพลายใหม่จำนวนมาก ส่วนตลาดโรงแรมและพื้นที่ค้าปลีกจะฟื้นตัวช้ากว่า
ตลาดที่พักอาศัยโดยรวมในกรุงเทพฯ ยังชะลอตัวในปี 2564 และมีความเสี่ยงเนื่องจากโควิดระบาดรอบใหม่ ทำให้ผู้ซื้อชาวไทยและต่างชาติใช้เวลาในการตัดสินใจนานขึ้น การเปิดตัวโครงการใหม่มีไม่มากจะเป็นโครงการย่านรอบนอกใจกลางเมืองและชานเมือง ราคาที่ดินอยู่ในระดับที่พัฒนาได้และทำให้ราคาขายเริ่มสมเหตุสมผลมาากขึ้น
ปี 2564 ผู้พัฒนาโครงการยังให้ความสำคัญกับยูนิตที่แล้วเสร็จแต่ยังมีเหลือขายในมือ แต่ก็ยังมองหาทำเลใหม่ๆ พร้อมให้ความสำคัญกับสภาพคล่องทางการเงินด้วย ตลาดที่พักอาศัยแนวราบจะเป็นตลาดหลักสำหรับพัฒนาโครงการใหม่ๆ เนื่องจากต้องการลดความเสี่ยงและความต้องการซื้อคอนโดมิเนียมมีอยู่ แต่งบประมาณน้อยลง ผู้พัฒนาโครงการจึงเปลี่ยนไปพัฒนาโครงการขนาดเล็กเพื่อลดขนาดการลงทุนและทำให้ผ่านเกณฑ์อนุมัติเงินทุนจากธนาคารง่ายขึ้น
อลิวัสสา พัฒนถาบุตร กรรมการผู้จัดการ CBRE ประเทศไทย มองว่า ธุรกรรมซื้อขายที่ผ่าน CBRE ปี 2563 พบว่า ตลาดที่พักอาศัยระดับลักซ์ชัวรี่เป็นกลุ่มเฉพาะ ยังเป็นที่ต้องการอย่างมากจากลูกค้าที่อยู่อาศัยเองและกลุ่มนักลงทุน โดยเฉพาะที่พักอาศัยที่บริหารโดยเครือโรงแรมและบ้านหรูที่ต้องใช้ระยะเวลาในการตัดสินใจนานขึ้น ตลาดระดับซูเปอร์ลักซ์ชัวรี่มียอดขายมากขึ้นในปีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติที่สนใจลงทุนในไทยโดยเฉพาะชาวจีนยังให้ความสนใจในทุกระดับ แต่ยอดขายกลุ่มนี้จะกลับมาก็ต่อเมื่อสามารถเดินทางเข้าไทยได้
ตลาดอาคารสำนักงาน CBRE มองว่าหลายองค์กรกำลังคิดทบทวนเรื่องการออกแบบสถานที่ทำงานและการใช้พื้นที่ที่มีลักษณะการทำงานแบบไฮบริดมากขึ้น คือใช้พื้นที่สำนักงานรูปแบบเดิมผสมกับการทำงานระยะไกลแบบยืดหยุ่นมากขึ้น จำนวนซัพพลายใหม่ที่จะเพิ่มเข้าสู่ตลาด ปี 2564 คาดว่าจะแล้วเสร็จจำนวน 334,000 ตารางเมตร ทำให้พื้นที่สำนักงานในกรุงเทพฯ ขยับขึ้นไปที่ 9.49 ล้านตารางเมตร
ภายใต้สภาวะที่ไม่แน่นอน เจ้าของอาคารมีการเลื่อนกำหนดแล้วเสร็จของอาคารเพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขัน ค่าเช่าโดยรวมในตลาดจะทรงตัว ตลาดจะเปลี่ยนไปสู่การเป็นตลาดของผู้เช่าโดยเฉพาะผู้เช่ารายใหญ่ที่ใช้พื้นที่สำนักงานขนาดใหญ่
ตลาดพื้นที่ค้าปลีก ธุรกิจค้าปลีกไทยได้รับผลกระทบหนักจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ปี 2563 ยอดผู้ใช้บริการลดลงอย่างมากและความเชื่อมั่นผู้บริโภคก็ลดลงเช่นกัน มีการทบทวนแผนการลงทุนมากขึ้น มีการเสนอสัญญาเช่าที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ผู้ค้าปลีกจะลดขนาดและปรับรูปแบบพื้นที่เช่าเพื่อลดค่าใช้จ่ายและทำให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น
ธนาคารกำลังย้ายไปสู่แพลตฟอร์มออนไลน์และต้องการพื้นที่สาขาน้อยลง ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มจะให้ความสำคัญการบริการส่งอาหารมากขึ้น ร้านขายสินค้าแฟชั่นมีช่องทางจัดจำหน่ายหลากหลายขึ้น มีการเปลี่ยนสถานะจากเช่าแบบถาวรเป็นชั่วคราว และพัฒนาร้านค้าในขนาดเล็กลงเช่น ป๊อปอัปสโตร์ เพื่อรักษาผลกำไรในช่วงสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน
ตลาดโรงแรมและเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ในกรุงเทพฯ คือหนึ่งในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะนักท่องเที่ยวมาไทยลดลงจาก 40 ล้านคนในปี 62 เป็นต่ำกว่า 7 ล้านคนในปี 63 CBRE คาดว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจะคืนสู่ระดับเดียวกับปี 62 ได้ในปี 65 ขึ้นอยู่กับความสำเร็จของวัคซีนและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศนักท่องเที่ยว จีน รัสเซีย ญี่ปุ่นและอินเดีย
เจ้าของโรงแรมจะหันไปมุ่งเน้นที่ตลาดท่องเที่ยวในประเทศ อาศัยรายได้จากนักท่องเที่ยวในประเทศอย่างเดียว ต้องหาหนทางใหม่ๆ เช่นการทำแพคเกจการทำงานจากโรงแรม เช่น Work from Hotel หรือ Staycation
ตลาดพื้นที่อุตสาหกรรมและโลจิสติกส์เป็นหนึ่งในตลาดที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดจากการแพร่ระบาดที่กระตุ้นให้ผู้บริโภคปรับตัวเข้าสู่อีคอมเมิร์ซมากขึ้น ซัพพลายเชนจากผู้ผลิตในจีนหลายรายพิจารณาย้ายฐานการผลิตมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า นักลงทุนเริ่มสนใจซื้อโรงงานมากกว่าเช่าโรงงานมากขึ้นเรื่อยๆ
โควิดเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตลาดอสังหาริมทรัพย์ เป็นตลาดของผู้เช่าและผู้ซื้อมากขึ้น ผู้เช่ามีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น อสังหาริมทรัพย์จะถูกนำออกมาขายมากขึ้นเป็นโอกาสดีที่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ต้องการถือเงินสด ขณะเดียวกันนักลงทุนก็กำลังมองหาอสังหาริมทรัพย์ที่ยอมลดราคา
ที่มา – CBRE
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา